“ทำนาเปียกสลับแห้ง” ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ได้คาร์บอนเครดิตเพิ่มรายได้

เมื่อพูดถึง “คาร์บอนเครดิต” อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายคน แต่ในความจริงแล้วมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับนานาชาติ คาร์บอนเครดิตจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการลดโลกร้อน

ทั้งนี้ “ก๊าซเรือนกระจก” นั้นไม่ได้มาจากภาคอุตสาหกรรม หรือขนส่งมวลชนเท่านั้น แต่ในกิจกรรมภาคการเกษตรอย่าง “การทำนาข้าว” ก็มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

คุณพรพรรณ ยานะโส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา จะมาอธิบายให้ฟังว่า การทำนานั้นเกี่ยวกับโลกร้อนได้อย่างไร? และรู้หรือไม่ว่า แค่เปลี่ยนวิธีการทำนาก็ช่วยลดโลกร้อนได้  ทั้งยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการทำนาให้ดีขึ้นอีกด้วย

“คาร์บอนเครดิต” คืออะไร?
เกี่ยวข้องกับ “การทำนา” อย่างไร?

คุณพรพรรณ อธิบายในทางหลักการว่า “คาร์บอนเครดิต” หมายถึง สิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคล-องค์กรสามารถลดหรือกักเก็บการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยสิทธินี้สามารถวัดปริมาณและนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งชนิดของก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่เกิดจากการทำนาข้าวนั้น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซไนตรัสออกไซด์ (NO2)

การปลูกข้าวแบบวิถีดั้งเดิมนั้นเกษตรกรมีความเคยชินในการรักษาระดับน้ำให้ขังอยู่ในแปลงนาตลอดฤดูปลูก สภาพที่ดินมีน้ำขังนี้จะทำให้จุลินทรีย์ในดินทำการย่อยสลายอินทรียวัตถุในสภาพไร้ออกซิเจน และปลดปล่อย “ก๊าซมีเทน” ออกมาในที่สุด

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ออกกฎหมายและนโยบายเพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมถึงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อกดดันให้ประเทศอื่นๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ในสหภาพยุโรป หากในอนาคตมีการยกระดับมาตรการเหล่านี้ หรือมีประเทศอื่นใช้มาตรการในลักษณะเดียวกัน จะมีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของประเทศไทยในภาพรวมแน่นอน ซึ่งหากเกษตรกรมีความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องนี้ก็จะสามารถรับมือได้ทัน

ทำนาแบบ “เปียกสลับแห้ง”
ลดโลกร้อน ลดต้นทุน มีแต่ได้กับได้

การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการบริหารจัดการการเข้าออกของน้ำในแปลง ให้มีทั้งช่วงที่ “แปลงเปียก” สลับกับช่วงที่ “แปลงแห้ง” แทนการทำนาในรูปแบบเดิมที่มีการขังน้ำในนาตลอดเวลา โดยมีขั้นตอนการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ดังนี้

Advertisement

1. การเตรียมดิน ปรับพื้นที่นาให้มีความสม่ำเสมอ

ขั้นตอนนี้เป็นหัวใจสำคัญของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หากเกษตรกรทำการปรับระดับพื้นที่ดินนาให้มีความราบเรียบสม่ำเสมอดี จะทำให้การจัดการน้ำในแปลงนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปัจจุบันกรมการข้าวมีคำแนะนำเทคโนโลยีการปรับพื้นที่นาด้วยเลเซอร์ซึ่งจะช่วยในการปรับระดับพื้นที่นาให้ได้ระดับสม่ำเสมอ ทำให้ช่วยลดค่าสูบน้ำเข้าแปลง ลดปัญหาวัชพืช รวมทั้งช่วยลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีได้อีกด้วย

Advertisement

2. ข้าวอยู่ในระยะกล้าถึงระยะแตกกอ

เมื่อเกษตรกรปลูกข้าวแล้ว (โดยวิธีปักดำ หว่าน หรือหยอด) ในช่วงแรกให้ทำการเอาน้ำเข้าแปลงและรักษาระดับน้ำให้สูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อให้ข้าวเจริญเติบโตในช่วงแรก หลังจากนั้นเมื่อข้าวอายุ 20-25 วันให้ทำการใส่ปุ๋ยรองพื้นหรือใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 หลังจากหว่านปุ๋ยแล้วเกษตรกรสามารถเริ่มการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งได้ โดยปล่อยให้น้ำในนาแห้งไปตามธรรมชาติจนถึงระดับที่น้ำลดลงถึง 15 เซนติเมตรจากผิวดิน (ช่วงแปลงแห้ง) จากนั้นจึงปล่อยน้ำเข้ากลับเข้าไปในแปลงนาจนถึงระดับที่น้ำสูง 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน (ช่วงแปลงเปียก) จากนั้นปล่อยน้ำให้แห้งไปตามธรรมชาติอีกจนถึงระดับที่กำหนดแล้วจึงใส่น้ำกลับเข้าแปลง ทำสลับกันไปแบบนี้จนถึงช่วงเวลาของการใส่ปุ๋ยแต่งหน้าหรือใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นระยะข้าวกำเนิดช่อดอก

3. ข้าวอยู่ในระยะกำเนิดช่อดอก

การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 นี้ ให้เกษตรกรปล่อยน้ำเข้าแปลงนาให้อยู่ที่ระดับ 5 เซนติเมตร เหนือผิวดินก่อนใส่ปุ๋ยประมาณ 2 วัน จากนั้นให้รักษาระดับน้ำไว้ไม่ปล่อยให้แปลงแห้ง เนื่องจากในระยะนี้ข้าวกำลังเข้าสู่ระยะตั้งท้องและออกรวงหากข้าวขาดน้ำในระยะนี้จะทำให้ผลผลิตเสียหายได้ ทั้งนี้ ให้รักษาระดับน้ำในแปลงที่ 5-10 เซนติเมตร ไปจนถึงช่วงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต

4. ข้าวอยู่ในระยะสุกแก่

ที่ก่อนเก็บเกี่ยวข้าว 10 วัน ให้เกษตรกรลดระดับน้ำในแปลงให้แห้งเพื่อเตรียมให้ข้าวสุกแก่สม่ำเสมอและ ลดความชื้นในแปลง ซึ่งจะช่วยให้การเก็บเกี่ยวสะดวกยิ่งขึ้น

วิธีการสังเกตระดับน้ำในแปลงนาเพื่อการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งนั้น เกษตรกรสามารถใช้ท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ความสูง  25 เซนติเมตร เจาะรูรอบๆ ท่อ แต่ละรูห่างกันประมาณ 5 เซนติเมตร จากนั้นให้ฝังท่อลงในดินโดยให้ปลายท่อโผล่พ้นผิวดิน 5 เซนติเมตร เมื่อฝังท่อแล้วให้ขุดดินภายในท่อออกให้หมด และคอยสังเกตปริมาณน้ำในแปลงผ่านท่อดูน้ำนี้ หากระดับน้ำลดลงถึงระดับ 15 เซนติเมตรจากผิวดินให้เกษตรกรทำการปล่อยน้ำเข้าแปลงนา

ข้อดีของการทำนาแบบเปียกสลับแห้งนี้ไม่ได้มีเฉพาะลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ยังส่งผลดีเรื่องการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอีกหลายประการ ซึ่งประการแรกที่เห็นได้ชัดคือ ช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 30-50 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ เวลาที่เราปล่อยให้น้ำในแปลงแห้งจนหน้าดินเริ่มแตกระแหง รากข้าวในดินจะได้รับออกซิเจนในอากาศมากขึ้น เป็นการช่วยกระตุ้นให้รากข้าวแข็งแรง สามารถดูดธาตุอาหารในดินได้ดีขึ้น ทำให้ลดการใช้ปุ๋ย เมื่อต้นข้าวแข็งแรงก็ลดการระบาดของโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมี เป็นการลดต้นทุนการผลิตไปด้วย โดยข้อมูลเหล่านี้เกิดจากการศึกษาวิจัยที่ทาง “กรมการข้าว” ดำเนินการในประเทศ และร่วมศึกษากับต่างประเทศมาตลอด จนได้ข้อสรุปมฤฉาเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งมีการเปิดให้เกษตรกรที่สนใจลงทะเบียนผ่าน “โครงการสร้างการรับรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สำหรับการขายคาร์บอนเครดิตในนาข้าว” เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องคาร์บอนเครดิตอย่างถูกต้อง พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง และการเตรียมความพร้อมสำหรับการขายคาร์บอนเครดิตในนาข้าวเพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อไป