วิมานหนามสั่นสะเทือน? เมื่อเวียดนาม-มาเลเซียเร่งเครื่อง ท้าชิงบัลลังก์ทุเรียนไทย

ตลาดทุเรียนโลกในปัจจุบันนับว่าเป็นสมรภูมิที่ร้อนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของทุเรียนทั่วโลก ซึ่งทุเรียนไทยแม้จะมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาดมานาน แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซีย ซึ่งต่างก็พยายามขยายฐานการผลิตและส่งออกทุเรียน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของทุเรียนไทย

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดทุเรียนไทย

เผชิญความท้าทาย ในการแข่งขันตลาด

การแข่งขันด้านราคาโดยประเทศคู่แข่งมักเสนอราคาที่ต่ำกว่า เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่อาจต่ำกว่าหรือมีนโยบายส่งเสริมการส่งออก ทำให้ทุเรียนไทยต้องปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจได้รายงานว่า ช่วงปิดฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออก ด้วยยอดส่งออกสะสม 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2567 มีผลผลิตปริมาณ 595,681.88 ตัน มูลค่าอยู่ที่ 79,327.93 ล้านบาท ด้วยราคาที่พุ่งแรงตลอดฤดูกาล เพราะมีล้งกว่า 1,500 รายมาแย่งกันซื้อ แม้ท้ายฤดูกาลยังขายได้ราคา 170-190 บาทต่อกิโลกรัม

แต่เมื่อถึงฤดูกาลทุเรียนใต้ในช่วงครึ่งปีหลัง ราคากลับดิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 140-150 บาทต่อกิโลกรัม แถมยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้ง ทุเรียนออกชนกับฤดูกาลทุเรียนเวียดนาม และตรงกับฤดูร้อนของเมืองจีน อาจทำให้มีปัญหาเรื่องราคาต่อเนื่องลงเรื่อยๆ

Advertisement

คุณภาพและมาตรฐาน ประเทศคู่แข่ง

พัฒนาและควบคุมผลผลิตอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

เมื่อไม่นานมานี้สื่อเวียดนามอ้างอิงคำกล่าวของ เล มินห์ ฮวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม ระบุว่า เวียดนามควรผลักดันให้ทุเรียนขึ้นแท่นเป็นผลิตภัณฑ์ประจำชาติ ด้วยการกำหนดมาตรฐานคุณภาพและสร้างแบรนด์เพื่อแข่งขันกับผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น ไทย และมาเลเซีย

เล มินห์ ฮวน เผยว่า การผลักดันให้ทุเรียนเป็นผลิตภัณฑ์ประจำชาตินั้นจำเป็นต้องอาศัยนโยบายการเกษตรที่ครอบคลุมและต้องมีการให้ความรู้แก่เกษตรกรและภาคธุรกิจ สิ่งนี้มีความสำคัญเนื่องจากปัจจุบันเวียดนามตามหลังไทยและมาเลเซียในการส่งออกผลไม้ไปยังจีน ขณะที่การผลิตในเวียดนามยังกระจัดกระจายและมีขนาดเล็ก

สินค้าแต่ละชนิดจะต้องผ่านเกณฑ์หลายประการเพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นผลิตภัณฑ์ประจำชาติ เช่น ขนาดการผลิต ขีดความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และศักยภาพในการครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา 

ทั้งนี้ เวียดนามทำรายได้จากการส่งออกทุเรียนอยู่ที่ราว 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.84 หมื่นล้านบาท) ระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม โดยจีนเป็นผู้นำเข้าทุเรียนเวียดนามรายใหญ่ที่สุด

ในขณะเดียวกันมาเลเซียเริ่มส่งออก “ทุเรียนสด” สู่จีน ล็อตแรก 40 ตัน โดย อาร์เธอร์ โจเซฟ กูรัป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของมาเลเซีย เปิดเผยว่า มาเลเซียได้เริ่มต้นส่งออกทุเรียนสดสู่จีนแล้ว โดยมีกำหนดจัดส่งทุเรียนสด จำนวน 40 ตัน แบบแบ่ง 3 ระยะ ตั้งแต่วันเสาร์ (24 สิงหาคม) เป็นต้นมา

กูรัป ซึ่งร่วมพิธีส่งออกทุเรียนสดสู่จีนที่คลังสินค้าของท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า การจัดส่งทุเรียนสดชุดแรกอยู่ที่ 15 ตัน ชุดสองอยู่ที่ 10 ตัน ซึ่งจะจัดส่งวันอาทิตย์ (25 สิงหาคม) และจำนวนที่เหลือเป็นชุดสาม

ด้าน แอนโทนี ลก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของมาเลเซีย กล่าวว่า ทุเรียนสดถูกขนส่งผ่านเที่ยวบินสินค้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติเจิ้งโจว ซินเจิ้ง ในเมืองเจิ้งโจวของมณฑลเหอหนาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าแห่งสำคัญของจีน เมื่อทุเรียนสดถูกขนส่งถึงท่าอากาศยานนานาชาติเจิ้งโจว ซินเจิ้ง เครือข่ายโลจิสติกส์รอบด้านที่ครอบคลุมรถไฟ รถบรรทุก และวิธีการขนส่งอื่นๆ จะจัดส่งทุเรียนสดไปทั่วจีนภายใน 24 ชั่วโมง เข้าถึงเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นตลาดหลักของทุเรียนมาเลเซีย

ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่ประเทศคู่แข่งส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น

ตามข้อมูลหน่วยงานศุลกากรของจีนเปิดเผยว่า ไตรมาส 2/2024 จีนนำเข้าทุเรียนจากไทยมีมูลค่าเกือบ 2.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 91,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 75 เปอร์เซ็นต์ของทุเรียนที่จีนนำเข้าทั้งหมด ซึ่งนับว่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากตัวเลข 42.5 เปอร์เซ็นต์ จากในไตรมาส 1/2024 และเพิ่มขึ้น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 85,000 ล้านบาทเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ในขณะเดียวกัน สัดส่วนการนำเข้าทุเรียนไทยของจีนทั้งปี 2023 อยู่ที่ 68 เปอร์เซ็นต์

ส่วนในการนำเข้าทุเรียนที่เหลือทั้งหมดในไตรมาสที่สอง มาจากคู่แข่งหลักของไทยอย่างเวียดนาม ซึ่งในจีนทุเรียนเวียดนามบางครั้งขายได้น้อยกว่าทุเรียนไทย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต้นทุนจากการใช้เส้นทางขนส่งชายแดนทางบก อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ตัดแหล่งส่งออกทุเรียนของเวียดนาม 33 แห่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาคุณภาพ

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของการส่งออกทุเรียนสดของเวียดนามตั้งแต่ปี 2022 ซึ่งก่อนหน้านั้นไทยมีการผูกขาดในทางปฏิบัติ อาจกระตุ้นให้ผู้ปลูกของเวียดนามพยายามส่งออกทุเรียนในปริมาณมากโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ

ข้อมูลการค้าสำหรับเดือนกรกฎาคมเผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (20 สิงหาคม 2567) ระบุว่า ในเดือนกรกฎาคมจีนนำเข้าทุเรียนสดจากไทยมูลค่า 363 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 12,000 ล้านบาท และนำเข้าจากเวียดนาม 270 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 9,200 ล้านบาท และในช่วง 4 เดือนซึ่งสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม (เดือนเมษายน-กรกฎาคม) ไทยส่งทุเรียน 609 ล้านกิโลกรัม หรือราว 671,000 ตัน เมื่อเทียบกับเวียดนามที่ส่งออกทุเรียน 296 ล้านกิโลกรัม หรือราว 320,000 ตัน 

สร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ 

นอกเหนือจากจีน ลดความเสี่ยงการพึ่งพาตลาดเดียว

ทั้งนี้ ได้มี 2 นักธุรกิจผู้คร่ำหวอดในแวดวงทุเรียน คนหนึ่งเป็นหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ดีกรี “วิศวกร” จากรั้วจามจุรี “คุณเฟ่ย” ณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกทุเรียนและผลไม้หลายชนิด หรือเจ้าของ “ล้งตอง 888”  กับอีกหนึ่งหนุ่มใหญ่ไฟแรง ดีกรี “วิศวกร” จากรั้ว ม.เกษตรฯ บางเขน “คุณแก้ว” ภานุศักดิ์ สายพานิช อดีตนายกสมาคมทุเรียนไทย เจ้าของสวน “รักตะวัน” จังหวัดจันทบุรี 

ทั้ง 2 ท่านได้เล่าถึงความห่วงใยในวงการทุเรียนเมืองไทยในหลากหลายมุมที่น่ากังวล และบอกทำนองเดียวกันว่า “ปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับทุเรียนไทย” ทั้งการแข่งขันที่รุนแรง และสภาพอากาศที่แปรปรวน ร้อน แล้งจัด จะกระทบปริมาณผลผลิต

ขณะที่วันนี้ไทยไม่ใช่ผู้ส่งออกทุเรียนเข้าไปตลาดจีนเพียงรายเดียวแล้ว แต่มี “เวียดนาม” หายใจรดต้นคอมาติดๆ เพียงปีเดียวเวียดนามแย่งส่วนแบ่งทุเรียนไทยในตลาดจีนไปแล้วถึง 34.5%  ซึ่งความได้เปรียบของทุเรียนเวียดนาม สามารถตัดผลแก่และขนส่งเข้าไปขายในจีนได้ทันที เพราะชายแดนติดกับประเทศจีน ขณะที่ทุเรียนไทยต้องเสียเวลาเดินทางที่ไกลกว่า ต้นทุนที่สูงกว่า

ขณะที่มีนักธุรกิจจีนหน้าใหม่แห่กันเข้ามาเปิด “ล้ง” นับพันราย! ในภาคตะวันออก ฤดูกาลนี้ พร้อมกับมีนักธุรกิจไทยหลากหลายวงการแห่กันเข้ามาปลูก และส่งออกทุเรียน ส่งผลยากลำบากต่อการควบคุมคุณภาพในการส่งออกทุเรียน ซึ่งรูปธรรมปรากฏให้เห็นแล้วในช่วงต้นฤดูปี 2567

มี “ทุเรียนด้อยคุณภาพ” “ทุเรียนอ่อน” หลุดไปยังตลาดปลายทางจีน ส่งผลให้พ่อค้าปลายทางขายไม่ออก ต้องชะลอการรับซื้อ ดังนั้น ทั้ง 2 ท่านจึงเน้นย้ำว่า “สิ่งที่ไทยจะสู้คู่แข่งได้ คือ 

การรักษาคุณภาพ” ! ซึ่งภาครัฐต้องมีมาตรการในการควบคุมดูแลการส่งออกให้เป็นมาตรฐาน

ขณะเดียวกันบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 ฝ่าย ต้องช่วยกัน ตั้งแต่ 1. เกษตรกรเจ้าของสวน 2. มือตัด 3. คนคัดหน้าล้ง และ 4. ผู้ประกอบการล้ง หากคนใดคนหนึ่งทั้ง 4 ฝ่ายช่วยกันดูแล ไม่ปล่อยให้ทุเรียนอ่อนหลุดออกไป ทุเรียนอ่อนจะหลุดออกไปไม่ได้ สำนึกรับผิดชอบต่อภาพลักษณ์ทุเรียนไทย ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพราะหากมีทุเรียนด้อยคุณภาพหลุดออกไป 

ปัจจุบันคนจีนไม่ได้ดูเฉพาะแบรนด์สินค้าแล้วว่า แบรนด์นี้อร่อย แบรนด์นี้ไม่อร่อยแล้ว แต่จะดูประเทศที่นำเข้าทุเรียนเลย เช่น ถ้าเคยได้กินทุเรียนอ่อนของไทยแล้ว ไม่อร่อย จะหันไปกินทุเรียนเวียดนามที่ตัดผลแก่ไปขายแทน จากปากต่อปาก หรือออกโซเชียล จะกระทบมาที่ทุเรียนไทยมูลค่ากว่าแสนล้านบาท เพราะฉะนั้นการแข่งขันในตลาดทุเรียนโลกมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุเรียนไทยต้องปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำและสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมทุเรียนไทยต่อไป