เผยแพร่ |
---|
ปัญหาแมลงศัตรูพืชเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักๆ เมื่อปลูกพืชไม่ว่าจะเป็นไม้ประดับหรือพืชเศรษฐกิจถือเป็นสิ่งที่ต้องเจอเสมอ ปัจจุบันเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจปลูกพืชจะเน้นการป้องกันแบบธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สารชีวภัณฑ์หรือจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เพราะนอกจากจะไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์แล้ว ยังเป็นการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
จุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืชอย่าง เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Metarhizium anisopliae (Metsch) Sorok เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่พบในดิน หากมองด้วยตาเปล่าจะสังเกตได้ยาก ซึ่งจุลินทรีย์ชนิดนี้สามารถทำให้เกิดโรคได้ในแมลงหลายชนิด อย่างเช่น หนอนผีเสื้อ หนอนด้วง ตั๊กแตน และเพลี้ยต่างๆ และยังสามารถกำจัดแมลงในดินได้อีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มหนอนด้วงแรด (rhinoceros beetle) ที่อยู่ในระยะตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ซึ่งเชื้อราเมตาไรเซียมสามารถทำลายได้ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็ววัย นอกจากนี้ ยังเป็นเชื้อราที่ไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง
กลไกลการทำงานของเชื้อราเมตาไรเซียมจะควบคุมแมลงศัตรูพืชได้อย่างไรนั้น สามารถอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ดังนี้ เมื่อสปอร์ของเชื้อราเมตาไรเซียมสัมผัสโดนตัวแมลงในพื้นที่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และต้องมีความชื้นสูงพอสมควรจะช่วยให้เกิดการงอกเข้าไปในตัวของแมลง
หลังจากเชื้อราเมตาไรเซียมเข้าไปเจริญในตัวของแมลงแล้ว ในระยะแรกจะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลบนผนังลำตัว และต่อมาจะเริ่มเกิดเป็นเส้นใยสีขาวบนลำตัวของแมลงที่ได้สัมผัสกับเชื้อราเมตาไรเซียม อีกไม่นานจะพบสปอร์ลักษณะคล้ายๆ ฝุ่นสีเขียวคล้ำปกคลุมทั่วตัวของแมลง หากได้นำมือไปบีบแมลงที่ตายจะพบว่าลำตัวของแมลงจะมีลักษณะแข็ง
หรืออวัยวะภายในของแมลงที่ได้สัมผัสเมตาไรเซียมจะค่อยๆ ได้รับความเสียหายไปด้วยเช่นกัน เส้นใยจะเจริญเติบโตและแพร่กระจายจนเต็มตัวเหยื่อที่เข้าไปอาศัย และแมลงศัตรูพืชเปล่านั้นจะค่อยๆ ตายมีลักษณะตัวแห้งและแข็ง เรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “มัมมี่” เพราะเส้นใยเชื้อราจะเข้าไปเจริญอัดแน่นอยู่ภายในลำตัว เมื่อผ่านไปได้อีกระยะหนึ่งเชื้อราจะแทงทะลุผ่านผนังลำตัว พร้อมทั้งแพร่กระจายพันธุ์ภายนอกในช่วงแรก พร้อมทั้งสร้างเส้นใยสีขาวขึ้นปกลุมลำตัว และสร้างสปอร์สีเขียวในเวลาต่อมา
การผลิตขยายเชื้อราเมตาไรเซียมหรือราเขียว
ทำได้ไม่ยาก ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้
ในส่วนของขั้นตอนการผลิตเชื้อราเมตาไรเซียมถือว่ามีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เกษตรกรทั่วไปหรือท่านใดที่สนใจอยากจะประหยัดต้นทุน และต้องการใช้จุลินทรีย์ชนิดนี้ช่วยในการควบคุมแมลงศัตรูพืชสามารถทำได้ง่ายๆ คือ
1. แช่ข้าวสารในน้ำ 30-40 นาที พร้อมทั้งล้างข้าวสารให้สะอาด
2. ผึ่งข้าวสารที่ล้างน้ำแล้วให้สะเด็ดน้ำเล็กน้อย
3. จากนั้นตักข้าวใส่ถุงพลาสติกประมาณถุงละ 200 กรัม หรือประมาณ (2-3 ทัพพีต่อถุง)
4. ใส่คอขวดปิดทับด้วยสำลี ปิดทับด้วยกระดาษ พร้อมกับนำไปนึ่งในซึ้งประมาณ 40 นาที และทิ้งไว้ให้อุ่น
5. หยดหัวเชื้อลงไปประมาณ 5-7 หยด พร้อมกับใส่สำลี ปิดทับด้วยกระดาษ
6. วางถุงเชื้อในลักษณะแนบราบไม่ซ้อนทับประมาณ 10-14 วัน เพื่อให้เชื้อเจริญเติบโตได้เต็มที่ และจะได้เชื้อสดของเชื้อราเมตาไรเซียม
7. ทำการเก็บรักษาควรวางไว้ในที่ร่มและอากาศถ่ายเทดี
การใช้เชื้อราเมตาไรเซียมอย่างถูกวิธี
เพื่อประโยชน์สูงสุด ในการควบคุมแมลง
เชื้อราเมตาไรเซียมถือเป็นสิ่งมีชีวิต เพราะฉะนั้นการใช้งานถือว่ามีความสำคัญมาก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการกำจัดหรือควบคุมแมลงศัตรูพืช สามารถใช้ด้วยกัน 2 วิธี คือ
1. การผสมน้ำฉีดพ่น โดยใช้เชื้อราเมตาไรเซียม (เชื้อสด) ในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จากนั้นผสมและขัดวัสดุเลี้ยงเชื้อให้สปอร์ที่ติดอยู่ละลายกับน้ำ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง พร้อมทั้งใส่สารจับใบหรือน้ำยาล้างจานก่อนที่จะทำการฉีดพ่น เพื่อให้การฉีดพ่นมีประสิทธิภาพและถูกสัมผัสกับตัวแมลงมากที่สุด เวลาที่เหมาะสมในการฉีดพ่นควรเป็นเวลาช่วงตอนเย็น โดยฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ให้ระยะเวลาห่างกันคราวละ 5-7 วัน
2. การทำกองล่อ โดยใช้ท่อนไม้ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 2 เมตร ทำขอบด้วยการวางท่อนไม้ให้เป็นรูปสีเหลี่ยม จากนั้นขุดภายในกองให้ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร และใส่เศษซากพืชเศษอินทรียวัตถุต่างๆ และปุ๋ยคอกให้เต็ม พร้อมทั้งรดน้ำเพิ่มความชื้นในกองล่อ เพื่อให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี จากนั้นประมาณ 2-3 เดือน จะเริ่มพบด้วงวางไข่และเจริญเติบโตเป็นตัวหนอน จากนั้นให้ใช้เชื้อราเมตาไรเซียม 1-2 กิโลกรัม ผสมน้ำราดให้ทั่วกองล่อ
ข้อควรระวัง !!!
การใช้เชื้อราเมตาไรเซียม
สำหรับการผลิตเชื้อราเมตาไรเซียมนั้น ในเรื่องของความสะอาดต้องให้ความสำคัญเป็นหลัก โดยต้องแยกสถานที่ผลิตเชื้อราแต่ละชนิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือหลีกเลี่ยงการปนเปื้อน
นอกจากนี้ ไม่ควรนำก้อนเชื้อราเมตาไรเซียมไปขยายต่อ อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนและประสิทธิภาพของสปอร์จะมีปริมาณที่ลดลงไปด้วย และหากพบลักษณะการปนเปื้อนในถุงข้าว เช่น มีความเเฉะ เหม็น หรือเห็นจุดสีอื่นๆ นอกจากสีเขียวและขาว ต้องทำการแยกออกจากชั้นวางและทำลายโดยเผาทิ้งทันที
อย่างไรก็ตาม เชื้อราเมตาไรเซียมจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืช ซึ่งการใช้ให้เกิดประโยชน์ควรใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมและมีความต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และยังสามารถประหยัดต้นทุนจากการใช้สารเคมีและที่สำคัญช่วยให้เกษตรกรหรือผู้ปลูกพืชมีความปลอดภัย และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)