ระบบน้ำหยด เคล็ดลับประหยัดน้ำ เพิ่มผลผลิต ที่เกษตรกรต้องรู้!

ปัจจุบัน เกษตรกรหลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบน้ำหยดในการให้น้ำแก่พืช ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเกษตรรูปแบบใหม่ที่ช่วยจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การให้น้ำแบบนี้ช่วยให้พืชได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต

ระบบน้ำหยด
ระบบน้ำหยด

หลักการทำงานของ “ระบบน้ำหยด” 

ระบบน้ำหยด สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกพืช , ปลูกผัก , ทำไร่ , ทำสวน ซึ่งสามารถนำระบบน้ำหยดมาใช้สำหรับควบคุมปริมาณน้ำในการปลูกพืช เพื่อรักษาระดับความชื้นในดิน

หลักการทำงานของระบบสายน้ำหยด คือ การส่งน้ำไปยังต้นพืชอย่างสม่ำเสมอผ่านท่อและหัวน้ำหยดที่ติดตั้งไว้บริเวณโคนต้น โดยน้ำจะถูกปล่อยออกมาเป็นหยดเล็ก ๆ อย่างช้า ๆ ตามจังหวะเวลาที่ตั้งไว้ ซึ่งช่วยให้พืชได้รับน้ำในปริมาณที่เหมาะสมตลอดเวลา ลดการสูญเสียน้ำจากการระเหยหรือการซึมลงดินลึกเกินไป

ระบบน้ำหยด เหมาะกับการทำเกษตรหลายประเภท โดยเฉพาะการเกษตรที่ต้องการการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ระบบนี้ให้ความแม่นยำในการส่งน้ำถึงรากพืช ทำให้เหมาะกับการเกษตรดังนี้

  1. เกษตรแบบพืชสวน
    เหมาะกับการปลูกผัก ผลไม้ และไม้ดอกไม้ประดับ เพราะระบบน้ำหยดช่วยส่งน้ำให้พืชแบบเฉพาะจุด ทำให้พืชได้รับน้ำสม่ำเสมอและลดการเกิดโรคจากความชื้นมากเกินไป
  2. เกษตรแบบไร่
    เหมาะสำหรับพืชที่ปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง หรือพืชพลังงานที่ต้องการน้ำเป็นระยะ โดยการให้น้ำจะเข้าถึงเฉพาะราก ลดการระเหยของน้ำและการชะล้างดิน
  3. เกษตรแบบพืชเศรษฐกิจ
    เหมาะสำหรับพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น ทุเรียน มะม่วง องุ่น กาแฟ ที่ต้องการการดูแลอย่างละเอียด การให้น้ำแบบหยดช่วยให้พืชเหล่านี้ได้รับน้ำในปริมาณเหมาะสมและสม่ำเสมอ
  4. เกษตรในโรงเรือนหรือการปลูกพืชในพื้นที่แห้งแล้ง
    ระบบน้ำหยดเหมาะกับการปลูกพืชในสภาพอากาศที่มีน้ำน้อย เช่น การเกษตรในพื้นที่ทะเลทราย หรือการทำเกษตรในโรงเรือนที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำอย่างแม่นยำ
  5. เกษตรอินทรีย์
    ระบบน้ำหยดช่วยลดการใช้น้ำปริมาณมากและลดความชื้นส่วนเกินที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคและเชื้อรา ทำให้เหมาะกับการเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

อุกปรณ์ “ระบบน้ำหยด” หลักๆ จะมีอุปกรณ์ดังนี้

  1. เครื่องสูบน้ำ หรือถังน้ำ ใช้สำหรับส่งน้ำให้กับระบบน้ำหยดและสร้างแรงดันน้ำที่เหมาะสม
  2. หัวน้ำหยด ใช้สำหรับจ่ายน้ำและควบคุมอัตราการจ่ายน้ำ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ หัวน้ำหยดชนิดไม่ชดเชยแรงดัน ซึ่งสามารถปรับอัตราการจ่ายน้ำได้ และหัวน้ำหยดชนิดชดเชยแรงดัน ทำให้จ่ายน้ำได้สม่ำเสมอ
  3. เครื่องกรองน้ำ  ใช้ในการกรองตะกอนในน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้หัวน้ำหยดและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของระบบน้ำหยดเกิดการอุดตัน ตัวอย่างเครื่องกรองน้ำสำหรับระบบน้ำหยด เช่น เครื่องกรองน้ำแบบตะแกรง เครื่องกรองนํ้าแบบทรายกรอง หรือเครื่องกรองน้ำแบบแผ่นดิสก์
  4. ท่อประธานหรือท่อเมน เป็นท่อหลักที่ใช้ในการส่งน้ำไปยังท่อรองประธาน (Sub Line) และท่อแขนง (Lateral) ของระบบน้ำหยด
  5. ท่อรองประธาน เป็นท่อส่งน้ำที่ต่อแยกออกมาจากท่อประธาน มีหน้าที่รับน้ำจากท่อประธานแล้วแบ่งน้ำออกเป็นส่วน ๆ เพื่อส่งต่อไปยังท่อแขนง
  6. อุปกรณ์คุมแรงดันน้ำ ใช้สำหรับควบคุมแรงดันน้ำภายในท่อแขนงให้คงที่ เพื่อให้น้ำออกจากหัวน้ำหยดทั้งทางต้นท่อและปลายท่อได้อย่างสม่ำเสมอ

ข้อดีของระบบน้ำหยด

Advertisement
  • ประหยัดน้ำ เนื่องจากน้ำถูกใช้ในปริมาณที่เหมาะสมโดยตรงกับต้นพืช
  • ลดต้นทุนการผลิต เพราะใช้น้ำน้อยกว่าระบบการให้น้ำแบบทั่วไป
  • ส่งเสริมผลผลิต เพราะพืชได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ
  • ลดการเกิดวัชพืช เพราะน้ำจะไปเฉพาะที่รากพืช ไม่แพร่กระจายไปทั่วพื้นที่

ราคาของระบบน้ำหยดเริ่มต้นที่ประมาณ 1,500-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และวัสดุที่ใช้ หากเป็นชุดระบบน้ำหยดขนาดเล็กที่ออกแบบสำหรับพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ ราคาจะเริ่มต้นที่ประมาณนี้ ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ไม่สูงมาก และยังสามารถปรับแต่งตามความต้องการของพื้นที่ได้