ที่มา | เก็บมาเล่า |
---|---|
ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
เผยแพร่ |
หมู่บ้านตาล ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพปริศนาสุดแปลกคือ การทำตุ๊กแกตากแห้ง ปลิงตากแห้ง และไส้เดือนตากแห้ง สร้างแรงดึงดูดให้คนไทยและต่างชาติเข้ามาศึกษาชมงานไม่ขาดสาย
หลังว่างเว้นจากฤดูการทำนา ทำไร่ ชาวบ้านในหมู่บ้านตาลจะหันมาทำตุ๊กแกตากแห้ง ปลิงตากแห้ง และไส้เดือนตากแห้งเป็นรายได้เสริม จุดเริ่มต้นของอาชีพแปลกเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ตอนแรกมีคนริเริ่มทำอาชีพนี้เพียงไม่กี่คน หลังชาวบ้านเห็นว่าอาชีพนี้สร้างรายได้ดี จึงหันมาทำอาชีพนี้เป็นรายได้เสริมกันอย่างแพร่หลาย
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ชาวบ้านจะจับปลิงมาตากแห้ง ฤดูหนาว จะทำไส้เดือนตากแห้ง โดยรับซื้อไส้เดือน 2 ชนิด คือ ไส้เดือนตัวสีแดง ลำตัวหนา และไส้เดือนลำตัวสีเขียว ตัวบางกว่าสีแดงในราคากิโลกรัมละ 28 บาท โดยไส้เดือนสด 100 กิโลกรัม เมื่อนำมาตากแห้งจะมีน้ำหนักเพียง 8-9 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 500 บาท
ช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายนของทุกปี เป็นฤดูการทำตุ๊กแกตากแห้ง ปัจจุบันชาวอำเภอนาหว้า กว่า 30 ครัวเรือน ผลิต “ตุ๊กแกอบแห้ง” เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน มีโรงงานรับซื้อผลผลิตในหมู่บ้านที่ 7 และหมู่ที่ 8 ตำบลนาหว้า ทำหน้าที่ีรวบรวมผลผลิตส่งไปขายต่างประเทศตลอดทั้งปี
ชาวบ้านในหมู่บ้านจะรวมกลุ่มกันออกไปล่าตุ๊กแกในหมู่บ้านใกล้เคียงและรับซื้อตุ๊กแกสดกับเครือข่ายทั่วประเทศในราคาตัวละ 30-60 บาท ตุ๊กแกสดจะถูกนำมาชำแหละเอาเครื่องในออก อวัยวะต้องอยู่ครบทุกส่วน ทั้งหัว ขา ลำตัว และหาง ตุ๊กแกจะถูกนำมาขึงใส่ไม้แบบตามขนาดตัวละ 12-15 เซนติเมตร ใช้เหล็กหนีบขึงให้หนังตุ๊กแกตึง ขึงขาทั้ง 4 ข้างกางออก และมัดหางใส่ไม้เป็นก้านยาว ก่อนนำไปรมควันเตาอบถ่านนาน 12-24 ชั่วโมง เพื่อให้หนังแห้ง ไม่เน่าเสีย
ขั้นตอนต่อมา นำตุ๊กแกมาขัดผิวให้สวยงาม ก่อนจับมัดเป็นคู่ตามขนาดแล้วบรรจุใส่กล่องน้ำหนัก 25 กิโลกรัม ขายกล่องละ 25,000 บาท เพื่อส่งขายประเทศจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฯลฯ ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ตัน ผู้ซื้อส่วนใหญ่นิยมบริโภคตุ๊กแกเป็นยาสมุนไพรชูกำลัง และใช้ตุ๊กแกในตำรับยาจีนแผนโบราณ ช่วยบำรุงไต บำรุงปอด รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รักษาโรคเบาหวาน แก้หอบหืด รักษาโรคผิวหนัง ป้องกันมะเร็ง
อาชีพทำตุ๊กแกตากแห้ง สร้างเม็ดเงินสะพัดในหมู่บ้านไม่ต่ำกว่าวันละแสนบาท แต่ละครอบครัวสามารถแปรรูปตุ๊กแกได้วันละ 400-500 ตัว มีการว่าจ้างญาติพี่น้องและแรงงานในหมู่บ้านมาแปรรูปตุ๊กแกในราคาตัวละ 7-10 บาท สามารถขายตุ๊กแกตากแห้งตัวละ 50-60 บาท ตามแต่ขนาดตัว ธุรกิจตุ๊กแกตากแห้ง ทำผลกำไรได้ 3-4 เท่าตัวจากราคาต้นทุน แต่ละครอบครัวมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000-20,000 บาท
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จากเฟซบุ๊ก สกร. อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม