“บริหารแบบคนจน” ฟาร์มเห็ดป้านา จากล้มเหลว สู่ความสำเร็จ

    เส้นทางความสำเร็จของคนแต่ละคนนั้นย่อมมีความแตกต่างกัน บางคนประสบความสำเร็จได้ด้วยการลงมือเพียงไม่กี่ครั้ง แต่กลับบางคน การจะได้มาซึ่งความสำเร็จต้องอาศัยความเพียรพยายามและการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน  เช่นเดียวกับ ‘ป้านา’ หรือ ‘ธนพร โพธิ์มั่น’ เจ้าของศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ฟาร์มเห็ดป้านา’ และผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตประยุกต์สู่โคกหนองนาอารยะเกษตร ที่ต้องใช้การลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งกว่าจะเป็นป้านาที่หลาย ๆ คนรู้จักในปัจจุบันนี้

‘ป้านา’ หรือ ‘ธนพร โพธิ์มั่น’ เจ้าของฟาร์มเห็ดป้านา
‘ป้านา’ หรือ ‘ธนพร โพธิ์มั่น’ เจ้าของฟาร์มเห็ดป้านา

    โดยก่อนหน้าที่จะหันมาทำการเกษตร ป้านาทำอาชีพเป็นผู้ช่วยพยาบาลมาก่อน จากนั้นก็ได้เปลี่ยนสายงานไปเป็นเจ้าหน้าที่ในห้องแลปวิเคราะห์อาหารสัตว์ และหลังจากทำงานอยู่ในห้องแลปมาเป็นระยะเวลายาวนานจนสุขภาพเริ่มย่ำแย่ ก็ได้หันมาทำการเกษตรผสมผสานด้วยหลักการบริหารงานแบบคนจน สร้างความหลากหลายในพื้นที่ เพาะเห็ด ปลูกผัก และหันมาเริ่มจากการทำอะไรเล็ก ๆ แต่รอบคอบแม่นยำ มากกว่าที่จะเป็นการทำอะไรใหญ่ ๆ แต่ขาดการไตร่ตรองและความรู้ความเข้าใจ วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านชวนมาดูว่ากว่าจะมาเป็นฟาร์มเห็ดป้านาในทุกวันนี้ ป้านาได้ตกตะกอนและมีเรื่องราวอะไรมาเล่าให้เราฟังบ้าง 

จุดเริ่มต้นการทำการเกษตร

    จุดเริ่มต้นการทำเกษตรของป้านาเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2553 หลังจากเกษียณตัวเองออกจากงานในห้องแลป โดยเริ่มจากการเพาะเห็ด แต่ในครั้งแรกผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปดังคาด ป้านาเล่าว่า “มันเป็นการทำแบบสุดโต่งเกินไป มันไม่ได้ทำเพื่อเลี้ยงตัวเองแล้ว เรามองไปในเรื่องของธุรกิจแล้ว มันไม่ใช่เกษตรอย่างเรา เกษตรบ้าน ๆ เราต้องมาทำการเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองใหม่ แล้วก็มาเจอในเรื่องเริ่มศึกษาในเรื่องของความพอเพียง แต่เรื่องของความพอเพียงมันจะอยู่ได้ มันก็ต้องเริ่มจากพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น 4 ฐานนี้มันต้องให้แน่นมั่นคงก่อน มันถึงจะไปต่อยอดไปได้” 

ทำไมต้องเป็นเห็ด ?

    ป้านาเล่าว่าหลังจากที่เธอกลับมาอยู่บ้านก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร จะทำนาหรือเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ใช่ในทางที่ป้านาชอบ จนกระทั่งป้านาได้เจอกับนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในตอนนั้นเอง ที่ป้านาได้รู้ว่าการเพาะเห็ดสามารถสร้างรายได้ได้ดีและเหมาะสมกับพื้นที่ที่เธอมีอยู่ จากนั้นป้านาจึงได้เริ่มศึกษาเรื่องของเห็ด โดยอาศัยการเข้าอบรมตามที่ต่าง ๆ โดยป้านาได้เพิ่มเติมว่า “ส่วนใหญ่แล้วองค์ความรู้ที่ได้คือม.เกษตร บางเขนกับกำแพงแสนที่ป้านาอบรมเยอะ จนกระทั่งมั่นใจแล้วว่าฉันเนี่ยทำเห็ดได้ จากการที่ได้อ่านในหนังสือเล่มเนี่ยเขามีหลากหลายอาชีพ แต่ป้านาคิดว่าเห็ดมันน่าจะเหมาะกับเรา แล้วเรายังไม่ค่อยมีพื้นที่เยอะ”

Advertisement

วิกฤตที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว 

Advertisement

    ในปีพ.ศ.2554 ประเทศไทยประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ พื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเจอกับน้ำท่วมสูง ฟาร์มเห็ดป้านาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ป้านาเล่าว่าในปีนั้นถือได้ว่าเป็นวิกฤตครั้งใหญ่สำหรับป้านา เงินที่สะสมมาถูกใช้ไปกับการลงทุนฟาร์มเห็ด เมื่อน้ำมา ฟาร์มเห็ดเสียหาย เงินที่ลงทุนไปทั้งหมดก็หายไปด้วยเช่นกัน ป้านาได้แบ่งปันกับเราว่าในครั้งนั้น ป้านาเริ่มการทำเห็ดด้วยความโลภ คิดว่าถ้าทำมากก็จะได้ผลตอบแทนที่มา ป้านาเคยลงเห็ดถึง 5,000 ก้อน แต่แล้วเมื่อน้ำมา เห็ดเหล่านี้เสียหายไม่ทันได้โต ถึงอย่างนั้น ป้านาก็ได้สะท้อนย้อนคิดกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “เราลง (เงิน) กับตรงนี้หมดเลย โดยที่ไม่ฟังคำชี้แนะจากครูบาอาจารย์ เราคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองแน่ สุดท้ายมันก็ไปไม่รอด คิดแต่ได้อย่างเดียว ตอนนั้นมองตัวเงินเป็นที่ตั้ง แล้วก็เจอปัญหาที่ตามมา เราก็เปลี่ยนวิธีคิดใหม่เลย มามองในเรื่องของความพอเพียงเป็นที่ตั้ง เปลี่ยนจากทำใหญ่กลับมาทำเล็ก ๆ” 

เห็ดโคนญี่ปุ่นที่เริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ 

    ป้านาเล่าว่าตนเองเลือกปลูก ‘เห็ดยานางิ’ หรือ เห็ดโคนญี่ปุ่นเป็นหลัก ก็เพราะเห็ดโคนญี่ปุ่นยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก อีกทั้งยังไม่ค่อยมีคนขาย และยังเป็นเห็ดที่ปลูกได้ง่าย อาศัยเพียงการรดน้ำก้อนเห็ด ก็จะได้ดอกเห็ดมาไว้รับประทานเดือนละหนึ่งครั้ง เมื่อเก็บผลผลิตแล้วจึงค่อยทำการรดน้ำอีกครั้ง ในขณะที่เห็ดนางฟ้าที่คนมักมองว่าเพาะได้ง่ายนั้นกลับต้องอาศัยการดูแลที่มากกว่า

    โดยป้านาเริ่มจากการนำพื้นที่ว่างเล็ก ๆ ของตัวเองในการทำเรือนเพาะเห็ด ขนาดไม่เกิน 1 ไร่ แล้วจึงค่อย ๆ ขยายพื้นที่เมื่อเวลาผ่านไป แต่ปัจจุบันก็ยังมีการทำโรงเรือนเล็ก ๆ ไว้สำหรับให้คนที่เข้ามาดูงาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าพื้นที่เพียงเล็กน้อยก็สามารถที่จะเพาะเห็ดเพื่อการบริโภคได้

การทำก้อนเชื้อเห็ด ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด  

    ป้านาได้แบ่งปันวิธีทำก้อนเชื้อเห็ดแบบง่าย ๆ โดยแนะนำให้เราใช้ขี้เลื่อย รำ ปูนขาว ยิปซัม และดีเกลือ จากนั้นผสมส่วนผสมเข้าด้วยกัน หากใช้ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม ก็อาจใช้ปูนขาว 2 กิโลกรัม และยิปซัม 2 ขีด จากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดในการผสมทุกอย่างให้เข้ากัน เมื่อเข้ากันดีแล้วจึงค่อยใช้มือกำส่วนผสมเข้ากันดู หากส่วนผสมไม่แตกออกจากกัน ก็เป็นอันใช้ได้ เมื่อได้ก้อนแล้วจึงนำก้อนที่ได้ไปนึ่งเป็นเวลา 4-5 ชั่วโมง เมื่อความร้อนได้ที่ จึงนำก้อนเพาะมาผึ่งให้แห้งอีก 1 คืน จึงจะสามารถนำมาหยอดเชื้อเห็ดได้ อย่างไรก็ดีในการกะปริมาณส่วนผสมต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับสูตรและความเหมาะสมของเห็ดที่ต้องการเพาะ เช่น ในเห็ดทั่วไปอาจใช้ขี้เลื่อย 100 ต่อรำ 4-5 กิโล แต่หากต้องการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นก็ต้องเพิ่มปริมาณรำขึ้น เนื่องจากเห็ดโคนญี่ปุ่นต้องการสารอาหารที่เยอะกว่า 

การแปรรูปเห็ดตามสไตล์ของป้านา

   ที่ฟาร์มเห็ดป้านามีผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปเห็ดหลาย ๆ อย่าง เช่น น้ำพริกเผาเห็ด เห็ดสวรรค์ เห็ดสวรรค์ ร้าเห็ด เต้าเจี้ยวเห็ดเป๋าฮื่อ และแหนมเห็ด ที่ในปัจจุบันเป็นที่นิยมในหมู่คนที่แวะเวียนมาเยี่ยมฟาร์มเห็ดป้านาเป็นอย่างมาก และมากไปกว่านั้นที่ฟาร์มป้านายังมี ‘ผัดไทรสเด็ดเห็ดหลากหลาย’ เมนูอาหารที่เกิดจากความชอบของป้านาและการแก้ปัญหาเรื่องอาหารการกินของคนที่เข้ามาเยี่ยมชม โดยป้านาเล่าว่า เดิมที่ป้านานั้นชอบรับประทานผัดไทเป็นทุนเดิม แต่เวลาไปสั่งตามร้านอาหารก็มักจะได้ผัดไทที่มันเยิ้ม กอปรกับเมื่อมีนักศึกษาหรือบุคคลภายนอกเข้ามาดูงานที่ฟาร์มเห็ดป้านาก็มักจะประสบปัญหาเรื่องอาหารการกิน เนื่องจากบริเวณโดยรอบเป็นทุ่งนาและไร้ซึ่งเงาของร้านค้าใดใด ป้านาจึงเกิดไอเดียที่จะลองทำผัดไทในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา โดยเป็นการใช้สอยวัตถุดิบดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว ใช้เห็ดแทนเนื้อสัตว์ และใช้ผักที่ปลูกเอง และที่สำคัญผัดไทของป้านาไม่มันเยิ้มเหมือนเจ้าอื่น ๆ เพราะที่นี่ไม่ใช้น้ำมันในการผัด และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตอีกด้วย 

ขายเห็ด ‘รวย’ จริงไหม ?

   ป้านาตอบทันทีว่า “จริงค่ะ” แต่ไม่ลืมที่จะอธิบายเพิ่มเติมว่าการขายเห็ดจะรวยได้ก็ต่อเมื่อรู้จักที่จะบริหารจัดการและขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ อีกทั้งยังต้องอาศัยการต่อยอดให้เป็น การขายเห็ดสามารถขายได้ทั้งก้อนเห็ด เห็ดสด หรือจะนำมาแปรรูปก็ได้เช่นกัน ดังนั้น ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและองค์ความรู้ที่มี หากความรู้แน่นและบริหารเป็น เห็ดก็สามารถทำกำไรได้อย่างแน่นอน 

ต่อยอดทำเกษตรผสมผสานในรูปแบบของ ‘ป้านา’ 

    ป้านาเล่าว่าพื้นที่ด้านหลังนั้นเป็นที่ของพี่ชายที่เมื่อแก่ตัวลงก็ไม่มีใครมาดูแล ป้านาจึงได้ใช้ที่บริเวณนั้นในการทำสวนทำไร่ ปรับปรุงพื้นที่ให้มีร่องและคันนา เพื่อรองรับการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยป้านาได้เล่าให้เราฟังอย่างออกรสว่า “ขุดพื้นดินเราไม่ต้องไปซื้อดินมา ขุดพื้นนาขึ้นมาเป็นคันที่มันใหญ่ เราก็จำลองว่า อันเนี้ยคือคันนาทองคำของฉัน แล้วในร่องเราก็ขุดไปเพื่อให้มันมีน้ำอยู่ในนั้น เพราะเราจะต้องปลูกผัก ปลูกผลไม้อะไรต่าง ๆ ก็ทำร่องให้มันใหญ่หน่อย ในนั้นมันก็สามารถเลี้ยงปลาได้ มันก็เป็นคลองไส้ไก่ให้เราได้”

    นอกจากนี้ป้านายังเสริมอีกว่าการทำสวนของป้านาเน้นไปที่ ‘ความหลากหลาย’เป็นหลัก เน้นปลูกสิ่งที่เอามาต่อยอดได้ เช่น ปลูกอ้อยก็ทำน้ำอ้อยได้ ปลูกอัญชันก็เป็นน้ำอัญชันได้ หรือปลูกหม่อนก็นำมาทำแยมได้เช่นกัน และยังปลูกไม้ป่าเคล้าไปกับการปลูกพืชสมุนไพร อีกทั้งได้ปลูกแหนแดงและผักตบชวาสำหรับการเป็นอาหารไก่ที่เลี้ยงไว้กินไข่อีกด้วย

การบริหารงานแบบคนจน  

   ก่อนจากกันป้านาได้เล่าถึง ‘การบริหารแบบคนจน’ ที่ป้านาได้นิยามไว้ว่าเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ของตนเอง โดยมุ่งเน้นที่การใช้สอยในครัวเรือน มากกว่าจะเป็นการค้าเอากำไร ทำให้พื้นที่มีความหลากหลายและไม่ทำอะไรแบบสุดโต่งจนเกินไป “เราไม่ต้องทำสุดโต่งอย่างเดียว ทำให้มันเกิดความหลาหลายในพื้นที่ ให้มันมีกิน ชีวิตประจำวันมีกิน รายสัปดาห์พอหาได้ไหม รายเดือนได้ไหม แล้วก็รายปีได้ไหม แล้วยังต่อด้วยว่าจากการที่เราทำแบบนี้แล้วมันสามารถสร้างเครือข่ายได้ไหม”

ข้อแนะนำสำหรับมือใหม่ 

    ข้อแนะนำเพียงอย่างเดียวที่ป้านาเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ องค์ความรู้ เพราะป้านามองว่าองค์ความรู้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องรู้ว่าเห็ดแต่ละชนิดต้องการอะไร การให้น้ำทำยังไง ความชื้นสัมพัทธ์ต้องเป็นแบบไหน โดยป้านาได้เน้นย้ำว่าควรเริ่มจากการทำแบบน้อย ๆ และเน้นที่การปลูกเพื่อบริโภคและใช้สอยในครัวเรือนก่อนที่จะทำอะไรใหญ่โต