“อธิบดีบัญชา” รับรางวัลเลิศรัฐ ปี 2567 4 รางวัล ส่งกรมประมงเป็นหน่วยงานมาตรฐานยอดเยี่ยม พัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกลับเป็นฟันเฟืองสำคัญเดินหน้าเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลัง เข้าร่วมงานเสวนาวิชาการและพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 “Transforming Public Service For Sustainability: พลิกโฉมบริการภาครัฐ สู่ความยั่งยืน” ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพคเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ เข้าร่วม โดยช่วงบ่ายมีพิธีรับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งกรมประมงได้รับรางวัลเลิศรัฐ จำนวน 2 สาขา 4 ประเภท 4 รางวัล และรางวัลที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น 2 รางวัล ดังนี้

1. สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (Thailand Excellent Participatory Governance Awards: TEPGA)

ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น จากผลงาน : ปลาดุกกมลาไสย แปลงใหญ่ชุมชนพัฒนาคนพัฒนาเศรษฐกิจ หน่วยงานที่ได้รับ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ซึ่งดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนจากภาวการณ์ขาดทุนของกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยบ้านโปโล โดยขับเคลื่อนการรวมกลุ่มโครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ สามารถยกระดับการจัดการสินค้าสัตว์น้ำสู่สมดุล ผลผลิตของกลุ่มมีตลาดรับรองแน่นอน ผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ครบทุกราย ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ขายได้ราคา มีผลผลิตปลาดุกปีละกว่า 3,460 ตัน มีรายได้ปีละกว่า 190 ล้านบาท หนี้ครัวเรือนลดลงเฉลี่ย 26% มีเงินออมเพิ่มขึ้น 542% นอกจากนี้ ยังเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มูลค่ากว่าปีละ 10 ล้านบาท มีการระดมหุ้นจัดตั้งกองทุนจำนวน 36 ราย เป็นเงินกว่า 200,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดหาผลผลิตปลาดุกและเกิดการเจรจาการค้าเพื่อส่งให้กับห้างแมคโคร 15 สาขา ในพื้นที่ 12 จังหวัดทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ระดับดี จากผลงาน : การเสริมสร้างการจัดการชุมชนประมงต้นแบบเขื่อนแก่งกระจาน หน่วยงานที่ได้รับ กองตรวจการประมง ซึ่งดำเนินการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนประมง ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ความขัดแย้งจากการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้จัดตั้งกลไกความร่วมมือ มีผู้แทนของแต่ละชุมชนร่วมอยู่ในคณะกรรมการ ดำเนินกิจกรรมบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำร่วมกัน ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีกินมีใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ชาวประมงมีรายได้ ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งอนาคตจะต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานขยายผลไปสู่โครงการอื่นๆ รวมทั้งปลูกจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดให้ลูกหลานชาวประมงคนรุ่นใหม่กลับบ้านมาพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง

2. สาขาการบริการภาครัฐ (Thailand Public Service Awards: TPSA)

Advertisement

ประเภทยกระดับอำนวยความสะดวกในการให้บริการ ระดับดี จากผลงาน : ยกระดับคุณภาพ การให้บริการ บูรณาการอย่างไร้รอยต่อ เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพประมง หน่วยงานที่ได้รับ 1) กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร 2) กองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต 3) กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ 4) กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง 5) กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง 6) กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ 7) กองวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ 8) สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนาการอำนวยความสะดวกในการให้บริการจนเกิดผลสำเร็จ ดังนี้

1) ให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้กรมประมงมีงานบริการที่ปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ (Fully digital) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากร้อยละ 6.77 ในปี 2564 ร้อยละ 25.09 ในปี 2565 และร้อยละ 36.66 ในปี 2566

Advertisement

2) ปรับปรุงกระบวนงาน แก้ไขกฎหมาย กฎ เช่น การต่ออายุใบอนุญาตที่มีการชำระค่าธรรมเนียม ให้สามารถรับชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ปรับปรุงการยกเลิกคณะกรรมการในการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต ในงานบริการที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายทางการประมง เป็นต้น

3) ทบทวนงานบริการเพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และปรับเป็นระบบดิจิทัล โดยในปี 2565 สามารถลดลงได้ร้อยละ 55 ต่อมาได้ขยายผลไปยังงานบริการด้านนำเข้า ส่งออกทำให้ในปี 2566 สามารถลดระยะเวลางานบริการด้านนำเข้า ส่งออกลงได้ร้อยละ 43.04

ประเภทขับเคลื่อนเห็นผล ระดับดี จากผลงาน : Fisherman Shop เสริมสร้างการตลาดเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการ หลากหลายสินค้าประมง ผู้บริโภคปลอดภัย ประมงไทยยั่งยืน หน่วยงานที่ได้รับ กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ได้นำองค์ความรู้จากการวิจัยด้านเทคโนโลยีหลังการจับสัตว์น้ำ ในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ประมงด้านการจัดการระบบห่วงโซ่ความเย็นเพื่อเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำด้วยผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมียม การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ สร้างโอกาสการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร และชุมชนมีรายเพิ่ม รวมถึงการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบคุณภาพทางเคมีและจุลชีววิทยา โดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO 17025 เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้ในตลาด นอกจากนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ประมงคุณภาพให้แก่ประชาชนผ่านทุกช่องทาง เพื่อเพิ่มโอกาสด้านการตลาดโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประมงพื้นบ้าน รวมทั้งการสร้างความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์กำหนดด้านคุณภาพ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมประมง ด้วยตราสัญลักษณ์ประมงธงเขียว

นอกจากนี้ กรมประมงยังได้รับรางวัลจากผลงานที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ดังนี้ ประเภทบูรณาการข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ระดับดี จากผลงาน ระบบการยื่นคำขอเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และการแจ้งส่งออก นำเข้าสินค้าเกษตรมาตรฐานบังคับ โดยกรมประมงเป็นหน่วยงานบูรณาการงานร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมปศุสัตว์ และรางวัลสาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเลื่องลือขยายผล จากผลงานหนองม้อง พร้อมใจ หนองไขผำ ลดรายจ่าย สร้างรายได้ สู่เครือข่ายธนาคารสัตว์น้ำชุมชน กรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหน่วยงานบูรณาการงานร่วมกับจังหวัดร้อยเอ็ด

“รางวัลเลิศรัฐเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่มอบให้แก่หน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จ มีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานรัฐทั้งปวง กรมประมงได้สร้างผลงานเชิงประจักษ์และโดดเด่นมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับรางวัลเลิศรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2567 จำนวนกว่า 41 รางวัล สำหรับในปี พ.ศ. 2567 กรมประมงขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารจัดการทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการดูแลเกษตรกรชาวประมง ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคแรงงาน ตลอดจนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในเรื่องการฟื้นฟูแหล่งน้ำและทรัพยากรสัตว์น้ำธรรมชาติ ส่งผลให้สามารถคว้ารางวัลสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมและสาขาการบริการภาครัฐ ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญในการที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของกรมประมงทุกคน มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผลักดันภาคการประมงของไทย ให้กลับมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง ท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณพี่น้องเกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการ ตลอดจนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนภาคการประมงไทยให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมประมง กล่าว