ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
หากจะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะพืชที่ต้องการออกผล นอกจากการดูแลใส่ใจในพืชชนิดนั้นๆ แล้ว การผสมเกสรที่มีคุณภาพก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยได้ เพราะจะช่วยให้ผลผลิตที่ได้ออกผลผลิตดี ซึ่งแมลงที่ช่วยผสมเกสรให้กับพืชนั้นมีด้วยกันหลายชนิด แต่ที่นิยมเลี้ยงและนำมาใช้ประโยชน์นั้นก็คือผึ้งและชันโรง
สำหรับมือใหม่ที่สนใจอยากจะเลี้ยงชันโรง ต้องเข้าใจก่อนว่าชันโรงนั้นมีประโยชน์อย่างไร และมีนิสัยอย่างไรบ้างก่อนที่จะเลี้ยงในพื้นที่บริเวณบ้าน ชันโรงเป็นแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติและบางครั้งก็อยู่ตามบ้านเรือน คนสมัยก่อนไม่ชอบชันโรงมากนักเพราะมักจะสร้างรังตามบ้าน ทำให้ยางจากรังที่ได้จากรังชันโรงทำให้บ้านเลอะเทอะ
ปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรและผู้คนทั่วไปให้ความสนใจการเลี้ยงชันโรงมากขึ้น เพราะจะเห็นได้จากตามสื่อโซเชียลและการศึกษาข้อมูลต่างๆ ว่าชันโรงนั้นมีคุณค่าและคุณประโยชน์มากมาย ส่งผลให้เกิดการศึกษาเรียนรู้และศึกษาข้อมูลการเลี้ยงชันโรงมากขึ้น และที่เป็นสิ่งพิเศษของชันโรงเจ้าแมลงตัวเล็กๆ นี้เลยนั้นก็คือ ชันโรงไม่มีเหล็กใน จึงไม่สามารถต่อยได้เหมือนผึ้ง จึงเรียกแมลงนี้ว่า “ผึ้งจิ๋ว”
ชันโรง หรือ เจ้าผึ้งจิ๋ว จะกินเฉพาะน้ำหวานจากดอกไม้เท่านั้น เป็นน้ำหวานจากดอกไม้ทุกชนิด จึงทำให้น้ำผึ้งจากชันโรงนั้นมีการผสมผสานจากดอกไม้นานาชนิด ทำให้น้ำผึ้งมีคุณภาพสูงและมีราคาแพง นอกจากนี้ ส่วนของ “พรอพอลิส” มีประโยชน์โดยนำมาใช้ประโยชน์ ดังนี้คือ
1. ใช้ในทางการแพทย์ สามารถนำมาสกัดสารที่ต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย เป็นส่วนประกอบในการทำยารักษาโรค ที่เกิดจากเชื้อไวรัสนำมาผสมเป็นยารักษาโรคทางหู คอ จมูก และโรคผิวหนัง 2. ใช้บรรเทาพิษที่เกิดจากผึ้งต่อย โดยขูดสารออกจากคอนผึ้งมาละลายในแอลกอฮอล์ หรือน้ำมันมะกอก เก็บไว้ใช้ทาเวลาถูกผึ้งต่อย 3. ยังใช้เป็นส่วนผสมในการทำเครื่องสำอาง
จากความพิเศษนี้เองจึงทำให้แมลงตัวจิ๋วนี้ ปัจจุบันในตอนนี้สามารถเปลี่ยนชีวิตให้กับใครหลายๆ คน จนเกิดเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน หากมีการเลี้ยงและใส่ใจในการเลี้ยงอย่างจริงจัง วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจะพามารู้จักกับการเลี้ยงชันโรงให้ประสบผลสำเร็จ หรืออย่างน้อยหากไม่ได้เลี้ยงเพื่อเป็นการสร้างอาชีพ แมลงจิ๋วเหล่านี้ก็จะสามารถช่วยผสมเกสรให้กับดอกไม้ ไม้ผลที่ปลูกให้รอบบ้านติดผลผลิตที่ดีอย่างแน่นอน
การเลือกสายพันธุ์ชันโรง
ต้องเลือกเลี้ยงให้เหมาะสม
หากจะพูดถึงสายพันธุ์ของชันโรงนั้นจากการศึกษา รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมือง และแมลงผสมเกสร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ราชบุรี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมผึ้งและภาษาผึ้งคนแรกของไทย ให้ข้อมูลว่า ชันโรงมีการแพร่กระจายในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ซึ่งทั่วโลกอาจจะมีชันโรงมากกว่า 400 ชนิด ซึ่งในประเทศไทยค้นพบชันโรงพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 34-35 ชนิด แต่ละชนิดพบมีการกระจายตัวอยู่ต่างกันในแต่ละพื้นที่
โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมเลี้ยงชันโรงตัวเล็ก ที่อยู่ในกลุ่ม Tetragonula ในลัง และให้ผลผลิตที่ดี ได้แก่ ชันโรงขนเงิน (Tetragonula pegdeni) ชันโรงถ้วยดำ (Tetragonula laeviceps) ชันโรงปากแตรสั้น (Lepidotrigona terminata) และชันโรงปากแตรยาว (Lepidotrigona ventralis) ซึ่งเหมาะกับการเลี้ยงในพื้นที่ราบโดยทั่วไป
แต่สำหรับพื้นที่ในแถบภาคเหนือ หรือเขตภูเขาสูงที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศา และมีอุณหภูมิมากกว่า 1 เดือนต่อปี จะเลี้ยงชันโรงปากแตรใหญ่ Lepidotrigona terminata) และพื้นที่ทางภาคใต้จะเลี้ยงชันโรงเป็นสายพันธุ์อิตาม่า (Heterotrigona itama)
หากจะพูดถึงในเรื่องของสายพันธุ์ที่นิยมนำมาเลี้ยงมีตั้งแต่ชันโรงสายพันธุ์ตระกูลหลังลาย สายพันธุ์ขนเงิน ซึ่งสามารถเลี้ยงได้ทุกภาคของประเทศ และที่สำคัญแหล่งอาหารที่ชันโรงออกไปหากินต้องมียางไม้ เกสร น้ำหวานดอกไม้ และแหล่งน้ำ และในปัจจุบันมีการนำฟีโรโมนหรือน้ำยาที่เลียนแบบกลิ่นเพื่อการดึงดูดชันโรงเข้ามาอยู่รังใหม่และสร้างรังให้เร็วขึ้น
การเลือกสถานที่เลี้ยงชันโรง/ชั้นวางรัง
การตั้งโซนของกล่องไม้ เพื่อให้หาอาหาร
ในเรื่องของที่ตั้งและวางรังของชันโรงนั้น ถือว่าไม่มีอะไรตายตัว ชันโรงจะอาศัยในโพรงไม้ โพรงใต้ดินและโพรงเทียมตามบ้านเรือน แต่ที่นิยมจะทำกล่องไม้สำหรับให้ชันโรงอยู่ ซึ่งขนาดของกล่องรังเลี้ยงชันโรง จะมีความกว้างและยาวเท่าขนาดของกระดาษ A 4 หรือที่ความกว้าง 21 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร และความสูงของกล่องไม้อยู่ที่ประมาณ 10 เซนติเมตร
ส่วนสถานที่ตั้งวางนั้นต้องมีร่มเงาให้กับลังไม้ ฉะนั้นตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นไปจนถึงพระอาทิตย์ตก ชันโรงจะบินเข้าออกจากรังเพื่อไปมีบทบาทด้านการผสมเกสรให้พืชผลทางการเกษตร ทำให้พืชที่ต้องใช้ผึ้งเป็นแมลงผสมเกสรติดผลมากขึ้น ชันโรงเป็นผึ้งที่สร้างรังถาวร อาศัยในรังนานนับสิบปี ปกติไม่มีนิสัยทิ้งรัง ไม่เลือกตอมดอกไม้ มีระยะทางบินหากินที่จำกัด และมีพฤติกรรมเก็บเกสรมากกว่าน้ำหวาน
การเลี้ยงชันโรงถือว่าประหยัดต้นทุนอาหารเป็นอย่างมาก โดยที่ผู้เลี้ยงไม่มีต้นทุนเหล่านี้เลย เพราะรังของชันโรงที่นำไปวางตามที่ต่างๆ แมลงเหล่านี้จะออกหาอาหารกินเอง โดยบินไปเก็บน้ำหวานในพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ไกลจากรังมากนัก ยิ่งนำรังไปไว้ในสวนไม้ผลด้วยแล้ว ยิ่งเป็นตัวช่วยผสมเกสรชั้นดี
การแยกรังชันโรง หรือแบ่งรังใหม่
เมื่อรังมีจำนวนไข่และตัวอ่อนแน่น
หากจะพูดถึงเรื่องความคุ้มค่าและการสร้างประโยชน์จากชันโรงนั้น ต้องบอกก่อนว่าชันโรงหากในช่วงแรกซื้อมาเพียง 1 รัง และเมื่อเลี้ยงไปเรื่อยๆ ทุก 1 ปี จะสามารถแยกรังชันโรงได้ประมาณ 2 ครั้ง หรือถ้ามองว่าในรังมีขนาดที่แคบเกินไป สามารถแยกรังใส่ในกล่องใหม่ได้ทันที เป็นการขยายรังจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 ช่วงที่เวลาที่เหมาะต่อการแยกรังจะเป็นช่วงฤดูร้อน เพราะค่อนข้างที่จะมีดอกไม้ออกมาจำนวนมาก เพียงพอที่จะเป็นอาหารให้กับชันโรง
การแยกรังชันโรงเคล็ดลับคือ ต้องตรวจดูปริมาณไข่ ดักแด้ ตัวเต็มวัย และอาหาร ภายในรังต้องมากพอ ซึ่งการแยกรังใส่ในกล่องไม้ใหม่ จะต้องแยกไข่ ดักแด้ ตัวเต็มวัย จะต้องมีชันโรงพี่เลี้ยงติดมาด้วย เพื่อให้ช่วยกัดหลอดดักแด้ให้ตัวเต็มวัยออกจากหลอด ถ้วยอาหารใส่ลงในรังโดยวางใกล้ปากทางเข้าออก
จากนั้นนำขี้ชันจากรังเดิมมาแปะทางเข้าของรังใหม่ เพื่อล่อตัวเต็มวัยให้กลับเข้ารังใหม่ที่แยกไว้ พร้อมกับปิดทางเข้ารังเดิมและนำออกจากจุดเดิม เพื่อให้ตัวชันโรงกลับเข้ารังใหม่ที่แยก ดูแลต่อไปอีก 2-3 เดือน รังใหม่เหล่านี้ก็จะสามารถส่งจำหน่ายได้ หรือหากไม่จำหน่ายก็เลี้ยงต่อไป และเก็บเพื่อใช้ในการขยายรังครั้งหน้าต่อไปได้
การใช้ประโยชน์จากชันโรง นอกจากผสมเกสร
ยังสามารถจำหน่ายรัง สร้างรายได้มีราคาดี
อย่างที่ทราบกันดีว่าชันโรงเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นหากไม่ทำการจำหน่าย สิ่งที่ได้ประโยชน์อย่างมากมายเลยนั้นก็คือการผสมเกสรชั้นดี เพราะในทุกๆ เช้าที่พระอาทิตย์ขึ้น ชันโรงจะออกไปหาอาหารจากดอกไม้ทุกชนิด และสิ่งที่ได้ตามมานั้นก็คือการผสมละอองเกสร จึงทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่รอบบ้านติดผลดีมากขึ้นไปด้วย
นอกจากนี้ ถ้าชันโรงมีจำนวนมากและสามารถขยายรังออกไปได้มากขึ้น ผู้ที่เลี้ยงสามารถทำตลาดเพื่อจำหน่ายชันโรงได้ ซึ่งการทำตลาดส่วนใหญ่จะเน้นจำหน่ายแบบออนไลน์ โดยลูกค้าที่อยู่ตามที่จังหวัดห่างไกลเข้ามาสั่งซื้อจากเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมกับจัดส่งให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ใกล้หรือไกล ก็สามารถจัดส่งให้ได้ถึงที่
โดยราคารังชันโรงที่เป็นรังใหม่ ราคาจำหน่ายต่อรังอยู่ที่หลักร้อยบาท ส่วนรังที่เลี้ยงให้ใหญ่หลังแยกรังดูแลมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ราคาจำหน่ายจะอยู่ที่หลักพันบาท ขนาดของรังเล็กรังใหญ่แตกต่างกันไป
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเลี้ยงชันโรง ควรหมั่นศึกษาหาข้อมูลให้รอบด้าน เพราะชันโรงถ้าหากยังไม่ทำตลาดสิ่งที่เป็นประโยชน์มากๆ นั้นก็คือการผสมเกสร จะช่วยให้ผลผลิตรอบบ้านเพิ่มขึ้นและในอนาคตสามารถวางแผนจำหน่ายสร้างรายได้อีกด้วย