เผยแพร่ |
---|
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการวิจัยและพัฒนา การขยายผลการใช้ประโยชน์และสร้างเครือข่ายทั้งนักวิจัยด้านการเกษตรและผู้ประกอบการสู่การใช้ประโยชน์จริง รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้การพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร การบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตร ให้สามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในระดับสากล โอกาสนี้ ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ และ นายพงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีคณะผู้บริหารและบุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีด้วย ในวันที่ 19 กันยายน 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี
โดยความร่วมมือดังกล่าว จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรปลอดภัย และทำให้สินค้าเกษตรเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรและภาคธุรกิจเกษตร ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญต่อภาคการเกษตรในปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานยังมีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรกรมวิชาการเกษตร ให้เป็นที่ปรึกษาหรือผู้ตรวจประเมินการกักเก็บคาร์บอนและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ซึ่งบุคลากรด้านนี้มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีอุตสาหกรรมด้านการเกษตรเป็นหัวใจพื้นฐาน ทั้งนี้ หากไม่พัฒนางานดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยเกิดข้อจำกัดในเรื่องการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรหรือการผลิตสินค้าร่วมด้วย ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ทั้งสองหน่วยงานจะต้องเร่งและช่วยกันดำเนินงานให้สำเร็จเป็นรูปธรรม
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ และนักวิจัยของ วว. จะทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยความพร้อมและศักยภาพของ วว. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจด้านการวิจัยพัฒนาและบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้านการเกษตร เพื่อสร้าง GDP หรือ News curve ใหม่ให้กับเศรษฐกิจประเทศ บนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ตอบสนองการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ภาคเกษตรกรรมและวิสาหกิจชุมชน ผลักดันให้เกิดการนําไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับมาตรฐานและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและผู้ประกอบการไทย การทำงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานครั้งนี้ถือเป็นการเสริมสร้างศักยภาพทั้งงานวิจัยและบุคลากร ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างผลกระทบที่ดีต่อการทำงานด้านการเกษตรของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะการเกษตร คือ อนาคตของประเทศไทย
นายรพีภัทร์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมุ่งดำเนินงานในการวิจัยและพัฒนาด้านพืช เครื่องจักรกลการเกษตร และเป็นศูนย์กลางรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านพืชในระดับสากล บนพื้นฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านพืช แมลง และจุลินทรีย์ ด้านการเกษตร รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ และพัฒนากฎหมายด้านการเกษตร ความร่วมมือกับ วว. จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้การเกษตรของไทยเข้มแข็งยิ่งขึ้น