เกษตรกร เฮ! ใช้โฉนดเพื่อการเกษตรค้ำประกันสหกรณ์ได้แล้ว ส.ป.ก. คาด 10 สหกรณ์นำร่อง เพิ่มมูลค่าได้ 2,000 ล้านบาท

วันที่ 23 กันยายน 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การใช้โฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันสินเชื่อกับสหกรณ์ที่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นสมาชิก ระหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตามที่รัฐบาลได้มีนโนบายที่ต้องการให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เพื่อสร้างโอกาสในการมีอาชีพรายได้ และความมั่นคงในชีวิต โดยการยกระดับเอกสารสิทธิที่ดินจากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร พร้อมขยายสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นที่ยอมรับเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ส.ป.ก. จึงได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ยกร่างต้นแบบบันทึกข้อตกลงพร้อมประชาสัมพันธ์เชิญชวนสหกรณ์ที่มีเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นสมาชิกมาร่วมลงนาม

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายเศรษฐเกียรติ กล่าวว่า “วันนี้มีสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 10 แห่ง จากทุกภาคของประเทศ มาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ส.ป.ก. ซึ่งสหกรณ์ทั้ง 10 แห่งนี้ มีเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นสมาชิก จำนวน 4,380 ราย คิดเป็นวงเงินกู้สูงสุด 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รมว.กษ. ได้มอบนโยบายไปแล้วเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ให้ ส.ป.ก. เร่งดำเนินการขยายสิทธิและการใช้ประโยชน์ การเพิ่มมูลค่าให้กับโฉนดเพื่อการเกษตร ตลอดจนการใช้โฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มเติมอีก”

สำหรับสาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ คือ “ส.ป.ก. ยินยอมให้เกษตรกรใช้เอกสาร ส.ป.ก. 4-01 และโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันหนี้ของตนเองหรือคู่สมรสกับสหกรณ์ โดย ส.ป.ก. จะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิ พร้อมประเมินวงเงินหลักประกันให้สหกรณ์จากประเมินกรมธนารักษ์ หากเป็น ส.ป.ก. 4-01 ได้วงเงินอยู่ที่ร้อยละ 60 และร้อยละ 80 สำหรับโฉนดเพื่อการเกษตร และถ้าเกษตรกรไม่ชำระหนี้โดยไม่มีเหตุผลสมควรหรือมีเหตุจำเป็น ส.ป.ก. จะดำเนินการให้เกษตรกรชำระหนี้แก่สหกรณ์ภายใน 90 วัน พร้อมร่วมมือกับสหกรณ์ในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรลูกหนี้” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเสริม

Advertisement

ปัจจุบัน ส.ป.ก. ได้ดำเนินการขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกร เพื่อขยายสิทธิและเพิ่มมูลค่าให้กับโฉนดเพื่อการเกษตร อาทิ การเจรจากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลฎีกา และศาลยุติธรรม เพื่อขอใช้โฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันตัวบุคคลในชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาลการเจรจากับการยางแห่งประเทศไทย กองทุน/ทุนหมุนเวียนในหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารในกำกับของรัฐบาล (SFls) ในการใช้โฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันเงินกู้ ทั้งนี้ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวต่อไป