เปิด ! 10 ลักษณะเห็ดพิษ รู้ไว้ก่อนสายเกินแก้

    “เห็ดพิษ” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยที่พบได้เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นนั้นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดชนิดต่างๆ ทั้งเห็ดที่สามารถรับประทานได้และเห็ดที่มีฤทธิ์เป็นพิษ โดยผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษนั้นสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย เนื่องจากมักมีการนำเห็ดพิษที่เก็บเองตามสวนหรือป่าเขามาประกอบอาหารเพื่อรับประทานร่วมกันในครัวเรือน ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 11 มิถุนายน มีอัตราผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษถึง 299 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 5 ราย

    โดยเห็ดที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดคือ เห็ดระโงกหิน ซึ่งมีลัฏษณะที่คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวเป็นอย่างมาก ทำให้บรรดานักเก็บเห็ดที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมักจะเก็บเห็ดผิดชนิดและทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตตามมา วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจึงชวนมาดู 10 ลักษณะของเห็ดพิษที่ควรรู้ก่อนนำเห็ดมาปรุงอาหาร เพื่อป้องอันตรายที่มาพร้อมเห็ดพิษเหล่านี้ โดยมี 10 ข้อสังเกตเบื้องต้น ดังนี้ 

  1. มีหนามหรือขนบริเวณโคน 
  2. มีสีขาวทั่วทั้งดอก
  3. เมื่อเริ่มแก่มีกลิ่นรุนแรง
  4. มีวงแหวนใต้หมวกเห็ด
  5. บริเวณหมวกเห็ดมีปุ่มขรุขระ 
  6. หมวกเห็ดมีสีน้ำตาลหรือสีสันฉูดฉาด 
  7. เกิดใกล้มูลของสัตว์ 
  8. บริเวณหมวกเห็ดมีลักษณะเป็นรู
  9. เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาวและเกิดบนมูลสัตว์ 
  10. เห็ดที่มีลักษณะคล้ายสมองหรืออานม้า 

 

    อย่างไรก็ดีทั้ง 10 ลักษณะของเห็ดพิษเหล่านี้เป็นเพียงการสังเกตเบื้องต้นเท่านั้น การเก็บเห็ดด้วยตัวเองตามธรรมชาติจำเป็นต้องอาศัยความชำนาญและองค์ความรู้อย่างเข้มงวด โดยแนะนำให้เก็บและซื้อเห็ดจากแหล่งที่รู้จัก ตลอดจนแหล่งเพาะพันธุ์ขายเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดพิษโดยไม่ตั้งใจ  

  และหากเผลอรับประทานเห็ดพิษเข้าไปแล้ว สามารถสังเกตอาการได้ เช่น อาจมีอาการวิงเวียน อาเจียน ปวดท้อง และถ่ายเหลว หรือในบางรายอาจมีอาการรุนแรง อาทิ ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด โดยในเบื้องต้นสามารถบรรเทาพิษได้ด้วยการรับประทานผงคาร์บอน เพื่อช่วยดูดซับสารพิษและจิบน้ำสะอาดเพื่อชดเชยการเสียน้ำที่เกิดขึ้น แต่แนะนำว่าหากเริ่มมีอาการเจ็บป่วยหลังรับประทานเห็ดพิษควรรีบพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านอย่างเร็วที่สุด เพื่อสามารถบรรเทาอาการและรับการรักษาได้ทันท่วงที โดยแนะนำให้เก็บตัวอย่างเห็ดที่รับประทานหรือถ่ายภาพเห็ดไว้เพื่อระบุชนิดของเห็ดพิษ อีกทั้งควรรีบแจ้งผู้ที่รับประทานเห็ดจากแหล่งเดียวกันเพื่อให้สังเกตอาการและลดอัตราการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานเห็ดพิษ 

 

Advertisement

ขอบคุณข้อมูลจาก 

 

Advertisement

https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2023-145/

https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=44077&deptcode=brc