เผยแพร่ |
---|
“ครูอุษา” หรือ กัญญ์ณัทพัชร บุณยะโหตระ จากคุณครูและเจ้าของโรงงานเทียนแฟนซี สู่วิทยากรและเจ้าของอาคารพาณิชย์ขนาดสามชั้นครึ่งที่ถูกแปรสภาพเป็นศูนย์การเรียนรู้ในโครงการสวนผักคนเมือง บนดาดฟ้าของอาคารติดถนนใจกลางย่านห้วยขวางแห่งนี้มีพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิดที่ปลูกด้วยมือของครูอุษาซ่อนตัวอยู่ด้านบน ท่ามกลางตึกสูงในเมืองใหญ่ ไม่เพียงแต่พืชผักเท่านั้น แต่ภายใต้หลังตาของบ้านครูอุษา อีกทั้งยังมีไก่และเป็ดที่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อให้ไข่สำหรับการบริโภคในบ้าน และหากลองเงี่ยหูฟังให้ดีแล้ว ก็จะได้ยินเสียงของความสุขลอยดังลอดออกมาจากบานประตู วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านชวนมาทำความรู้จักครูอุษาให้มากขึ้นผ่านบทสนทนาเล็กๆ ที่ครูอุษาร่วมพูดคุยกับเรา
จุดเริ่มต้นของสวนดาดฟ้า
สวนดาดฟ้า เกิดขึ้นมาในช่วงที่ครูอุษาหันกลับมาให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกายและชีวิตของตนเอง ตั้งแต่ครูอุษาเรียนจบคหกรรมศาสตร์และต่อโทในสาขาปฐมวัย ครูอุษาก็สอนหนังสือเป็นอาชีพมาโดยตลอด อีกทั้งครูอุษาในตอนนั้นยังมีโรงงานหล่อเทียนแฟนซีเป็นของตัวเอง ทำให้ครูอุษาละเลยและมองข้ามเรื่องของสุขภาพไป จนกระทั่งครูอุษาได้ตัดสินใจที่จะปิดโรงงานเทียน และกลับมาทำอาชีพครูที่โรงเรียนสอนเด็กเล็กของสามีเพียงอย่างเดียว ด้วยเวลาว่างที่เพิ่มมากขึ้นนี้เอง ที่ทำให้ครูอุษาคิดอยากจะลองปลูกผักด้วยตนเอง ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ โครงการสวนผักคนเมือง ต้องการคนเข้าร่วมโครงการ ครูอุษาที่เดิมทีเข้าใจว่าการปลูกผักทำสวนคือการต้องมีพื้นที่เยอะๆ จึงจะทำสวนได้ เมื่อได้รู้จักกับโครงการสวนผักคนเมืองก็ได้เห็นว่าเพียงแค่มีพื้นที่เล็กๆ ก็สามารถที่จะลงมือทำสวนได้ จากนั้นครูอุษาจึงได้นำโรงเรียนสอนเด็กเล็กเข้าร่วมโครงการในครั้งนั้น หากแต่การเริ่มต้นปลูกผักกลับไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิด
แรกเริ่มการปลูกผัก
ครูอุษา เล่าว่า แม้ว่าจะเป็นคนที่สนใจเรื่องการดูแลสุขภาพและชื่นชอบในการบริโภคผักที่สดสะอาดและถูกเก็บใหม่ๆ แต่ความรู้ในเรื่องการเกษตรของเธอนั้นกลับมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเรื่องโภชนาการ นั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ครูอุษาเริ่มต้นด้วยการเสาะหาองค์ความรู้จากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะทั้งจากหนังสือ หรือการเดินทางไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อไปดูว่านักศึกษาที่เรียนคณะเกษตรนั้นเรียนอะไร จากนั้นจึงค่อยนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาลองผิดลองถูกบนดาดฟ้าของตัวเอง “เราเริ่มจากการปลูกผักในตลาด เช่น ขึ้นฉ่าย เริ่มจากอะไรที่มีราก ต้นหอม เราก็เอามาปัก หอมดงหอมแดง ขิง กระชายอะไรแบบนี้ เริ่มจากของในตลาด มันก็ขึ้น มันก็ได้กิน พอมันปลูกได้เราก็ใจฟู ก็ขยับมาเป็นเพาะเมล็ด และหาความรู้เรื่อยๆ” และยังได้เล่าย้อนไปถึงการปลูกผักในช่วงแรกๆ ว่า “เราก็มี (ผัก) ตายยกสวน ใส่น้ำหมักผิด หรือไม่ก็ไม่รู้ว่าเราต้องใส่ปุ๋ยอีก มันมีเหตุการณ์แบบนี้บ่อยมาก เวลาเราสอนเราก็จะบอกลูกศิษย์ว่า เวลาเจอสิ่งเหล่านี้อย่าไปท้อ เวลาเราล้ม เราต้องลุกให้เร็ว อย่าไปโอดครวญ…ถ้าผักครูตาย ณ วันนั้น แล้วครูถอดใจไป คงไม่มีครูทุกวันนี้”
จากคุณครูสู่การเป็นวิทยากร
หลังจากการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดสวนของครูอุษาก็เฟื่องฟูและออกผลผลิตมากพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือน โครงการสวนผักคนเมืองจึงได้มอบหมายให้บ้านของครูอุษาเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้คนที่มีความสนใจปลูกผักในพื้นที่เมือง ในเวลานั้นเองที่ครูอุษาผันตัวจากการเป็นคุณครูสู่การเป็นวิทยากรอย่างเต็มตัว และด้วยความรู้ที่ครูอุษาสั่งสมมาตลอดการลองผิดลองถูกและทักษะการสอนหนังสือที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ทำให้สำหรับครูอุษาการเป็นวิทยากรให้ความรู้จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนัก
ปลูกแต่สิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก และการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด
การปลูกผักของครูอุษานั้นเริ่มต้นจากความต้องการที่จะปลูกผักที่ปลอดสารพิษกินเอง ดังนั้น แม้ว่าผักในสวนดาดฟ้าของครูอุษาจะมีมากพอจนสามารถขายและแปรรูปได้ แต่การปลูกผักก็ยังยึดโยงกับความต้องการในบ้านของครูอุษาเป็นหลัก ครูอุษา เน้นย้ำว่า “เราปลูกทุกอย่างที่เรากิน เราชอบกินอะไร เราก็ปลูกอันนั้น คืออาหารที่กินในชีวิตประจำวัน เน้นบริโภคในบ้านก่อน ถ้าเหลือเราก็เอาไปขายเอาแปรรูปต่อ เน้นปลูกตามฤดูกาล”
โดยการแปรรูปสินค้าของครูอุษาก็ยังผูกโยงกับการบริโภคภายในบ้านเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น เต้าหู้ถั่วเหลือง เทมเป้ คอมบุชา กิมจิ ผักดอง และซอสมะเขือเทศ ซึ่งนอกจากนี้แล้ว ครูอุษายังได้นำวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ไปประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายในรูปแบบของอาหารไร้เนื้อสัตว์ หรือ plant-based อีกด้วย โดยเครื่องปรุงอย่างซอสถั่วเหลืองหรือน้ำส้มสายชูหมักก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ครูอุษาทำขึ้นเองทั้งสิ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริเวณชั้น 1 ของอาคารจะมีโหลแก้วหมักเรียงรายอยู่ตามชั้นต่างๆ เป็นจำนวนมาก ครูอุษา เล่าว่า “รุ่นพ่อแม่เราเมื่อก่อนก็ไม่มีน้ำส้มสายชู เขาก็หมักกินกันเอง ซึ่งสิ่งนี้สมัยก่อนครูก็ไม่รู้จนกระทั่งน้ำส้มสายชูหมัก (vinegar) ขึ้นมา มันก็คือน้ำส้มสายชูหมักของแม่เรานี่เอง…พอมาตอนนี้คนกินแพลนต์เบสเขาไม่กินน้ำปลา เราก็หมักซอสถั่วเหลืองเอง สินค้าทุกอย่างที่ขายคือสิ่งที่สอนเรา แม้ตอนนี้เราจะเป็นวิทยากรเป็นครู แต่ในทุกๆ วันเราก็ยังเป็นผู้เรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ด้วยเหมือนกัน”
ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการกันเอง
เมื่อเราถามถึงการดูแลและเคล็ดลับในการทำให้ผักในสวนแข็งแรงและไร้เงาของศัตรูพืช ครูอุษาก็ได้ให้คำตอบที่น่าสนใจกับเราว่า “เราใช้ระบบนิเวศในการจัดการกันเอง เราปลูกแบบวิถีอินทรีย์ เราใช้ปุ๋ยหมัก เราใช้น้ำหมัก แล้วเราก็จะมีตัวที่เขาเป็นศัตรูกันเอง ณ เวลาที่มีตัวเพลี้ยเยอะ แมลงเต่าทองกับแมลงหางหนีบก็จะมาให้คุณ แต่ถ้าคุณฉีดยาฆ่าแมลง ไอ้ตัวที่มันเป็นปฏิปักษ์กันอย่างงี้ มันก็จะตาย แล้วคุณก็ต้องใช้ยาฆ่าแมลงอยู่เรื่อยๆ”
ไก่และเป็ดบนอาคาร
นอกจากผักบนดาดฟ้าแล้ว เมื่อโรงเรียนสอนเด็กเล็กถูกเปลี่ยนเป็นศูนย์การเรียนรู้ พื้นที่บริเวณชั้น 3 ก็ได้ถูกเปลี่ยนเป็นที่เลี้ยงไก่และเป็ด โดยครูอุษาเล่าว่า สัตว์ปีกเหล่านี้คือสัตว์ที่ถูกซื้อมาจากตลาด เป็นสัตว์ที่กำลังรอขึ้นเขียง ครูอุษาจึงซื้อสัตว์เหล่านี้มาเลี้ยงไว้เพื่อเก็บไข่กิน ซึ่งในการเลี้ยงนี้ครูอุษาไม่ได้ทำคอกหรือเล้าอย่างจริงจัง เพียงแต่มีการให้อาหารและเก็บมูลอยู่เป็นประจำ ดังนั้นแล้ว การเลี้ยงไก่และเป็ดในอาคารของครูอุษาจึงไม่มีกลิ่นเหม็นและกลิ่นอับกวนใจ อีกทั้งบริเวณชั้นที่เลี้ยงสัตว์ยังเป็นที่สำหรับผสมปุ๋ยที่ได้จากมูลของสัตว์ ซึ่งปุ๋ยนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งในแปรรูปวัตถุดิบภายในบ้านของครูอุษา
คำแนะนำสำหรับมือใหม่หัดปลูก
สำหรับมือใหม่ที่คิดอยากจะลองปลูกผักและทำสวนบนดาดฟ้าของตนเอง ครูอุษาได้ให้คำแนะนำว่า ควรเริ่มจากปลูกอะไรง่ายๆ เช่นผักที่มาจากตลาด เป็นพืชผักสวนครัวที่กินง่ายปลูกง่าย และเน้นยำว่าควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกจะดีที่สุด
ความมั่นคงทางอาหารกับสวนดาดฟ้า
เมื่อกล่าวถึงความมั่นคงทางอาหาร ครูอุษายิ้มรับและตอบในทันทีว่า การปลูกผักที่ดาดฟ้าคือความมั่นคงทางอาหารอย่างแน่นอน โดยได้กล่าวว่า “ทุกวันนี้ต่อให้โลกไม่มีอาหาร ต่อให้เราออกจากบ้านไม่ได้ ต่อให้เกิดสงครามเราก็ยังรอด ครูอุษาก็ยังรอด เพราะเราปลูกผักกินเอง”
ชีวิต ความสุข และบทเรียนจากสวนดาดฟ้า
ครูอุษาในวัย 58 ปีได้ตกตะกอนและถอดบทเรียนให้เราฟังว่า สุดท้ายแล้วตลอดช่วงเวลาที่ทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินก็ไม่ได้เทียบเท่ากับการที่เราหันมารักสุขภาพของตัวเองเลย ครูอุษามองว่าที่เราตั้งหน้าตั้งตาหาเงินนั้นก็เป็นเพราะเราพะวงว่าจะไม่มีเงินรักษาเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย แต่แท้จริงแล้วในระหว่างที่เราได้บั่นทอนสุขภาพตัวเองไปทีละนิด จะดีกว่าไหมถ้าเราหันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการกินผักที่สด สะอาด และปลอดสารผิด ซึ่งเราสามารถลงมือปลูกเองได้ที่บ้าน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่มากมาย อย่างบ้านครูอุษาก็เป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการจะปลูกผักกินเองไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ พื้นที่เพียงแค่ 13 ตารางวาก็มากเพียงพอต่อการปลูกผักแล้ว
ครูอุษายังได้ทิ้งท้ายกับเราว่า “ถ้าคุณล้มเหลวคือคุณทำผิดวิธี ต้องไปย้อนกลับไปว่าเราพลาดที่จุดไหน เหมือนแก้โจทย์คณิตศาสตร์ เราต้องกลับไปดูวิธีการ ต้องกลับไปแก้ตรงนั้น ถ้าทุกคนทำแบบนี้ได้นะ คนๆ นั้นก็จะกลายเป็น the best ในทุกๆ เรื่อง”