“หงส์เหิน” (ดอกเข้าพรรษา) ปลูกนอกฤดู ตัดดอกขาย ต่อยอดแปรรูป “ ผลิตภัณฑ์ชาเพื่อสุขภาพ” เสริมรายได้

“ หงส์เหิน”   เป็นไม้ดอกที่มีศักยภาพทางการตลาดทั้งในประเทศและส่งออก ที่ผ่านมา คนไทยนิยมนำดอกหงส์เหินไปบูชาพระ จัดแจกัน และจัดกระเช้าดอกไม้สด เนื่องจากหงส์เหินมีอายุการใช้งานมากกว่า 7 วัน ประกอบกับเป็นไม้ดอกที่มีรูปทรงดอกที่แปลกตา ปัจจุบันผู้ซื้อต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ สนใจสั่งซื้อหัวพันธุ์หงส์เหินไปผลิตและจำหน่าย

 

หงส์เหินเป็นพืชในวงศ์ขิงข่ากระจายพันธุ์ในเขตร้อนชื้นและกึ่งร้อนพบในพื้นที่ป่ากระจายทุกภาคของประเทศไทย หัวพันธุ์มีลักษณะเป็นแบบเหง้าสั้น ช่อดอกออกจากปล้องปลายสุดของลำต้นเป็นช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง  ดอกมีลักษณะคล้ายหงส์ ออกดอกในเดือนกรกฎาคม ซึ่งตรงกับเทศกาลเข้าพรรษาจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ดอกเข้าพรรษา”

เดิม ดอกหงส์เหิน สามารถปลูกได้เพียงปีละครั้ง คือปลูกช่วงเดือน เมษายน –พฤษภาคม และออกดอกช่วงเดือน มิถุนายน–สิงหาคม กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ เล็งเห็นความสำคัญของไม้ดอกชนิดนี้ จึงได้สำรวจและรวบรวมหงส์เหินจำนวน 20 สายพันธุ์  ทำการคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ตัดดอกโดยใช้เกณฑ์คัดเลือก คือ สีของช่อดอกสดใส ความยาวช่อดอกไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร ความยาวก้านช่อดอกไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร การเรียงตัวของกลีบประดับถี่ และซ้อนอย่างเป็นระเบียบ สามารถคัดเลือกลักษณะตามเกณฑ์ได้ 5 สายพันธุ์ และตั้งชื่อตามลักษณะของดอก คือ ขาวตาก รวงข้าว ชมพูอ่อน ชมพูเข้มช่อยาวใบตั้ง และชมพูเข้มช่อยาวสระบุรี

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ได้คัดเลือกพันธุ์ที่มีความเหมาะสมในพื้นที่จังหวัดแพร่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์รวงข้าว และพันธุ์ขาวตาก นำไปทดสอบในแปลงเกษตรกร อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ พบว่า การปลูกหงส์เหินทั้ง 2 พันธุ์ มีต้นทุนการผลิต 62,870 บาทต่อไร่ (ประกอบด้วย ค่าไถเตรียมพื้นที่ ค่าแรงงานเตรียมแปลง ปลูก กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยว ค่าหัวพันธุ์ ปุ๋ยเคมี 15-15-15 ปุ๋ยเคมี 13-13-21 ปุ๋ยอินทรีย์ แกลบดิบ ซาแรน ลวดดำ และเสาไม้ไผ่)  โดยหงส์เหินพันธุ์รวงข้าวสร้างรายได้ให้จำนวน 186,912 บาท/ไร่  ได้กำไร 124,042 บาท/ไร่ (จำหน่ายราคาดอกละ 2 บาท) และหงส์เหินพันธุ์ขาวตากสร้างรายได้จำนวน 101,664 บาทต่อไร่ ได้กำไร 38,794 บาทต่อไร่  ซึ่งเมื่อคิดสัดส่วนรายได้ต่อการลงทุนแล้วทั้ง  2 พันธุ์มีความคุ้มค่าที่จะลงทุนปลูกขายเป็นพืชเสริมสร้างรายได้สู่ชุมชน

Advertisement

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ยังได้เพิ่มศักยภาพการผลิตหงส์เหิน โดยศึกษาวิจัยให้หงส์เหินออกดอกนอกฤดู ด้วยวิธีการเก็บรักษาหัวพันธุ์ในห้องควบคุมอุณหภูมิที่ 15-20 องศาเซลเซียส บรรจุหัวพันธุ์ในขุยมะพร้าว เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้นของหัวพันธุ์ ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นาน 6 เดือน จากนั้นนำหัวพันธุ์บ่มในกระบะที่มีขุยมะพร้าว รดน้ำให้มีความชื้น 70 เปอร์เซ็นต์  คลุมด้วยพลาสติกเพื่อรักษาอุณหภูมิให้ได้ 33 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30-45 วัน เพื่อทำลายระยะพักตัวของหัวพันธุ์หงส์เหิน กระตุ้นการงอกของหัวพันธุ์ และย้ายปลูกช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคมเพื่อให้ออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม

Advertisement

อย่างไรก็ตาม หงส์เหินเป็นพืชวันยาว การบังคับให้ออกดอกนอกฤดูจำเป็นต้องให้แสงไฟเพิ่ม 4 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่เวลา 20.00-24.00 น. ภายใต้โรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม   โดยใช้หลอดอินเคนเดสเซ็นต์ ความสว่าง 60 ลักซ์ให้แสงไฟต่อเนื่องหลังจากหงส์เหินงอกใบจริงเป็นระยะเวลา 60 วัน จนกระทั่งออกดอก จะทำให้หงส์เหินมีจำนวนดอก  ความยาวก้านดอก จำนวนใบ และจำนวนหัวพันธุ์ อยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถปลูกเป็นไม้ตัดดอกนอกฤดูได้

การปลูกหงส์เหินนอกฤดูกาล พันธุ์การค้า(พันธุ์ขาวตาก) ในสภาพโรงเรือนต้นแบบการผลิตนอกฤดู จะเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร โดยประยุกต์จากโรงเรือนต้นแบบมีขนาด 12x 24 เมตร สามารถปลูกเต็มประสิทธิภาพของพื้นที่โรงเรือนจำนวน 4,608 ถุง (16 ถุง/ตร.ม.)  มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 33,394 บาท สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรถึง 82,944 บาท (จำหน่ายราคาดอกละ 6 บาท) มีกำไร 49,550 บาท ซึ่งองค์ความรู้ด้านการผลิตหงส์เหินนอกฤดูของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ พร้อมถ่ายทอดให้กับเกษตรกร และกลุ่มผู้ผลิตหงส์เหินในพื้นที่นำไปปรับใช้ต่อไป  ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นางสาววิภาดา แสงสร้อย และนายรณรงค์ คนชม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ตั้งอยู่เลขที่ 205 หมู่ที่ 5ตำบลวังหงส์ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่. โทรศัพท์ 054-520550

แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็น 

ผลิตภัณฑ์ชาเพื่อสุขภาพ 

ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ประกอบด้วย ดร.นพรัตน์ น้อยเจริญ และ ดร.สยาม อัจฉริยประภา ทีมนักวิจัยเล็งเห็นว่า ดอกเข้าพรรษาหรือดอกหงส์เหิน เป็นดอกไม้สำคัญประจำจังหวัดสระบุรี ที่นิยมนำมาสักการะบูชาพระในเทศกาลเข้าพรรษา หลังผ่านเทศกาลดังกล่าวแล้ว ดอกไม้ที่ไหว้พระกลับถูกทิ้งไป เพื่อเป็นการลดปัญหาขยะที่เกิดขึ้น จึงนำดอกเข้าพรรษาที่จะถูกทิ้งนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ชาดอกเข้าพรรษา หรือชาดอกหงส์เหิน และส่งเสริมความรู้ในการเพาะปลูกให้มีจำนวนมากขึ้น เป็นส่วนช่วยส่งเสริมให้ผู้คนชุมชนมีรายได้สามารถพึ่งพาตนเองได้ช่วยแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่คนในชุมชนในอนาคต