ปัตตานีทุ่ ม 186 ล้าน บูมเมืองต้นแบบ ดัน “หนองจิก” โมเดลอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

โมเดลสามเหลี่ยมเมืองหนองจิก ปัตตานีคืบ รัฐทุ่มงบฯ 186 ล้านบาท หนุนโครงการเกษตร-ปศุสัตว์ ดันเอกชนลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ให้สิทธิพิเศษเพียบ นายอำเภอเตรียมหนุนใช้นาร้าง 2.4 หมื่นไร่ ปลูก “ข้าว มะพร้าว ปาล์ม” ตั้งเป้ายกรายได้ต่อหัวผ่านเกณฑ์ จปฐ. ท้องถิ่นตั้งกลุ่มผลิตกุเลาเค็มตันหยงเปาว์สินค้าพรีเมี่ยม
ด้าน บริษัทปาล์มเตรียมขยายกำลังการผลิตภายใน 3 ปี เพิ่มขนาด 120 ตันทะลาย ต่อชั่วโมง หนุนเกษตรกรปลูกปาล์ม เพิ่มสัดส่วนรับผลผลิตในพื้นที่ 70%
ชูหนองจิกโมเดล
นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา
นายอำเภอหนองจิก และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการอำเภอหนองจิก เปิดเผยว่า ปี 2560 ได้ขับเคลื่อนโครงการสนองนโยบายรัฐบาลพัฒนาพื้นที่อำเภอหนองจิกให้เป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยความคืบหน้าปี 2560 ได้รับงบประมาณรวม 154,707,000 บาท สำหรับโครงการส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานีเป็นผู้รับผิดชอบ
แบ่งออกเป็น 1. พัฒนาศักยภาพกลุ่มชุมชนประมงพื้นบ้านบ้านตันหยงเปาว์ 6,846,160 บาท 2. เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล วิสาหกิจชุมชนปลาแห้งท่ายาลอ งบประมาณ 892,800 บาท สมาชิก 35 คน 3. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการผลิตข้าวบ้านท่าด่าน งบประมาณ 2,110,000 บาท สมาชิก 159 คน และ 4. กิจกรรมส่งเสริมและขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 2,800 ไร่ สำหรับอำเภอหนองจิก 465 ไร่ โดยสนับสนุนงบฯขุดร่อง ซื้อพันธุ์ปาล์ม ซื้อปุ๋ย ไม่เกิน 15 ไร่ ต่อครัวเรือน นอกจากนี้ยังส่งเสริมนำร่องปลูกมะพร้าว 4,000 ไร่ โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ และจังหวัดปัตตานี โดยในพื้นที่อำเภอหนองจิก นำร่อง 200 ครัวเรือน
นายอำเภอหนองจิก กล่าวว่า อำเภอหนองจิกมีความสำคัญด้านเกษตร ในอดีต รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินมาที่หัวเมือง ทรงบรรยายสภาพเมืองไว้ว่า หนองจิกเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญ ยาสูบดี โดยสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มอยู่ปลายน้ำ โดยต้นน้ำอยู่ที่เบตง ธารโต ไหลมาปัตตานีผ่านอำเภอเมือง อำเภอหนองจิก แล้วเป็นอ่าวไทย แต่มาปัจจุบันมีการขุดคลองใหม่ๆ ขึ้น ทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามา จนสร้างความเสียหายนาข้าว 2.4 หมื่นไร่ กลายเป็นนาร้าง มองว่าภาครัฐสามารถเข้ามาส่งเสริมให้ปลูกปาล์มเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมได้
ยกระดับกุเลาเค็มตันหยงเปาว์
นายเอก กล่าวว่า จุดเด่นของปัตตานี คือ ประมง โดยภายหลังจากการร่วมมือของชุมชนฟื้นฟูอ่าวปัตตานีทำให้ความอุดมสมบูรณ์กลับมา ในอดีตมีชื่อเสียงเรื่องแปรรูปปลาแห้ง แต่วันนี้ได้ยกระดับเรื่องปลากุเลาเค็ม หลายคนอาจติดหูกุเลาตากใบ แต่ขณะนี้ที่บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อำเภอหนองจิก ทำมาได้ระยะหนึ่งแล้ว มีตลาดรองรับ มีออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมาก เป็นอีกความภูมิใจของชาวบ้านที่มีอาชีพรายได้ มองว่าในอนาคตหนองจิกต้องมีเครือข่าย เช่น ที่สายบุรี และยะหริ่ง จับปลาเก่ง ก็ส่งให้หนองจิก โดยทุกคนเป็นพาร์ตเนอร์ชิป ได้รับประโยชน์ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทุกช่วงต้องมีรายได้
ส่วนด้านปศุสัตว์มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการจัดสร้างตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี ระยะที่ 1 ได้รับงบประมาณประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2560 จากจังหวัดปัตตานี วงเงิน 4,417,000 บาท และระยะที่ 2 อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคาร งบประมาณ 17,099,000 บาท
“ตลาดกลางปศุสัตว์ ขณะนี้อยู่เฟส 1 และเฟส 2 กำลังก่อสร้าง อนาคตอาจจะมีพื้นที่ให้เอกชนมาบริหารจัดการคล้ายฟาร์มโชคชัย จำหน่ายอาหาร สเต๊ก หรือ กาแฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว”
พร้อมกันนี้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการปศุสัตว์โดยส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ ได้รับงบประมาณจากงบฯ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2560 (เพิ่มเติม) วงเงิน 6,607,000 บาท และสนับสนุนกลุ่มโอท็อปปัจจุบันมี 73 กลุ่ม 137 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นโอท็อป 5 ดาว 1 ผลิตภัณฑ์ คือ กลุ่มปลาแห้งยาลอ 2.โอท็อป 4 ดาว 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. น้ำพริกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ตำบลบ่อทอง 2. สาธิตา ขนมพื้นเมือง ตำบลดอนรัก 3 เครื่องแต่งกายมุสลิม ตำบลบางเขา 3. โอท็อป 1 ดาว 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. น้ำพริกกุ้งเสียบ ตำบลบ่อทอง 2. ขนมทองม้วน ตำบลดาโต๊ะ 4. โอท็อปอยู่ระหว่างการส่งเสริมคุณภาพ 131 ผลิตภัณฑ์
ชงงบฯ 600 ล้านสร้างบายพาส
นายอำเภอหนองจิก กล่าวอีกว่า นอกจากงบประมาณในโครงการต่างๆ แล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี อยู่ระหว่างทำเรื่องของบประมาณ 600 ล้านบาท ในการตัดถนนบายพาสเลี่ยงเมือง ถนนหมายเลข 43 สายหาดใหญ่-มะพร้าวต้นเดียว จากวงเวียนมะพร้าวต้นเดียว ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก เชื่อมกับ ถนนหมายเลข 42 ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี เป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการพัฒนาสนามบินบ่อทอง ที่อยู่ในความดูแลของกองกำลังทหารอากาศเฉพาะกิจที่ 9 จะพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ต่อไป
ขณะที่ภาคเอกชนสนใจจะมาลงทุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ โดยคาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนประมาณ 12,000-15,000 ล้านบาท อาทิ โครงการโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ของบริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 60 ตันทะลาย ต่อชั่วโมง เป็น 120 ตันทะลาย ต่อชั่วโมง ภายในปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีโรงงานแปรรูปผลไม้ โรงงานแปรรูปอาหารทะเล และล่าสุด กลุ่มอำพลฟู้ดส์ แสดงความสนใจจะมาลงทุนโรงงานแปรรูปมะพร้าวครบวงจร
ตั้งเป้าลดยากจนตกเกณฑ์ จปฐ.
นายอำเภอหนองจิก กล่าวอีกว่า ปัจจุบันชาวอำเภอหนองจิกมีช่องว่างทางรายได้สูง โดยข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) สำนักงานพัฒนาชุมชน พ.ศ. 2559 ที่จัดเก็บตัวเลขครัวเรือนที่ตกเกณฑ์รายได้ 30,000 บาท ต่อคน ต่อปี ปรากฏว่าหนองจิกตกเกณฑ์ถึง 862 ครัวเรือน มากที่สุดในปัตตานี ทำให้รัฐบาลเข้ามาส่งเสริม วันนี้รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนที่หนองจิกโดยให้สิทธิพิเศษมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางภาษี การนำเข้าเครื่องจักร หรือซอฟท์โลน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ความมั่นคงเป็นลำดับแรก ซึ่งยุทธศาสตร์วันนี้อำเภอหนองจิกเป็นตัวประสานศูนย์ปฏิบัติการอำเภอหนองจิก ที่ผสานพลังประชารัฐ คือ ประชาชน กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และรัฐ ซึ่งเชื่อมั่นจะว่าค่อยๆ คลี่คลายปัญหา
สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ มีสิทธิพิเศษดังนี้ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าร้อยละ 90 สำหรับวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นเวลา 10 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล) ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา 2 เท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเวลา 20 ปี หักเงินลงทุนในการติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกร้อยละ 25 ของเงินลงทุน อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากร
บ.ปาล์มขานรับเพิ่มกำลังผลิต
ด้าน นางสาวณัฐศศิ มณีโชติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด กล่าวว่า ในปี 2559 กำลังการผลิตเดิมอยู่ที่ 45 ตันทะลายปาล์มผลสด ต่อชั่วโมง รองรับได้วันละ 1,000 ตัน ต่อวัน มูลค่ารับซื้อวัตถุดิบปี 2559 จำนวน 869 ล้านบาท โดยเป็นผลผลิตในพื้นที่ 30% ของการซื้อขายทั้งหมด เหตุที่รับซื้อได้น้อยเนื่องจากเกษตรกรยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการปลูกปาล์ม ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ และ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ บางรายผลิตได้เพียงไร่ละ 1 ตัน ต่อปี ขณะที่ในพื้นที่อื่น เช่น กระบี่ สามารถผลิตได้ถึง 5 ตัน ต่อไร่ ต่อปี ปัจจุบันเรามีการรวมกลุ่มให้ความรู้ จ่ายเงินปันผลเพื่อให้เกษตรกรตื่นตัว คาดหวังว่าจะเพิ่มได้เป็น 3 ตัน ต่อไร่ ต่อปี ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อผลผลิตภายในพื้นที่เป็น 70% รองรับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป
“เราพยายามพยุงราคาไม่ให้ต่างมากนัก พยายามอธิบายให้เข้าใจเหตุที่ราคาต่ำ เพราะพันธุ์ไม่ดี ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ เราไม่สามารถให้ราคาที่ดีได้ นอกจากนี้เกษตรกรต้องไม่ตัดปาล์มดิบ โรงงานก็พร้อมจะช่วยสนับสนุนราคา”
สำหรับแผนขยายการผลิต ภายในปี 2561 จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 45 เป็น 60 ตันทะลาย ต่อชั่วโมง วงเงินลงทุนราว 100 ล้านบาท และปี 2563 จะขยายเพิ่มเป็น 120 ตันทะลาย ต่อชั่วโมง เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท นอกจากนี้ จะขยายโรงงานไบโอแก๊ส จากเดิมสามารถผลิตขายการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2 เมกะวัตต์ เป็น 4.8 เมกะวัตต์ ในอนาคต ส่วนทะลายปาล์มนำไปผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เป้าหมาย ซีโร่ เวส กำจัดหมดในโรงงาน
“การขยายของโรงงานแม้จะเพิ่มคนงานอีกไม่มาก เพราะเราใช้เครื่องจักร แต่ตรงนี้จะเป็นห่วงโซ่อุปทาน เริ่มจากเกษตรกรมีการเพาะต้นกล้าขาย ร้านค้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็โตตาม กลุ่มแรงงานรับจ้างปลูก รับจ้างตัดปาล์มก็ขยายตัว”

ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ