มทร.พระนคร ส่งเสริมผู้สูงวัยใช้ประโยชน์จากใบแห้วเหลือทิ้ง ผลิตของที่ระลึก รองรับการท่องเที่ยววิถีชีวิตเกษตรกรนาแห้ว อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี

งาน Sustainability Expo (SX2024) มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้แนวคิดหลักของการจัดงาน “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก”  มีเครือข่ายพันธมิตรจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมแสดงพลังเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน มีการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับโลกใบนี้

สำหรับการจัดงาน Sustainability Expo (SX2024) ในปีนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร ) ได้นำเสนอแนวคิด การพัฒนาสังคมควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ให้เกิดความมั่งคงและยั่งยืนไปพร้อมกับการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนผู้สูงอายุได้มีงานทำและมีรายได้ โดยการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรคือ ใบแห้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก รองรับการท่องเที่ยววิถีชีวิตเกษตรกรนาแห้ว อ.ศรีประจันต์ ภายใต้โครงการ “ ใบแห้ว ราชมงคล ”

การปลูกแห้ว
การงมแห้ว

” แห้วสุพรรณ ” เป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI ) ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ หวาน มัน กรอบ เนื้อแน่น กรุบกรอบ นำมาแปรรูปเป็นอาหารคาว-หวานเช่น ทอดมันแห้ว  แกงส้มแห้ว ทับทิมกรอบ ทองม้วนแห้วฯลฯ

“แห้วสุพรรณ ” มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดอยู่ในอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ. 2566 มีการเพาะปลูกแห้ว 166 ครัวเรือน มีเนื้อที่เพาะปลูก 3,838 ไร่ ผลผลิตแห้วดิบรวม 5,810,400 กิโลกรัม สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชน ประมาณ 118,125,432 บาท และก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชน เช่น อาชีพรับจ้างปอกแห้ว แปรรูปแห้ว ฯลฯ

แห้วสุพรรณ
อาชีพรับจ้างปอกแห้ว.

ที่ผ่านมา จังหวัดสุพรรณบุรีได้ผลักดันให้นาแห้วเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์ ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนในการ “งมแห้ว” ซึ่งคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนชาวศรีประจันต์ (กรมส่งเสริมการเกษตร : 2566) ในการเก็บเกี่ยวแห้ว ต้องใช้มีดตัดใบแห้วออกให้หมด  โดยใช้เคียว หรืออุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า   “เหรียญหวด” เกี่ยวใบออกให้หมดแล้วจึงทำการ “งมแห้ว’ที่ผ่านมา มีใบแห้วเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ยังไม่มีการนำใบแห้วเหลือทิ้งดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนำใบแห้วไปเผาทำลายหรือนำไปคลุมต้นไม้

ดร. ธานี สุคนธะชาติ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการฯ ดังกล่าว ได้นำใบแห้วที่ผ่านการตากแห้งมาทดสอบทางกายภาพประเภทแรงดึงขาดในห้องปฎิบัติการพบว่า  คุณสมบัติเชิงกลของใบแห้ว นำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มเกษตรกรสูงอายุในชุมชนได้นำใบแห้วมาจักสานขึ้นรูปเป็นชะลอม ตะกร้าขนาดเล็กอีกด้วย

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากใบแห้วเหลือทิ้งหลังการเก็บเกี่ยว

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาขยายผลเป็นงานหัตถกรรมหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบแห้วเหลือทิ้ง นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเพื่อการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาสินค้าที่ระลึกในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่มีคุณค่าให้เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวและนำผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ พัฒนาเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์OTOP ต่อยอดคุณค่าทางภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างคุณค่าและมูลค่าทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนส่งเสริมการแก้ไขปัญหาของผู้สูงอายุควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความยั่งยืนสืบไป

Advertisement
กรอบรูปจากใบแห้ว
กระทงจากใบแห้ว ขายดีมากในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพราะความเชื่อที่ว่า ลอย ” แห้ว ” ทิ้งไป