ที่มา | เทคโนโลยีปศุสัตว์ |
---|---|
ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
เผยแพร่ |
โดยทั่วไป การเลี้ยงแพะ มักมีการเจ็บป่วยของแพะที่จะต้องจำเป็นรักษาเบื้องต้น แพะที่มีสุขภาพไม่ดีจำเป็นต้องได้รับการบำรุงและถ่ายพยาธิ ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษานั้นทางกลุ่มผู้เลี้ยงแพะมักได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอท่าแพ และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสตูล ในรูปของกองทุนยาสัตว์ และมีการจัดตั้งอาสาปศุสัตว์ขึ้นเพื่อช่วยดูแลอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะบ้านท่าแพใต้สามัคคี ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ได้นำภูมิปัญญาชาวบ้านใช้พืชสมุนไพรมาช่วยในการรักษาแพะซึ่งได้ผลดี แพะมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น อย่างน่าพึงพอใจ
สำหรับสมุนไพรที่นิยมใช้ในการรักษาโรคสัตว์ของทางกลุ่ม ประกอบด้วย
ละมุดดิบ หรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่า ลูกซาหวา และฝรั่ง ใช้แก้ท้องร่วง ด้วยการให้กินผลและใบสด
ตะไคร้หอม ใช้ไล่ยุงและแมลง ด้วยการทุบให้กลิ่นออกมาหรือการเผา


ฟ้าทลายโจร ใช้ถ่ายพยาธิ ด้วยการบดละลายน้ำให้แพะกินประมาณครึ่งแก้ว
ใบยอและใบหมุย ใช้แก้ไข้ ด้วยการเผารมควันให้แพะที่นอนป่วย



บอระเพ็ดแช่น้ำปัสสาวะ ใช้บำรุงกำลัง ด้วยการนำบอระเพ็ดมาทุบพอแหลก แช่รวมกับน้ำปัสสาวะ 1 คืน ให้แพะกินครั้งละ 1 แก้ว
ตะไคร้ผสมเกลือ ใช้รักษาพยาธิในกระเพาะ ด้วยการนำตะไคร้มาทุบ เติมน้ำพอท่วมตะไคร้ ผสมกับเกลือ ดองไว้ประมาณ 10 วัน ให้แพะกินติดต่อกันนานประมาณ 5 วัน
ว่านหางจระเข้ ใบสาบเสือ ใช้รักษาแผลสด เช่น การนำว่านหางจระเข้มาปอกเปลือก แล้วนำไปปิดทับแผลสด



ใบสะระแหน่ ใบกะเพรา ใช้แก้ท้องอืด ไม่กินหญ้า ด้วยการนำทุกอย่างมาตำรวมกันให้ละเอียดพอประมาณ เติมน้ำ 1 ลิตร กรองเอาแต่น้ำ กรอกให้แพะกินประมาณ 1 แก้ว
ยาสูบ ใช้รักษาอาการเจ็บตา น้ำตาไหล ตาบวม ด้วยการนำยาสูบมาผสมน้ำพอหมาดๆ นำไปเช็ดให้น้ำเข้าตา อย่างน้อย 3 วัน
ลูกและใบแก้มหูหมอ ใช้รักษาฝี ด้วยการนำลูกและใบแก้มหูหมอมาให้แพะกินสด สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง


