ที่มา | เทคโนโลยีประมง |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา. |
เผยแพร่ |
เกษตรกรชาวจังหวัดชัยนาทได้รวมตัวกันจัดตั้ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลากราย เพื่อรวบรวมปลากรายสดขายให้กับผู้รับซื้อโดยตรง ป้องกันจากการถูกเอาเปรียบทางด้านราคาจากพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งพัฒนาช่องทางการแปรรูปเนื้อปลากรายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าของกลุ่ม พร้อมปรับรูปแบบการเลี้ยงปลากรายโดยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้หลักคิดการลดต้นทุนให้มากที่สุดเพื่อทำให้มีรายได้เพิ่ม โดยนำพันธุ์ไม้ผลผสมผสานหลายชนิด อย่างกล้วย มะละกอ มาปลูกบริเวณรอบบ่อเลี้ยงปลา เพื่อสร้างร่มเงา ในบริเวณบ่อเลี้ยงปลาให้มีความร่มรื่น ช่วยให้ปลาไม่เครียดแล้ว ยังนำกล้วยใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารได้อีกทางหนึ่ง
ปรับสูตรอาหารเข้มข้น เร่งผลิตปลากรายคุณภาพ
ขณะเดียวกันได้ติดต่อ โรงงานผู้ผลิตอาหารปลาเพื่อขอปรับสูตรอาหารปลาโดยเน้นเพิ่มสูตรอาหารโปรตีนเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ หวังเสริมสร้างการเจริญเติบโตของตัวปลาทั้งกระดูกและเนื้อ ช่วยให้ปลากรายตัวใหญ่ขึ้น และปรับวิธีการให้อาหารจากเดิมที่ใช้วิธีหว่านเป็นการลงทุนซื้อเครื่องพ่นอาหารแทน ช่วยให้อาหารกระจายไปทั่วบ่อ ปลากรายทุกตัวได้รับอาหารเท่ากัน ทำให้ปลามีขนาดใหญ่ โตเร็วกว่าเดิม สามารถจับปลาขายได้เร็วขึ้น เนื้อปลาหอมหวานและเนื้อแน่นด้วย
ปลูกกล้วยริมขอบบ่อ
ที่ผ่านมา ทางกลุ่มรวมกันซื้อลูกพันธุ์ปลากรายจากนครปฐม ขนาดตัว 3 นิ้ว ได้ในราคาถูกกว่าแยกซื้อ เมื่อได้ลูกปลากรายแล้วนำไปให้สมาชิกตามจำนวนที่แต่ละรายต้องการเพื่อนำไปเลี้ยงในบ่อของสมาชิก
“อาหารของลูกปลาเล็กเป็นเบอร์ 1 เลี้ยงไปจนเวลา 3-4 เดือน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นอาหารเบอร์ 2 จากนั้นอีก 3-4 เดือน ให้เปลี่ยนเป็นอาหารเบอร์ 3 แล้วเลี้ยงต่อไปอีกจนจับขาย ทั้งนี้ ปริมาณอาหารควรสอดคล้องกับจำนวนปลาที่เลี้ยงโดยมีเกณฑ์ว่าควรใช้อาหารประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาทั้งหมดที่เลี้ยงในบ่อ อย่างถ้าปลาที่เลี้ยงจำนวนหมื่นตัวจะให้อาหารประมาณ 2 กิโลกรัม”
เลี้ยงปลาด้วยวิชาการผสมภูมิปัญญา
นอกจากการเลี้ยงปลาด้วยความรู้ทางวิชาการแล้ว ทางกลุ่มยังได้นำความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถือเป็นปราชญ์มาใช้ร่วมกับการเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาการให้อาหารปลาโดยไม่มีแดดจัดหรืออากาศร้อนอย่างในเวลาเช้าตรู่-เย็นก่อนตะวันลับฟ้า
ก่อนถึงเวลาจับปลาขายสัก 2 เดือน เกษตรกรจะเสริมสร้างคุณภาพเนื้อปลาโดยใช้ไข่ผสมกับอาหารปลา หรือใช้กล้วยสุกผสมกับอาหารปลา ทำให้ปลากรายมีสีสวย รสชาติหวานหอม และการปลูกกล้วยและมะละกอไว้ริมขอบบ่อเลี้ยงปลายังช่วยป้องกันศัตรูที่จะเข้ามาทำร้ายปลาด้วย
“ เทคนิคเหล่านี้ช่วยทำให้ปลามีความสมบูรณ์มากและลดเปอร์เซ็นต์การสูญเสีย โดยใช้ระยะเวลาการเลี้ยงปลา ประมาณ 10-12 เดือน การจับปลาแต่ละครั้งจะได้ปลานับหมื่นตัว พื้นที่เลี้ยงปลา 1 ไร่ จะได้น้ำหนักปลาเกือบ 6 ตัน เฉลี่ยตัวละประมาณ 7 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าน้ำหนักมาตรฐานที่กำหนดไว้”
ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มแต่ละรายมีพื้นที่เลี้ยงปลา 2 ขนาด คือบ่อใหญ่มีเนื้อที่ 2 ไร่ สามารถเลี้ยงปลากรายได้จำนวน 20,000 ตัว กับบ่อขนาด 1 ไร่ ที่เลี้ยงปลากรายได้จำนวน 10,000 ตัว ลักษณะการจับปลาขายจะมีรอบการจับของแต่ละบ่อที่กำหนดไว้หมุนเวียนกัน จึงทำให้มีจำนวนปลารองรับความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องไม่ขาดระยะ โดยสมาชิกแต่ละรายจะมีรายได้จากการจับปลาขายประมาณ 1 แสนบาทต่อรอบการเลี้ยงราย
สมาชิกจะเลือกขายปลากรายสดให้กับพ่อค้ารับซื้อ หรือจะแบ่งขายให้กับกลุ่มเพื่อใช้แปรรูปก็ได้ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าปลาสด โดยทางกลุ่มจะนำปลามาขูดเอาเนื้อออกเพื่อขายเฉพาะเนื้อ ในแต่ละวันมีจำนวนเนื้อปลากรายที่ขูด 80-100 กิโลกรัม แล้วสามารถขายได้หมดทุกวัน เรียกว่าขูดสด ขายสด ทุกวันเลย
เลี้ยงปลาผสมผสาน หวังลดต้นทุนในอนาคต
เพื่อเป็นการป้องกันต้นทุนการเลี้ยงปลาในอนาคตที่ไม่แน่นอน จึงหาทางออกด้วยการทดลองเลี้ยงปลานิล ปลากราย และปลากดคัง ผสมผสานในบ่อเดียวเพื่อให้ปลาแต่ละชนิดเกื้อกูลกัน เริ่มจากการปล่อยลูกปลานิลที่มีอายุ 2 เดือน ขนาดสัก 2-3 นิ้ว จำนวน 2,000-2,500 ตัว ลงไปเลี้ยงก่อนสัก 2 เดือน ปลานิลกินพืชเป็นอาหารจึงแทบไม่ต้องลงทุนค่าอาหาร จนเมื่อปลานิลมีลูกเกิดขึ้นจึงปล่อยปลากรายขนาด 3 นิ้ว จำนวนสักหมื่นตัว แล้วใช้ลูกปลานิลเป็นอาหารปลากราย ขณะที่ปลากรายกินลูกปลานิลไม่หมดจะเหลือเป็นเศษไว้ ก็เลยทำให้ปลากดคังกินเศษที่เหลือจากปลากรายเป็นอาหาร
ผลการทดลอง สามารถช่วยลดค่าอาหาร สภาพน้ำในบ่อไม่เน่าเสียหรือไม่ต้องถ่ายบ่อย เพราะไม่มีเศษอาหารหลงเหลือ และ ไม่ต้องเดือดร้อนกับการขยับราคาซื้อ-ขายปลาแต่ละชนิดเพราะมีต้นทุนต่ำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะได้กำไรมาก-น้อยเท่าไร
“ แนวทางนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเลี้ยงปลาแบบเดิมได้ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขสูงมาก แล้วที่สำคัญมีรายได้ที่เกิดจากการขายปลาทั้ง 3 ชนิด ถือเป็นการชดเชยรายได้ แนวทางนี้ถือเป็นทางเลือกที่ดีและเกิดประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างแท้จริง”
หากใครสนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ปลากราย หรือสนใจเข้าศึกษาดูงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลากราย จังหวัดชัยนาท ติดต่อได้ที่ คุณสิทธิชัย ลิ้มตระกูล โทรศัพท์ 089-745-0399 หรือติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มได้ที่ Fb : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลา กรายจังหวัดชัยนาท
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564