รู้จัก “หยาดวานรพักตร์” หรือ “ดอกไม้หน้าลิง” พืชชนิดใหม่ของโลก เจอครั้งแรกที่เมืองลพบุรี

มรภ.เทพสตรี ลงพื้นที่สำรวจ “หยาดวานรพักตร์” 1 ใน 4 พืชชนิดใหม่ของโลก เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์ ฟื้นฟู และต่อยอดการทำวิจัย

เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ศศิวิมล สุทธิสาร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น ดร.ศตพล มุ่งค้ำกลาง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คุณพูลสวัสดิ์ ถือคง นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระงาม คุณอารีย์ ฤกษ์สภาพ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลพบุรี และคณะลงพื้นที่สำรวจ “หยาดวานรพักตร์” พืชชนิดใหม่ของโลก บริเวณเขาหินปูนภายในวัดเขาทุ่งสิงโต ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

“หยาดวานรพักตร์” ถูกค้นพบโดยทีมนักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ในสกุลหยาด (Microchirita) ซึ่งพบในระบบนิเวศเขาหินปูน บริเวณวัดทุ่งสิงโต และวัดเขาพระงาม ซึ่งเป็นเทือกเขาเดียวกันในพื้นที่ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี

หยาดวานรพักตร์ อยู่ในชนิด ‘simia’ ซึ่งในภาษาละติน หมายถึง ลิง มาจากลักษณะของดอกที่ดูคล้ายหน้าลิงเมื่อมองจากด้านหน้า จึงถูกเรียกว่า “ดอกไม้หน้าลิง” ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita simia D. J. Middleton, Thananth., Tetsana & Suddee  จัดอยู่ในกลุ่มไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30 เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำ สีม่วงแดงเข้มตลอดต้น มีขนสั้นหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ยกเว้นใบที่โคนต้น เรียงเวียน มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน หลอดกลีบดอกด้านนอกส่วนบนสีม่วงแดง ส่วนล่างสีเหลืองสด ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกส่วนบนสีม่วงแดง ส่วนล่างมีแถบสีเหลืองสดและม่วงแดงเข้มสลับกัน โคนหลอดกลีบดอกด้านในมีเส้นสีม่วงจางและเข้มสลับกัน

Advertisement

การค้นพบดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) ประจำปี 2024 แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของ “พืชสกุลหยาด” โดยพบถึง 41 ชนิด จากทั้งหมด 51-55 ชนิดทั่วโลกอีกด้วย เทศบาลเขาพระงามมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ดังกล่าว จึงประสานงานให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีร่วมวางแนวทางอนุรักษ์ ฟื้นฟู และต่อยอดการทำวิจัยในอนาคต

Advertisement

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลพบุรี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี