ที่มา | เทคโนโลยีปศุสัตว์ |
---|---|
ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
เผยแพร่ |
ไก่แจ้ ถูกจัดให้เป็นไก่สวยงาม แบ่งเป็นไก่ไทยและไก่สากล ไก่ไทยมีความโดดเด่นเรื่องสีสันมากกว่า ส่วนไก่สากลได้เปรียบเรื่องคุณลักษณะที่สวยงาม สำหรับไก่ฟอร์มประกวดจะยึดลักษณะของไก่สากล แต่ความสวยงามจะพิจารณาสีตามแบบไก่ไทย หากใครสามารถเพาะไก่ลูกผสม ที่มีลักษณะไก่แบบฟอร์มประกวด มีสีแบบไก่ไทย จัดว่าเป็นไก่แจ้ราคาดี การเลี้ยงไก่แจ้เพื่อความสวยงาม ราคาซื้อขายขึ้นกับกระแสและความนิยมสีสันของไก่ เช่น สีขาวหางดำ ไก่แจ้สีเบญจรงค์ เป็นต้น
คุณธรรมรัตน์ สมเสร็จ เจ้าของฟาร์มไก่แจ้ “น้ำพักน้ำแรง” เลขที่ 1/6 ซอย 3 หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โทรศัพท์ 087-821-4803 ได้แบ่งปันเทคนิคการเลี้ยงไก่แจ้ ให้กับผู้สนใจเลี้ยงไก่แจ้มือใหม่ ดังนี้
เริ่มเลี้ยงตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบ
สำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่ควรฝึกพื้นฐานการเลี้ยงไก่แจ้ตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบ โดยใช้หลักการดูแลไก่แจ้เล็กเหมือนกับการเลี้ยงไก่ทั่วไป ให้อาหาร ให้น้ำผสมวิตามิน ให้ความอบอุ่น กรงควรมีมุ้งกันยุง ให้วัคซีนตามวัยที่กรมปศุสัตว์กำหนด หลังจาก 1 เดือน ไม่จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิด แต่ควรเพิ่มขนาดพื้นที่กรงให้เหมาะสม ควรปล่อยเลี้ยงไก่รุ่นหรือไก่ใหญ่ตามธรรมชาติ โดยมีพื้นที่หลบแดดหรือฝน ไก่ใหญ่ควรมีที่นอน มีคอนให้เกาะนอน ใช้วิธีกึ่งเลี้ยงกึ่งปล่อย ใช้หัวอาหารไก่ไข่หรือไก่พื้นเมืองเป็นอาหาร
การผสมพันธุ์ไก่แจ้
สำหรับการผสมพันธุ์ไก่แจ้ตามธรรมชาติ ใช้ไม่ได้กับการเลี้ยงไก่แจ้แบบฟาร์ม ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ไก่แจ้ โดยมนุษย์ใช้อาหารเป็นตัวเร่งให้ไก่เป็นหนุ่มเป็นสาวไวขึ้น ไก่แจ้อายุ 5-6 เดือน จะมีไข่หรือมีเชื้อ สามารถเริ่มต้นผสมพันธุ์ได้
โดยธรรมชาติไก่แจ้จะออกไข่ครั้งละฟอง หากทิ้งไว้ให้ไข่และฟักเองจะได้ไข่ประมาณ 6-8 ฟอง แต่ถ้าเก็บไข่ทุกวันอาจเก็บไข่ได้มากถึง 24 ฟองในไก่แม่เดียว เพราะหลังจากเราเก็บไข่มาแล้ว ไก่จะเข้าใจว่ายังไม่ได้ไข่จึงไข่ออกมาอีกเรื่อยๆ หลังเก็บรวบรวมไข่ได้แล้ว จึงค่อยนำเข้าตู้ฟัก เพื่อให้ไข่ฟักออกมาพร้อมกัน
ระหว่างรอนำไข่เข้าตู้ฟัก ควรวางด้านป้านของไข่ขึ้นด้านบน ให้ด้านแหลมของไข่ลงต่ำ เพราะภายในไข่ด้านป้านจะมีฟองอากาศอยู่ หากวางไม่ถูกลักษณะอาจทำให้เชื้อภายในไข่ตายได้ ทุกครั้งที่เก็บไข่มาเรียงก่อนนำเข้าตู้ฟัก ควรทำสัญลักษณ์ที่ไข่ เพื่อให้ทราบว่าเป็นไข่ของไก่ตัวไหน หากพบว่าไข่ที่เก็บมาฝ่อ ไม่มีเชื้อ สามารถนำไข่ไก่ใบนั้นมาต้มให้สุกคลุกกับอาหารให้ไก่แจ้อื่นกินได้ เพื่อประหยัดต้นทุนค่าอาหารไก่ได้ส่วนหนึ่ง
หลังไข่ฟักแล้ว ลูกเจี๊ยบอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 สัปดาห์ ควรแยกเลี้ยงในห้องอนุบาล 1 เพื่อให้ความอบอุ่นด้วยแสงสว่างจากหลอดไฟ จากนั้นนำเข้ากรงอนุบาล 2 ซึ่งเป็นลูกเจี๊ยบอายุ 1-6 สัปดาห์ ที่ให้ความอบอุ่นด้วยแสงสว่างจากหลอดไฟ จากนั้นย้ายเข้ากรงอนุบาล 3 ซึ่งเป็นกรงปิดที่ไม่มีลมพัดผ่าน เพื่อป้องกันไก่หนาวตายได้ อายุของไก่ในชั้นอนุบาล 3 ระหว่าง 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน
หากเลี้ยงในปริมาณมาก ลูกเจี๊ยบที่อยู่ระหว่างอนุบาล ควรเริ่มทำวัคซีนตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด ไก่แจ้ที่เลี้ยงเพื่อความสวยงามในปริมาณน้อย ไม่จำเป็นต้องทำวัคซีนก็ได้ เพราะโอกาสภูมิคุ้มกันบกพร่องเกิดขึ้นได้ไม่มาก
ข้อควรระวังในการเลี้ยงไก่แจ้
การเลี้ยงไก่แจ้ มีข้อควรระวังไม่แตกต่างจากการเลี้ยงไก่โดยทั่วไปคือ ไม่ควรปล่อยให้ไก่ร้อนจัดหรือหนาวจัด เพราะอาจทำให้ไก่เป็นหวัด หากพบว่าไก่เป็นหวัด ควรให้กินยาสามัญของไก่ หรือพืชสมุนไพร ผัก และหญ้า เพื่อลดอาการหวัด
กรงไก่ โดยทั่วไปนิยมต่อเป็นชั้นๆ คล้ายคอนโดฯ โดยขนาดมาตรฐานกรงไก่อยู่ที่กว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และสูง 90 เซนติเมตร สามารถเลี้ยงไก่ได้จำนวน 3 ตัว ควรเลี้ยงไก่แจ้เพศผู้ 1 ตัว และเพศเมีย 2 ตัว สามารถเลี้ยงน้อยกว่านี้ได้ แต่ไม่ควรเลี้ยงไก่ตัวเดียว เพราะไก่แจ้เป็นสัตว์ชอบสังคม