ที่มา | เก็บมาเล่า |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
ดินเค็ม (saline soil) คือดินที่มีเกลือที่ละลายได้ในสารละลายดินปริมาณมาก มีผลกระทบต่อการปลูกพืช เพราะเกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารมีความเป็นพิษของธาตุโซเดียมและคลอไรด์ พืชที่ปลูกไม่เจริญเติบโต ลำต้นแคระแกร็น ให้ผลผลิตต่ำ ปัญหาดินเค็มพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และพื้นที่ชายทะเลของประเทศไทย ดินเค็มแต่ละประเภทมีสาเหตุการเกิดชนิดของเกลือ การแพร่กระจายขยายอาณาเขต และวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน
เจอค่าความเค็มสูงกว่ามาตรฐาน
ในพื้นที่การเกษตร 5 ลุ่มน้ำ
ในช่วงปลายปี 2563 พบว่าหลายพื้นที่การเกษตรจำนวนมากมีค่าความเค็มสูงกว่ามาตรฐาน โดยวัดจากสถานีสูบน้ำแต่ละจุดที่รับน้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง ปราจีนบุรี มีค่าความเค็มสุงสุดที่วัดได้คือ 29.66 กรัมต่อลิตร ที่สถานีบางแตนมีค่าความเค็ม 5.39 กรัมต่อลิตร ในขณะที่เกณฑ์เฝ้าระวังความเค็มสำหรับการเกษตรอยู่ที่ 2 กรัมต่อลิตรเท่านั้น ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถสูบน้ำมาใช้ทางการเกษตรได้
การรุกล้ำของน้ำเค็มในลุ่มน้ำบางปะกง
ปัญหาใหญ่ของแม่น้ำบางปะกงคือ การรุกล้ำของน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง หลังผ่านฤดูฝนในช่วงเดือนพฤศจิกายนแล้ว น้ำทะเลจะหนุนสูง ดันน้ำจืดไปจนถึงจังหวัดปราจีนบุรี ช่วงที่ฝนตกตามฤดูกาล ช่วงเดือนกรกฎาคมจึงจะมีปริมาณน้ำจืดเพียงพอที่จะดันน้ำเค็มไปยังปากแม่น้ำ เกษตรกรจึงสามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำบางปะกงได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมเท่านั้น แต่ปัจจุบันผลกระทบจากภาวะอาการแปรปรวน ทำให้ฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำเค็มไหลออกช้ากว่าปกติ
ข้าวนาปีที่จะต้องปลูกข้าวในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ก็ไม่สามารถปลูกได้เพราะไม่มีน้ำจืดเพียงพอที่จะดันน้ำเค็มให้ออกปากแม่น้ำ และการเลื่อนปลูกข้าวไปช่วงเดือนกรกฎาคม ก็จะส่งผลให้ข้าวไม่ได้ผลผลิตหรือผลผลิตเสียหาย ซึ่งโดยปกติผลผลิตข้าวปทุมธานี 1 ที่ปลูกในพื้นที่ประมาณ 900-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ หลังได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกล้ำ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตเก็บเกี่ยวข้าวได้ลดลงแค่ 600-700 กิโลกรัมต่อไร่ แถมเกษตรกรบางรายไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลย ต้องรื้อแปลงทำใหม่ เพราะช่วงข้าวออกดอกตรงกับช่วงสิ้นสุดฤดูฝน ทำให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาพอดี จากสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำ ทำให้เกษตรกรทำนาได้ปีละ 1 ครั้งเนื่องจากไม่มีน้ำจืดที่เพียงพอ จึงเกิดภูมิปัญญาการทำนาของเกษตรกรในตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เรียกว่า นาขาวัง เป็นการทำนาร่วมกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ผืนเดียวกัน
น้ำเค็มรุกล้ำภาคเกษตรลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
พื้นที่ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ที่ทำนาประมาณ 1,500 ไร่ ผลผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นตัวเลขกว่า 800 ไร่ เพราะหลังจากข้าวออกดอก ไม่มีการผสมเกสร เมล็ดข้าวลีบ ฯลฯ เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดสงขลาในเขตอำเภอระโนด กระแสสินธุ์ และสทิงพระ เนื่องจากคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมจากน้ำจืด น้ำกร่อย กลายเป็นน้ำเค็ม หลังจากน้ำเค็มรุกล้ำขึ้นมา
โดยปกติ ชาวนาอาศัยน้ำจืดจากแหล่งต้นน้ำธรรมชาติจากเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาสันกาลาคีรี เพื่อทำนาระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม สำหรับการทำนาครั้งที่ 1 เรียกว่า “ทำนาหลังน้ำท่วม” ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน หากความเค็มของน้ำที่เข้ามามากกว่า 1.5 กรัมต่อลิตร จะทำให้พืชไม่สามารถทนได้ จะได้ผลผลิตข้าวเพียง 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ หรือไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลย เนื่องจากข้าวผสมเกสรไม่ติด เกิดเมล็ดลีบ ต้นข้าวเปื่อยยุ่ยตาย
ส่วนทำนาครั้งที่ 2 เรียกว่า “ทำนาก่อนน้ำท่วม” จะพักพื้นที่นาตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำท่วม น้ำจากแหล่งต้นน้ำจะท่วมไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาและระบายออกสู่ทะเลอ่าวไทย ระยะนี้ชาวนาในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถทำนาได้ เนื่องจากน้ำท่าท่วมสูงเกิดความเสียหายทุกปี
วิจัยพันธุ์ข้าวทนเค็ม
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และกรมการข้าวเล็งเห็นปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตะวันออก เช่น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม เพชรบุรี และฉะเชิงเทรา ฯลฯ รวมทั้งพื้นที่ภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และปัตตานี ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากไม่สามารถทนต่อความเค็มที่สูงขึ้นกว่าปกติได้ ทำให้ต้นพืชมีอาการขาดน้ำ คือปลายใบไหม้ ต้นเหี่ยวเฉา ใบเหลือง หากพืชอยู่ในระยะกำลังเริ่มสร้างช่อดอกหรือผสมเกสรจะส่งผลให้ช่อดอกไม่พัฒนาต่อ ไม่เกิดการผสมเกสร ผลผลิตจะลดลงตามมา
ด้วยเหตุนี้ สวก. กรมการข้าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมมือกันดำเนินโครงการวิจัยคัดเลือกพันธุ์ข้าวทนเค็มโดยนำพันธุ์ข้าวจากโครงการความหลากหลายทางพันธุ์กรรมและการคัดเลือกพันธุ์ทนเค็ม ทนแล้งของข้าวพื้นเมืองของจังหวัดเพซรบุรี ในปี 2565 ทำการประเมินผลการเจริญเติบโต ผลผลิตข้าวแต่ละพันธุ์ และการชิมข้าว ในแปลงทดสอบพันธุ์แต่ละพื้นที่พบว่า เกษตรกรมีแนวโน้มยอมรับพันธุ์ข้าว กข77 กข55 พันธุ์ไร่มะขาม และเหลืองชะออม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกล้ำ ปี 2567 จะทำการประเมินพันธุ์/สายพันธุ์ข้าว ชนิดต่างๆ รวมทั้งพันธุ์รับรองของกรมการข้าว เช่น กข43 กข55 กข77 กข91 กข109 ส่วนพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดเพชรบุรี เช่น ไร่มะขาม เข็มทอง เหลืองชะออม เหลืองตาปลื้ม เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกล้ำได้มีพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการ ไปปลูกในพื้นที่ต่อไป