เผยแพร่ |
---|
“แผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” คือ 1 ใน 6 แผนพัฒนาพื้นที่อีอีซี หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีสู่การเป็น “เขตเศรษฐกิจชั้นนำแห่งอาเซียน” ของประเทศไทย
ซึ่ง “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” ที่แข็งแกร่ง จะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับ “การขับเคลื่อนชุมชน” ให้เกิดความตระหนักต่อเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ที่ไม่ได้เป็นเพียง “ผู้นำการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน” เช่นที่ผ่านมา แต่ยังครอบคลุมถึง “การส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยทางสภาวะแวดล้อม” อีกด้ว
รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ ผู้อำนวยการ และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาพัฒนาสุขภาพ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยการประปาส่วนภูมิภาค และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากการลงพื้นที่อีอีซีสำรวจพฤติกรรมการใช้น้ำของประชาชนในเขตพื้นที่อีอีซี เพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบ “สมดุลน้ำ-สมดุลเศรษฐกิจ” โดยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Journal of Environment and Sustainability Indicators”
พบว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการ “บริหารจัดการน้ำ” จากสมมุติฐานที่ว่า “ไม่มีผู้ใดยอมรับโดยง่ายว่าใช้น้ำเปลือง คิดกันแต่ว่าทุกวันนี้ใช้น้ำกันอย่างประหยัดอยู่แล้ว” หนึ่งในเหตุผลสำคัญเนื่องจากเป็นบริการโครงสร้างพื้นฐานที่ผู้ใช้ต้องลงทุน จึงคิดว่าไม่น่าจะมีผู้ใดกล้าใช้น้ำเปลือง
แต่เมื่อมาพิจารณาในรายละเอียด ด้วยการไม่ได้มองเพียง “การใช้น้ำส่วนบุคคล” แต่ยังรวมถึงระดับ “ครัวเรือน” และ “ชุมชน” พบว่ามีอัตราการใช้น้ำใน “ความเป็นจริง” ที่แตกต่างจากการใช้น้ำใน “ความรู้สึก”
เช่นเดียวกับการทำ “บัญชีรายรับ-รายจ่าย” ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการ “ควบคุมค่าใช้จ่าย” หากจ่ายโดยไม่ลงรายละเอียดเลยว่าใช้จ่ายในเรื่องอะไร เพื่ออะไร เป็นจำนวนเงินเท่าใด ก็อาจไม่ทันได้ตระหนักถึง “ตัวการสำคัญ” ที่ทำให้ “รายจ่ายเกินรายรับ”
โดยในการบรรลุเป้าหมายเพื่อลดใช้น้ำให้ได้ร้อยละ 15 ตามนโยบายรัฐ ไม่ได้นับเฉพาะ “ภาคอุตสาหกรรม” ที่ส่วนใหญ่ถึงพร้อมด้วย “ระบบควบคุมการใช้น้ำ” เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อ “ต้นทุน” อยู่แล้ว หรือ “การสูญเสียในระบบท่อ” ที่อาจเกิดขึ้นได้กับท่อที่อยู่ในบริเวณชั้นใต้ดินโดยทั่วไป แต่คือ “ภาพรวมของชุมชน” ที่ต้องหันกลับมาดูแล “การสื่อสารภายในบุคคล” (Self-Perception)
โดยผู้วิจัยได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ “กลยุทธ์ประหยัดน้ำเพิ่ม” ตามบทสรุปของงานวิจัยที่ได้จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) พบว่า ชุมชนสนใจเรื่อง “การใช้เทคโนโลยี” ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ “อำนาจในการใช้จ่าย” ซึ่งอาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ตั้งแต่การเปลี่ยนไปใช้ “ก๊อกประหยัดน้ำ” การสร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ที่เป็นการนำน้ำไปเก็บไว้ในชั้นใต้ดิน แล้วค่อยนำกลับมาใช้ในยามคับขัน ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยี “เปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดพร้อมใช้” ซึ่งต้องอาศัย “ต้นทุน” เป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนหลักจากทางภาครัฐ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “การวางระบบบริหารจัดการน้ำ” ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้น้ำได้อย่างประหยัดและคุ้มค่าเพิ่มมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาถึง “คุณภาพน้ำ” ร่วมด้วย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-849-6210