ผู้เขียน | นายภักดี ทิพย์ไกรลาศ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อพูดถึงจังหวัดพังงา เชื่อว่าใครหลายๆ คนคงนึกถึงทุเรียนสาลิกา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นราชาทุเรียนพื้นบ้านของภาคใต้ และเป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วยลักษณะที่แตกต่างและโดดเด่นจากสินค้าจากแหล่งอื่นๆ คือ ผลค่อนข้างกลม เนื้อสีเหลืองหนาละเอียด รสชาติหวานมัน และบริเวณกลางแกนผลมีสนิมสีแดงทุกผล แต่ด้วยแนวโน้มหรือทิศทางการปลูกทุเรียนพันธุ์การค้าอย่าง “หมอนทอง” ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีพื้นที่การปลูกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากทุเรียนหมอนทองถือเป็นทุเรียนพันธุ์การค้าเพื่อการส่งออก และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ส่งผลให้มีผลตอบแทนต่อไร่สูง จากการเก็บข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาและสำนักงานเกษตรอำเภอ พบว่าในปี พ.ศ. 2567 จังหวัดพังงามีพื้นที่การปลูกทุเรียนหมอนทองกว่า 6,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดพังงา โดยเฉพาะในพื้นที่ 7 อำเภอหลัก อย่างอำเภอตะกั่วป่า อำเภอคุระบุรี อำเภอท้ายเหมือง อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอทับปุด และอำเภอกะปง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
นายอำนวย แออุดม เกษตรจังหวัดพังงา กล่าวว่า เส้นทางทุเรียนหมอนทองคุณภาพของจังหวัดพังงา ซึ่งได้ดำเนินการตามแนวทางของจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดชุมพรที่ถือเป็นจังหวัดต้นแบบในการผลิตทุเรียนพันธุ์การค้าของภาคตะวันออกและภาคใต้ เริ่มจากการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด ซึ่งเริ่มดำเนินการตามแนวทางของจังหวัดจันทบุรีใน ปี พ.ศ. 2566 และดำเนินการตามแนวทางของจังหวัดชุมพรใน ปี พ.ศ. 2567 โดยออกประกาศและคำสั่ง จำนวน 4 ประกาศ 1 คำสั่ง คือ 1) ประกาศมาตรการในการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด 2) ประกาศมาตรการดำเนินคดีแก่ผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ 3) ประกาศการกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน 4) ประกาศขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการตรวจก่อนตัด และ 5) คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานและชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด โดยจังหวัดพังงาได้มีการจัดตั้งจุดบริการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนสำหรับเกษตรกรที่ต้องการตัดทุเรียน (พันธุ์หมอนทอง) เพื่อนำไปจำหน่ายล้งเพื่อการส่งออก ก่อนวันที่ 15 มิถุนายน 2567 ประกอบด้วยจุดบริการสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา 1 จุด และจุดบริการสำนักงานเกษตรอำเภอ 5 จุด คือ อำเภอท้ายเหมือง อำเภอกะปง อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอคุระบุรี มีเกษตรกรมาใช้บริการทั้งสิ้น 49 ราย 49 ตัวอย่าง ผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนพบว่า ผ่านเกณฑ์ 43 ตัวอย่าง (น้ำหนักแห้งไม่ต่ำกว่า 32 เปอร์เซ็นต์) และไม่ผ่านเกณฑ์ 6 ตัวอย่าง (น้ำหนักแห้งต่ำกว่า 32 เปอร์เซ็นต์) นับเป็นการป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งทุเรียนไปจำหน่ายยังล้ง (โดยเฉพาะในจังหวัดชุมพร) และกรมวิชาการเกษตรสุ่มตรวจอีกครั้งก่อนปิดตู้เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ
นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการของจังหวัดพังงา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อดำเนินการจัดอบรมหลักสูตร “นักคัด นักตัดทุเรียน มืออาชีพ” ซึ่งก่อนหน้านี้มีจังหวัดที่ปลูกทุเรียนเป็นหลักอย่างจังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดระนอง และจังหวัดยะลา ได้ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรดังกล่าวไปแล้ว โดยจังหวัดพังงามีเกษตรกรเป้าหมายเข้าร่วมอบรมกว่า 100 ราย ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มทักษะการเก็บเกี่ยวทุเรียนโดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองคุณภาพของเกษตรกรของจังหวัดพังงา เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรของจังหวัดพังงาให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก นายดำรงค์ศักดิ์ สินศักดิ์ หรือที่รู้จักกันในนาม “ผู้ใหญ่ดำรงค์ศักดิ์” เกษตรกรต้นแบบและประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจากสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพรร่วมเป็นวิทยากร ในช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ซึ่งการเก็บเกี่ยวหรือการคัดและตัด ถือเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนสุดท้ายที่เป็นตัวกำหนดทุเรียนหมอนทองคุณภาพก่อนถึงมือผู้บริโภคต่อไป
เดินหน้าพัฒนาต่อยอดการพัฒนาทุเรียนหมอนทองพังงา โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาได้กำหนดทุเรียนหมอนทองให้เป็นไม้ผลอัตลักษณ์ ซึ่งมีแผนขับเคลื่อนภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของกรมส่งเสริมการเกษตร ในปี พ.ศ. 2568 เพื่อพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น มุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกร เศรษฐกิจและสังคมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งมีเรื่องราวแหล่งกำเนิดสินค้า (Story) ที่ทำให้สินค้ามีความแตกต่างและโดดเด่นจากสินค้าจากแหล่งอื่นๆ สามารถสร้างมูลค่าและนำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรในการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ต่อไป ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การจัดทำแปลงเรียนรู้ต้นแบบ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การจัดชั้นคุณภาพ การพัฒนาสู่การขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ฯลฯ