ม.มหิดล สร้าง “ฐานกำลัง” พร้อมมุ่งสู่ “โลกวิจัย Deep tech” ที่ท้าทาย

ประเทศไทยกำลังเป็นที่น่าจับตา ในฐานะ “ฐานกำลัง” สู่ “โลกวิจัย Deep tech” หรือเทคโนโลยีขั้นสูงที่ท้าทาย

อาจารย์ ดร.นริศรา โกมลวรรธนะ หัวหน้าศูนย์ชีววัตถุการแพทย์ชั้นสูงเพื่อการรักษา (Center for Advanced Therapeutics) หรือ “ศูนย์ CAT” สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเสริม “ฐานกำลัง” สู่ “โลกวิจัย Deep tech” ของชาติ เพื่อขยาย “งานวิจัยพื้นฐาน” โดยเฉพาะในเรื่องโมเลกุลชีวภาพ เช่น อาร์เอ็นเอ เพปไทด์ โปรตีน สู่ “อุตสาหกรรมทางการแพทย์” ที่มีมูลค่าสูง

ผลงานวิจัยเด่นภายใต้ “ศูนย์ CAT” ที่นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ การทุ่มเทค้นคว้าและวิจัยโรคทางพันธุกรรม และยารักษาโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ เช่น โรคมะเร็ง โรคไข้เลือดออก มายาวนาน จนปัจจุบันสามารถใช้ “เทคโนโลยีการดัดแปลงทางพันธุกรรม”

สร้างสรรค์งานวิจัยการแพทย์ชั้นสูง อันเป็นความหวังแห่งมวลมนุษยชาติ สร้างระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้ห่างไกลจากโรคทางพันธุกรรมดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีผลงานเด่นด้าน “โปรตีโอมิกส์” (Proteomics) หรือการศึกษาเกี่ยวกับโปรตีน ที่จะนำไปสู่การแก้ไขกลไกการเกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคทางเมทาบอลิซึม ในรูปแบบของการผลิตสารโปรตีนที่มีสมบัติจำเพาะต่อการสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยสามารถใช้เป็นแพลตฟอร์มในการต่อยอดพัฒนาสู่การผลิตโปรตีนต้านโรคอื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต

ข้อได้เปรียบของ “ศูนย์ CAT” นอกจากการถึงพร้อมด้วย “องค์ความรู้” และ “เครือข่าย” ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังถึงพร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นำสมัย เช่น การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สร้างแบบจำลองทางการแพทย์แทนการทดสอบในสัตว์ทดลอง การใช้เครื่องวิเคราะห์และทำนายโครงสร้างโปรตีนและยา นำไปสู่การทดสอบประสิทธิภาพยาศักยภาพสูง ซึ่งสามารถสร้างผลงานวิจัยใหม่ๆ พร้อมเริ่มต้น และดำเนินการต่อไปได้อย่างเต็มที่

ร่วมด้วยศักยภาพแห่งการสร้างสรรค์ สู่การผลิต “ชีวภัณฑ์ต้นแบบ” ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จาก “ศูนย์เสริมสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพจากนวัตกรรม” หรือ “MU Bio” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนขยายผลสู่การผลิตเป็นจำนวนมากในระดับอุตสาหกรรม ด้วย “ต้นทุนการผลิต” ที่ต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ

Advertisement

และจะยังคงยึดมั่นในพันธกิจหลักเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน จากการสร้างงานวิจัยคุณภาพที่พร้อมส่งเสริมสุขภาวะประชาชน และเศรษฐกิจชาติให้มั่นคงสืบไป ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ภาพจาก สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210