อาหารแปรรูป-อาหารแช่แข็ง กินได้ปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงอาหารปรุงสด 

ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร จุฬาฯ ชี้ อาหารแปรรูป-อาหารแช่แข็ง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวก ประหยัดเวลา สะอาด ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับอาหารปรุงสด แนะบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม อ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์และเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน 

รศ.ดร.กิติพงศ์ อัศตรกุล

รศ.ดร.กิติพงศ์ อัศตรกุล หัวหน้า​ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร ​คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้เปิดภาคเรียนแล้ว เด็กๆ ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนและเป็นช่วงเวลาที่เร่งรีบ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็ง จึงตอบโจทย์ผู้ปกครองที่ไม่มีเวลาทำอาหาร เพียงนำมาอุ่นร้อนด้วยเตาไมโครเวฟก็พร้อมกินได้ในทันที ช่วยให้ประหยัดเวลา อีกทั้งยังสะอาด ปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับอาหารปรุงสดอีกด้วย 

“ขอยืนยัน อาหารแปรรูปหรืออาหารแช่แข็งสามารถกินได้อย่างปลอดภัย เพียงบริโภคให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยใช้หลักการเดินทางสายกลาง ไม่กินอาหารบางประเภทซ้ำๆ มากจนเกินไปหรือกินเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้ขาดสารอาหารอื่น ๆ จึงควรกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ หลากหลายและครบ 5 หมู่ รวมทั้งอ่านฉลากโภชนาการเพื่อให้ได้รับสารอาหารและพลังงานตามที่ร่างกายต้องการ” รศ.ดร.กิติพงศ์ กล่าว 

นอกจากนี้ การอุ่นอาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็งด้วยเตาไมโครเวฟ มีความปลอดภัย การทำงานของเตาไมโครเวฟเกิดจากการที่คลื่นไมโครเวฟทำให้โมเลกุลของน้ำในอาหารสั่นและเกิดความร้อนขึ้น ส่งผลให้อาหารร้อนและสุกอย่างรวดเร็ว โดยที่คลื่นไมโครเวฟไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ผู้บริโภคจึงสามารถกินอาหารที่ผ่านการอุ่นร้อนด้วยเตาไมโครเวฟได้โดยไม่ต้องกังวล 

Advertisement

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน สามารถนำเข้าเตาไมโครเวฟได้อย่างความปลอดภัย โดยบรรจุภัณฑ์พลาสติกผ่านการรับรองให้สามารถใช้กับเตาไมโครเวฟได้ เพียงผู้บริโภคปฏิบัติตามคำแนะนำ เช่น ใช้ในระยะเวลาอุ่นอาหารตามที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ และไม่นำบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีสัญลักษณ์ใช้ครั้งเดียว (SingleUse Plastic) กลับมาใช้ซ้ำ  

Advertisement

นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับข้อมูลฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์ เช่น ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (GDA : Guideline Daily Amount) ที่แสดง “ข้อมูลโภชนาการที่สำคัญต่อร่างกาย” (พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม) เพื่อเลือกอาหารให้เหมาะสมกับผู้บริโภค เพราะในแต่ละบุคคลมีความต้องการปริมาณพลังงานและสารอาหารที่แตกต่างกัน อีกทั้งควรดูวันผลิตและวันหมดอายุ หากอาหารหมดอายุไม่ควรบริโภคเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้