ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ปี 67 แม่แบบ 5 ดี คนดี พันธุ์พืชดี พื้นที่ดี องค์ความรู้ดี และ มีความยั่งยืน

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบโล่พร้อมเกียรติบัตรให้แก่ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดสกลนคร และศูนย์สาขาว่าสํานักงาน กปร. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรที่มาอบรมศึกษาดูงานในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ นําความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีพ มีจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จ มีกิน มีใช้เพียงพอ เหลือขายสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนเพื่อขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ได้เข้าถึงโอกาสอย่างกว้างขวางจึงจัดทำโครงการขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริขึ้น

ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้กระจาย และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและกระบวนการตามหลัก Plan Do Check Act : PDCA และจัดทำเป็นคู่มือการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริขึ้น ซึ่งมีผู้ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินแล้ว จำนวน 221 แห่ง โดยมีองค์ความรู้หลายสาขา ได้แก่ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่เกษตรอินทรีย์ ประมงปศุสัตว์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ

“ในปี 2567 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ และศูนย์สาขาได้รับโล่พร้อมเกียรติบัตรด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสานจำนวน 43 แห่งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ 35 แห่ง โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2 แห่ง โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 แห่ง และโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนบ้านแดนสามัคคี (ลุ่มน้ำลำพะยัง) 3 แห่ง แต่ละศูนย์มีแนวทางและวิธีการในการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมสามารถนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ทันที ที่สำคัญคือมีคุณสมบัติครบ 5 ดี คือ เป็นคนดี มีพันธุ์พืชดี มีพื้นที่ดี มีองค์ความรู้ดี และมีความยั่งยืน จึงได้รับโล่และเกียรติบัตรเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ปี 2567” นางสุพร กล่าว

ด้าน นายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยว่า จังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง ในอดีตเกษตรกรส่วนใหญ่จะทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ดินเสื่อมโทรม ผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง และมีปัญหาด้านการตลาด ดังนั้น การทำเกษตรทฤษฎีใหม่จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับช่วยให้เกษตรกรทำการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีกินมีใช้อย่างมั่นคง

Advertisement

“ภายในศูนย์ศึกษาฯ มีแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับแรงงานภายในครอบครัว สำหรับศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ เป็นเกษตรกรต้นแบบ จะเป็นแม่แบบที่ได้รับองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาฯ แล้วนำไปขยายผลในพื้นที่การเกษตรของตนเองจนประสบความสำเร็จ สามารถถ่ายทอดสู่เพื่อนเกษตรกรรายอื่นๆ ได้ เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากเกษตรกรสู่เกษตรกร ซึ่งจะช่วยให้การขยายผลประสบความสำเร็จรวดเร็วมากยิ่งขึ้น” นายสรรัตน์ กล่าว

Advertisement

ด้าน นางบัญชี พรหมสาขา ณ สกลนคร ภรรยา นายทองจิต พรหมสาขา ณ สกลนคร เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรกรต้นแบบตามแนวพระราชดำริ บ้านบึงสา ตำบลจันทร์เพ็ญ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร เล่าว่า อดีตทำนา เมื่อเสร็จจากทำนาจะปลูกข้าวโพด และมะเขือเทศ ตามโควตาเพื่อส่งโรงงานหลวงดอยคำในพื้นที่อำเภอเต่างอย ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน เมื่อไปเรียนรู้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จากนั้นมาปรับพื้นที่จำนวน 3 ไร่ 3 งาน แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ปลูกกล้วยหอมทองพันธุ์ปทุมธานี โดยขยายพันธุ์เอง ซึ่งระหว่างรอผลผลิตเติบโต ก็จะปลูกพืชผักอื่นๆ แซมในแปลงกล้วย อาทิ ถั่วฝักยาว บวบเหลี่ยม ถั่วพลู และมะเขือเทศ ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ผลผลิตจะส่งจำหน่ายให้แก่ร้านค้าในพื้นที่ นอกจากนี้ ลูกสาวก็จะช่วยขายผ่านทางออนไลน์อีกด้วย

ในตอนนี้ได้เริ่มปลูกผักก้านจอง หรือผักพาย สร้างรายได้เป็นอย่างดี มีตลาดรองรับ ผู้คนนิยมรับประทานกับน้ำพริก ลาบ และได้รับการสนับสนุนปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ทำให้ประหยัดค่าไฟได้เดือนละ 500-700 บาท สำหรับการปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่นั้นได้รับความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ทั้งการเพาะพันธุ์การปลูกตลอดถึงการเก็บเกี่ยวการปลูกพืชผักจะจัดวางระบบวงรอบการปลูกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวส่งขายได้ทุกวัน ทำให้ครอบครัวมีรายได้ทุกวัน

“รู้สึกภูมิใจที่สำนักงาน กปร. มอบโล่เป็นรางวัลตอบแทนในความเพียรพยายาม เป็นกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไปและตั้งใจน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตและการประกอบอาชีพ รู้สึกซาบซึ้งใจที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ทำให้ชาวบ้านเต่างอย จังหวัดสกลนคร มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ต่างจากเมื่อก่อนที่แห้งแล้ง เมื่อศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีกิจกรรมและการอบรมต่างๆ ก็จะไม่พลาดที่จะเข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และจะตั้งใจนำมาต่อยอดกิจกรรมที่ทำอยู่ให้มีความก้าวหน้าต่อไปและยินดีที่จะนำความรู้เหล่านี้ถ่ายทอดสู่เกษตรกรผู้ที่สนใจเพื่อนำไปทำในพื้นที่ของตนเอย่างเต็มที่” นางบัญชี กล่าว

ขณะที่ นางสาวณัฏกานต์ ดากาวงค์ เกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่มารับช่วงต่อจากพ่อแม่ ซึ่งเป็นลูกสาวของ นางดวงตา ดากาวงค์ ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ บ้านนาเลา และเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางงอก เผยว่า หมู่บ้านเป็นพื้นที่รอบศูนย์ศึกษาฯ จึงได้รับองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ตั้งแต่การเพาะปลูกการแปรรูปไปจนถึงการทำการตลาดโดยเริ่มจากปลูกพืชเพื่อให้มีบริโภคในครัวเรือน ต่อมามีเหลือจึงนำออกขาย ส่วนที่ขายไม่หมดเอามาแปรรูปขายเช่นกัน

สำหรับศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ บ้านนาเลา อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร มีกิจกรรมการแปรรูปข้าวฮางงอก ทำขนมข้าวอบซีเรียลบาร์ ผลิตสบู่ขมิ้น สบู่นมข้าว สบู่มะขาม ซึ่งกำลังปรับปรุงสถานที่การผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน อย. พร้อมผลิตปลาร้าขวดและผ้าทอดำเนินการในรูปแบบกลุ่มเช่นกันและกำลังขยายเครือข่ายกลุ่มคนหนุ่มสาวต่อยอดมาจากกลุ่มผ้าขาวม้าที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยรวมกลุ่มตัดเย็บผ้าทอจากผ้าขาวม้า ผ้าย้อมคราม และผ้าพื้นบ้านต่างๆ มาตัดเย็บเป็นเสื้อ กางเกง กระเป๋า เป็นการเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

“รู้สึกภูมิใจที่ได้รับโล่ในครั้งนี้ และภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านมอบให้ ทำให้รู้จักทำกิน ทำใช้ มีกิน มีใช้ สร้างประโยชน์ในชุมชนและครัวเรือน ชุมชนมีความสามัคคีมีส่วนร่วม ที่สำคัญชุมชนมีรายได้อีกด้วย ภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอขอบคุณสำนักงาน กปร. ที่ได้สนับสนุนและให้โอกาสเป็นอย่างดี” นางสาวณัฏกานต์ กล่าว