ชาไทย หรือ ชาสายพันธุ์อัสสัม พืชทำเงินของ 3 จังหวัดภาคเหนือ

การดื่มชามีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ อย่างเช่น “ชาร้อน” ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรค ป้องกันโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ป้องกันฟันผุ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ช่วยผ่อนคลายระบบประสาท ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย กระปรี้กะเปร่า เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนเกือบตลอดทั้งปี คนไทยส่วนใหญ่จึงนิยมดื่มชาในรูปแบบชาไข่มุก หรือชาเย็น เพื่อความสดชื่น

ในประเทศไทย เกษตรกรนิยมปลูกชา 2 สายพันธุ์หลัก คือ

1. ชาสายพันธุ์จีน ที่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวันและจีนแล้วนำมาปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสำหรับปลูกในประเทศไทย เช่น พันธุ์อู่หลงเบอร์ 17 หรือ อู่หลงก้านอ่อน อู่หลงเบอร์ 12 หรือชิงซินอู่หลง พันธุ์สี่ฤดู พันธุ์ถิกวนอิม เป็นต้น

2. “ชาไทย” หรือ ชาสายพันธุ์อัสสัม เป็นชาพื้นเมืองดั้งเดิมของไทยที่เติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ป่าไม่ผลัดใบ ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำหลายสายในประเทศ ตามภูเขาสูงในแถบภาคเหนือ

ชาไทยหรือชาอัสสัม เจริญเติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของป่า ซึ่งป่าในประเทศไทยมีความชุ่มชื้นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของชาชนิดนี้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกชาไทยเป็นจำนวนมากในภาคเหนือ เช่น จังหวัดน่าน เชียงใหม่ และเชียงราย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้าไปแนะนำการปลูก ตลอดจนส่งเสริมเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องระบบน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของยอดชาไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด นำไปใช้ในการแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม และเพิ่มรสชาติในอาหารและขนมนานาชนิด

ช่วงที่ผ่านมา ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อระบบน้ำ ทำให้ผลผลิตยอดอ่อนชาไทยมีปริมาณลดลง กรมส่งเสริมการเกษตร จึงแนะนำให้เกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ชาไทย เก็บใบชาแก่มาแปรรูปเป็นหมอนใบชา เพื่อใช้ประโยชน์จากต้นชาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ซึ่งใบชามีคุณสมบัติช่วยดับกลิ่นอับในจุดต่างๆ ของบ้านเรือน เช่น ตู้เสื้อผ้า ตู้เย็น ตู้กับข้าว ห้องน้ำ ตลอดจนดับกลิ่นในรถยนต์ ได้อย่างปลอดภัยไร้สารพิษ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ จึงเหมาะที่จะใช้ทดแทนลูกเหม็นดับกลิ่นที่ผลิตจากสารเคมี และตอบโจทย์ผู้รักสุขภาพในปัจจุบันด้วย

Advertisement
หมอนใบชา

หมอนใบชา ยังมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์อื่นอีกมากมาย เช่น มีกลิ่นหอมช่วยทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย คลายเครียด เมื่อนำมาหนุนนอนจะช่วยกระตุ้นระบบหมุนเวียนโลหิต และยังช่วยบรรเทารักษาโรคหวัด และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจคล่องอีกด้วย นอกจากนี้ กลุ่มนักเรียน และยุวเกษตรกรในพื้นที่ปลูกชาไทยในภาคเหนือ ยังมีการแปรรูปเป็นตุ๊กตาใบชาดับกลิ่นที่น่ารัก เหมาะสำหรับแขวนในรถยนต์หรือให้เป็นของขวัญ ของชำร่วย ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องการทำการเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตรจากผลผลิตในท้องถิ่น และรู้สึกภูมิใจที่สามารถหารายได้ได้ด้วยตนเอง

Advertisement

กระบวนการผลิตชา

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของชายังขึ้นอยู่กับประเภทของชาตามกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันด้วย แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ชาขาว (white tea) เป็นชาที่ได้จากช่อใหม่ของต้นชาหรือยอดชาอ่อน และผ่านกระบวนการผลิตโดยใช้ความร้อนน้อยที่สุดจึงทำให้คุณค่าทางโภชนาการและศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชาชนิดอื่นๆ

2. ชาเขียว (green tea) เป็นชาที่ไม่ผ่านการหมัก เมื่อเก็บยอดใบชาสดมาแล้วจะนำมาคั่วหรือนึ่ง เพื่อให้ความร้อนทำลายเอนไซม์พอลิฟีนอลออกซิเดส หยุดปฏิกิริยาการหมัก แล้วนำมานวดใช้น้ำหนักกดทับลงใบชา ทำให้สารประกอบต่างๆ ที่อยู่ในเซลล์ไหลออกมาเคลือบอยู่บนส่วนต่างๆ ของใบชา แล้วจึงอบแห้งและคัดบรรจุห่อ

3. ชาอู่หลง (red tea หรือ oolong tea) เป็นชาที่หมักบางส่วน เมื่อเก็บยอดใบชาสดมาแล้วจะนำมาผึ่งแดดให้น้ำในใบชาระเหยไป เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและปฏิกิริยาเคมีของสารต่างๆ ในใบชา ทำให้ชามีสี กลิ่น และรสชาติที่แตกต่างกันไป จากนั้นนำมาผึ่งต่อในที่ร่ม แล้วนำมานวดให้สารประกอบในเซลล์ไหลออกมาเคลือบอยู่บนใบชา ต่อด้วยการนำใบชามาคั่ว แล้วจึงอบแห้งและคัดบรรจุห่อ

4. ชาดำหรือชาฝรั่ง (black tea) เป็นชาหมักอย่างสมบูรณ์ เมื่อเก็บยอดใบชาสดมาแล้วจะนำมาผึ่งแดดให้น้ำในใบชาระเหยไป เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและปฏิกิริยาเคมีของสารต่างๆ ในใบชา นำมานวดแล้วหมัก จากนั้นจึงอบแห้งและคัดบรรจุห่อ ระดับการหมักที่ต่างกันทำให้ชาแต่ละชนิดมีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ชามีสี กลิ่น และรสชาติที่แตกต่างกัน

เชิญชวนผู้สนใจดื่มชาไทยเพื่อสุขภาพ

อุดหนุนสินค้ากลุ่มเกษตรกรโดยตรง

กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนและดำเนินงานโครงการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการปลูกชาในประเทศไทย มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2553 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเชียงราย เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ เห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ จาก “ชาไทย” หรือชาอัสสัม อันจะส่งเสริมให้เกิดความรัก หวงแหนและบำรุงรักษาป่าในประเทศไทย ซึ่งเป็นร่มเงาให้ “ชาไทย” หรือชาอัสสัมเติบโตอย่างมีคุณภาพ

ทั้งนี้ ผู้สนใจอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนผู้ปลูกชาอินทรีย์ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มแปลงใหญ่ชาบ้านแม่เลย ตำบลสะเมิงเหนือ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 097-918-2357 หรือ วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกชาและกาแฟบ้านปางมะโอ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 062-263-5491 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตชาแม่ลอย จังหวัดเชียงราย โทร. 093-261-2629 วิสาหกิจชุมชนชาเมื่ยงโจ้โก้/ตับเต่า จังหวัดเชียงราย โทร. 093-225-0258 วิสาหกิจชุมชนแปรรูปชาปางต้นผึ้ง จังหวัดเชียงราย โทร. 093-224-7869 วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ชาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ศรีนาป่าน-ตาแวน ตำบลเรื่อง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โทรศัพท์ 098-748-5704, 087-174-4419 หรือเลือกซื้อสินค้าเกษตรเกรดพรีเมียมหลากหลายชนิดฝีมือของเกษตรกรจากทั่วประเทศได้ทาง www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com