เผยแพร่ |
---|
กรมชลประทาน เดินหน้าพัฒนาลุ่มน้ำเลยตามพระราชดำริ เผยโครงการ ปตร.ศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเลย ช่วยบริหารจัดการลุ่มน้ำเลยตอนล่าง ป้องกันน้ำโขงหนุนเนื่อง บรรเทาภัยน้ำหลาก กักเก็บน้ำสำรองก่อนไหลออกนอกประเทศ เพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เมืองเลยอีกกว่า 7 หมื่นไร่ เสริมความมั่นคงด้านน้ำให้ราษฎรเชียงคาน 44 หมู่บ้าน สอดรับนโยบายภาครัฐการเกษตรแม่นยำ มีมูลค่าสูง แล้งนี้ ปตร.นำร่องส่งน้ำให้ประชาชนฝั่งขวาแม่น้ำเลยพันไร่
นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กรมชลประทาน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบตร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริไว้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 ไว้ว่า “…ควรพิจารณาวางโครงการชลประทานลุ่มน้ำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรพิจารณาสร้างฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำตามความเหมาะสม ในลำน้ำเลยตอนล่างเพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเลย ในเขตอำเภอเชียงคาน…”
ด้วยสภาพของแม่น้ำเลย ที่มีต้นน้ำอยู่ที่อำเภอภูหลวง เป็นต้นน้ำที่ไหลอย่างรวดเร็วผ่านอำเภอภูหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงลาดชัน จากนั้นค่อยไหลลงที่ต่ำตอนกลางผ่านพื้นที่ราบเชิงเขาในอำเภอวังสะพุง และที่ราบในอำเภอเมือง ก่อนไหลคดเคี้ยวตามธรรมชาติของลำน้ำลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน รวมความยาว 230 กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,560 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำท่ามากถึง 1,130 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในฤดูน้ำหลาก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม หากปีไหนมีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำ แม่น้ำเลยจะยกระดับสูงขึ้น และหากมีน้ำโขงหนุนในช่วงเวลาดังกล่าว น้ำในแม่น้ำเลยจะระบายลงน้ำโขงได้ยาก ส่งผลให้น้ำเลยเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมเขตอำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง และอำเภอเชียงคานได้ง่าย ส่วนในฤดูแล้ง ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีความลาดชันและมีแหล่งเก็บกักน้ำน้อย อีกทั้งท้องแม่น้ำมีลักษณะเป็นทราย ไม่อุ้มน้ำ ลำน้ำจึงเหือดแห้ง เกิดเป็นภัยแล้งซ้ำซาก
กรมชลประทานได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำเลยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบตร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวเรื่อยมา นับได้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กรวม 59 แห่ง ฝายทดน้ำและอาคารบังคับน้ำรวมในลำน้ำเลยและลำน้ำสาขารวม 65 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำได้รวม 86 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 8% ของปริมาณน้ำท่าลุ่มน้ำเลย อย่างไรก็ดี พื้นที่ตอนล่างของลำน้ำ โดยเฉพาะที่อำเภอเชียงคาน ราษฎรยังประสบปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งอยู่
ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาของลุ่มน้ำเลยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก (ปตร.) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณลุ่มน้ำเลยตอนล่าง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ระยะเวลาดำเนินการปี 2560-2566 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท
ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กล่าวว่า ลักษณะโครงการประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. ปตร.ตัวหลัก เรียกว่า ปตร.ศรีสองรัก 1 แห่ง สร้างปิดกั้นคลองลัดตัดใหม่ระหว่างแม่น้ำเลยกับแม่น้ำโขง อัตราการระบาย 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบันมีผลการดำเนินงาน 90% เนื่องจากติดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ทำให้โครงการจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568 2. ปตร.ตัวเล็ก เรียกว่า ปตร.ลำน้ำเลย สร้างปิดกั้นลำน้ำเลย เป็นประตูระบายน้ำแบบมีช่องเรือสัญจรผ่านได้ เพื่อรักษาระบบนิเวศและเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ อัตราการระบาย 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผลการดำเนินงานแล้วเสร็จ 3. พนังกั้นน้ำฝั่งซ้ายขวาในจุดลุ่มต่ำ ความยาวรวม 37 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 10 กิโลเมตร และ 4. สถานีสูบน้ำฝั่งซ้าย 2 แห่ง ฝั่งขวา 2 แห่ง พร้อมระบบส่งน้ำความยาวรวม 99 กิโลเมตร ปัจจุบันสถานีสูบน้ำฝั่งขวา พร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ 1 แห่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างการออกแบบและเตรียมความพร้อมสำรวจแนวท่อส่งน้ำเพื่อพื้นที่การเกษตร และจะดำเนินการก่อสร้างในปีถัดไป
“อย่างไรก็ดี ฤดูฝนที่ผ่านมาสถานการณ์น้ำในลำน้ำโขงสูงกว่าปกติ ปกติอัตราการระบายของลำน้ำโขงจากด้านบนในช่วงเดือนตุลาคมคือ 11,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในปีนี้เพิ่มสูงเป็น 23,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำโขงบริเวณ อำเภอเชียงคาน สูงกว่าระดับน้ำในประเทศเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ปตร.ศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำหน้าที่ปิดกั้นน้ำจากแม่น้ำโขงไม่ให้หนุนเนื่องเข้ามาสมทบกับน้ำฝนในพื้นที่ และเปิดบานลอยเพื่อให้น้ำในแม่น้ำเลยไหลออกเมื่อแม่น้ำโขงลดระดับลง
ปัจจุบัน ปตร.ศรีสองรักฯ ได้ทำการปิดบานเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำจนเต็มศักยภาพ จำนวน 6 ล้านลูกบาศก์เมตร และพร้อมส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรฝั่งขวาของแม่น้ำเลยจำนวน 1,500 ไร่ ในหน้าแล้งนี้”
นายสุนทร กล่าวต่อว่า ปตร.ศรีสองรักฯ ถือได้ว่าเป็นโครงการอเนกประสงค์ ที่ช่วยทั้งบรรเทาภัยน้ำหลากและน้ำแล้ง เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ในปี 2570 จะเปิดพื้นที่ชลประทานสองฝั่งลำน้ำเลยตอนล่างในหน้าฝนได้ 72,500 ไร่ ในหน้าแล้ง 18,100 ไร่ รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคให้ราษฎรรวม 44 หมู่บ้านในตำบลเชียงคาน, นาซ่าว, เขาแก้ว, ปากตม, ธาตุ, จอมศรี และหาดทรายขาว อำเภอเชียงคาน
“กรมชลประทานยังคาดหวังว่า เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องความมั่นคงด้านน้ำ นั่นคือเมื่อได้แหล่งน้ำและพื้นที่ชลประทานแล้ว กรมชลประทานจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมปศุสัตว์ นำผลงานการวิจัยเรื่องความเหมาะสมระหว่างพืชที่ปลูกกับสภาพแวดล้อมมาถ่ายทอดสู่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้การเพาะปลูกผลผลิตมีความแม่นยำ ลดต้นทุน ลดการสูญเสีย อีกทั้งยังได้ผลผลิตที่มีมูลค่าสูง และประชาชนยังมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาชีพประมง ปศุสัตว์ เพาะปลูกพืชสวน พืชไร่ สวนผลไม้ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ปตร.ศรีสองรักฯ ยังมีส่วนสนับสนุนยุทธศาสตร์จังหวัดเลยในด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นการก่อสร้างควบคู่ไปกับสถาปัตยกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดเลย คือมีการนำหัวผีตาโขนประดับที่บริเวณตอม่อและตกแต่งประดับไฟเพื่อความปลอดภัยให้แสงสว่าง และเพื่อความงดงามในยามค่ำคืน อีกทั้งมีหอชมทัศนียภาพ จำนวน 6 หอ ความสูง 28 เมตร นับเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมทัศนียภาพลำน้ำเลยและแม่น้ำโขง นำรายได้สู่ราษฎรในพื้นที่และจังหวัดอีกด้วย
นางสาวนันทิดา ขุนพิลึก ชาวบ้านแก่งหมี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย กล่าวว่า โครงการ ปตร.ศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยเก็บน้ำไว้ในแม่น้ำเลยก่อนไหลออกแม่น้ำโขงได้ ทำให้พวกตนเองมีน้ำกินน้ำใช้ ปลูกพืชในหน้าแล้ง และช่วยปิดกั้นไม่ให้แม่น้ำโขงไหลเข้ามาสมทบท่วมเมืองเชียงคานในฤดูฝน และมีการก่อสร้างถนน เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ช่วยสร้างรายได้ให้บ้านแก่งหมีแห่งนี้เพิ่มขึ้น สมกับคำขวัญที่มีการให้ไว้ว่า “ช่องลัดตัดตรง ศรีสองรัก พิทักษ์ชาวเลย”