เผยแพร่ |
---|
ปี 2567 คือปีที่พี่น้องเกษตรกรต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่แน่ไม่นอนของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น จนเกิดภัยแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน หรือปรากฏการณ์ลานีญาที่ส่งผลให้เกิดภาวะฝนตกหนักในหลายพื้นที่ น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
“เทคโนโลยีชาวบ้าน” มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ คุณพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เกี่ยวกับการปรับตัวของภาคการเกษตรเพื่อรับมือกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ สร้างผลกระทบต่อเนื่องตลอดปี
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึงภาพรวมของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สร้างผลกระทบต่อภาคการเกษตร
“เป็นที่ทราบกันดีว่าโลกของเรา โดยเฉพาะในโซนเอเชียต้องเจอกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดภัยแล้งตั้งแต่ในปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงในปี 2567 แล้วก็เจอกับ ปรากฏการณ์ลานีญา ฝนตกในเกณฑ์ที่มากกว่าปกติ ทางภาคเหนือของเราก็เจอกับ เรนบอมบ์ จนเกิด น้ำท่วมฉับพลัน ส่วนเรื่องของ Climate Change หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่ไม่คงที่ ส่งผลให้การออกดอกโดยเฉพาะกลุ่มไม้ผลเคลื่อนไปจากแต่เดิมประมาณ 1 เดือน ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
นอกจากนี้ ความชื้นสัมพัทธ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามอุณหภูมิก็จะส่งผลต่อการเกิดโรคในพืช และการเจริญเติบโตของแมลงศัตรูพืช เช่น โรคใบด่างมันสำปะหลัง แมลงหวี่ขาว หนอนกระทู้ในข้าว ซึ่งในปีหน้าก็ยังมองว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะยังมีความผันผวนอยู่ เกษตรกรจะต้องปรับตัว หาทางลดความเสียหายจากสิ่งเหล่านี้”
ปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการทำงาน เตรียมการล่วงหน้า
เมื่อโลกเปลี่ยน เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีการทำงานไปตามโลก นำเทคโนโลยี นำวิทยาศาสตร์ เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด
“วิธีคิดและวิธีการทำงานของเกษตรกรต้องเปลี่ยนไป ต้องมีการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการพยากรณ์หรือประเมินความเสี่ยงมากขึ้น อ่านหรือเปิดข้อมูลจากกรมอุตุฯ ที่จะแจ้งว่าวันนี้ฝนจะมาตรงไหน มากน้อยเพียงใด ดูแอปพลิเคชันของกรมชลประทาน ที่ทำหน้าที่ดูแลเฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำ หรือ Thaiwater.net คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เพื่อให้เห็นว่าปริมาณฝนที่ไหลลงมามีทิศทางอย่างไร ณ วันนี้เราสามารถมองเห็นความเสี่ยงได้ล่วงหน้าอย่างน้อยๆ 5-7 วัน ทำให้เกษตรกรได้กลับมาจัดการตัวเอง จัดการกับแปลง
ในเรื่องของ “ภัยแล้ง” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขยายแนวทางเพิ่มเติม ต้องคิดวิเคราะห์และเตรียมการล่วงหน้าให้ดี “ผมเชื่อว่าการลงทุนในเรี่องของน้ำจะช่วยได้ในระยะยาว เพราะยังไงโลกก็จะต้องร้อนขึ้นแน่ๆ ถ้าเกษตรกรปลูกในเขตชลประทานก็จะสบายใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าปลูกนอกเขตต้องคอยติดตามคำแนะนำจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด ถ้าไม่ควรจะปลูกก็อย่าเสี่ยงปลูก หรือถ้าจะปลูกก็ต้องคำนวณว่าต่อปีต้องใช้น้ำเท่าไหร่ ควรลงทุนทำการขุดสระน้ำให้เพียงพอ ดังนั้น การเตรียมการเรื่องน้ำก็ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องทำ”
3 ปัจจัย สร้างความได้เปรียบใหม่ให้กับเกษตรกร
กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความสำคัญกับเรื่องใหญ่ๆ 3 เรื่อง ที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบใหม่ให้กับเกษตรกรในอนาคต
“เรื่องแรกคือต้องทำการเกษตรที่รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะตลาดโลกเขาจะถามว่า สินค้าเกษตรของคุณปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ ทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มีเครื่องหมายรับรองหรือเปล่า ซึ่งถ้าทำได้ตลาดก็จะกว้างขึ้น ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิต ให้มีการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เช่น การที่ไม้ผลจะติดดอก ต้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ถ้าร้อนเกินไปปากใบก็จะปิด พอปากใบปิด การให้อาหารก็จะไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเรารู้ล่วงหน้าเราก็จะใช้เทคโนโลยีคอยช่วยให้น้ำ ช่วยคอนโทรลอุณหภูมิได้”
“เรื่องต่อมาคือการวิเคราะห์ผังแปลง หรือที่เรียกว่า Landscape Design ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ของเรามีความสูงต่ำไม่เหมือนกัน นั่นแปลว่าพื้นที่ต่ำก็ควรจะสร้างแหล่งน้ำ พื้นที่สูงก็ควรจะปลูกต้นไม้ ถ้าน้ำท่วมอย่างน้อยน้ำก็จะไหลลงสู่ที่ต่ำ พืชที่อยู่ที่สูงก็จะรอดจากน้ำท่วม รวมไปถึงทิศทางของลมก็ต้องวิเคราะห์ด้วยเพราะพืชต้องการลมในการผสมเกสร หรือการออกแบบแปลงให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าจะสะดวกกับการทำงานของรถแทรกเตอร์มากกว่ารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลดพลังงานระหว่างการใช้งาน ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์”
“เรื่องที่สามการจัดความสมดุลของธาตุอาหารผ่านการวิเคราะห์ดิน การวิเคราะห์ดินทำให้เรารู้ว่าดินของเรามีธาตุอาหารอะไรบ้าง มีความชื้น มีออกซิเจนมากน้อยเพียงใด ขาดเหลือสิ่งใดบ้างในดิน เช่น ถ้าเราละเลยไม่ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยชีวภาพ อินทรียวัตถุในดินก็จะต่ำ กระบวนการแร่ธาตุอาหารมันก็จะไม่ทำงาน เราก็ต้องซื้อปุ๋ยใส่อย่างเดียว”
เกษตรกรต้องปรับแนวคิด เปิดรับ เรียนรู้ มองเทคโนโลยีให้ลึกกว่าที่เป็น
เกษตรกรแต่ละคนก็มีความช้าเร็วในการค้นหาข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น จึงต้องมีการปรับแนวคิด แล้วมองให้ลึกกว่าที่เป็นอยู่ จะทำให้เข้าใจเทคโนโลยีได้มากขึ้น
“ทุกคนมีโทรศัพท์เหมือนกันหมด แต่เวลาในการค้นหาคำตอบผ่านโทรศัพท์นั้นแตกต่างกัน ดังนั้น การเข้าใจเรื่องเกษตรสมัยใหม่ ต้องมองให้ลึกว่าที่เป็น เช่น คนที่มี AI ถ้าไม่สอนให้มันฉลาดด้วยตัวเอง มันก็จะไม่ได้คำตอบที่ฉลาดมากนัก ต้องค่อยๆ ป้อนคำถามจากง่ายไปสู่ยากเพื่อให้เขาเรียนรู้ สมองเขาจะพัฒนา ตั้งใจใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และต้องเข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี หรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างการนำน้ำตาลมาละลายน้ำฉีดใบพืช ช่วยให้พลังงานพืชทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าวิธีการนี้ ต้องใช้ในช่วงที่มีแดดน้อย ฟ้าครึ้ม พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ถึงจะทำให้พืชฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เกษตรกรต้องเปิดรับหลายสิ่ง ต้องรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร”
คุณพีรพันธ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวปิดท้ายแนะนำเกษตรกรไทย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 26 พ.ย. 2024