เครือซีพี ผนึก ภาครัฐ – ภาคประชาสังคม – ชุมชน เร่งฟื้นฟู “หญ้าทะเล” อ่าวไม้ขาว จ.สตูล หนุนอาหารพะยูนและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพิ่ม Blue Carbon สร้างสมดุลระบบนิเวศทะเลไทยยั่งยืน

เมื่อเร็วๆนี้  นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วย นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล นายประจวบ โมฆะรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งที่ 7 นาวาเอกแสนย์ไท บัวเนียม รองผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นายบรรจง นะแส  ที่ปรึกษาสมาคมทะเลไทย และอีก 5 ชุมชน ในพื้นที่ ต.ทุ่งหว้า ต.นาทอน ต.ขอนคลาน และ ต.ทุ่งบุหลัง ร่วมงาน “ซีพี ร้อย รักษ์ โลก ฟื้นฟูหญ้าทะเล” ภายใต้โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง-สตูล เพื่อเพิ่มปริมาณหญ้าทะเล แก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมบริเวณอ่าวไม้ขาวให้กลับมาอุดมสมบูรณ์  เป็นแหล่งอาหารให้แก่พะยูน แหล่งที่อยู่อาศัยอนุบาลสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ ถือเป็นหนึ่งในแหล่ง Blue Carbon ร่วมกับระบบนิเวศทางทะเลอื่นๆ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้แก่ชุมชน สร้างสมดุลระบบนิเวศทะเลไทยยั่งยืน จัดขึ้น ณ บ้านท่าอ้อย ต.ทุ่งหว้า จ.สตูล

นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และบูรณาการความร่วมมือร่วมกัน โดยเรื่องปัญหาหญ้าทะเลหนึ่งในแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน กำลังเกิดวิกฤติเสื่อมโทรมอย่างหนักในหลายพื้นที่จากหลายปัจจัย  โดยงานปลูกหญ้าทะเลในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภาคประชาสังคม และอีก 5 ชุมชน ในพื้นที่ ต.ทุ่งหว้า ต.นาทอน ต.ขอนคลาน และต.ทุ่งบุหลัง และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เร่งฟื้นฟูหญ้าทะเลบริเวณอ่าวไม้ขาวให้กลับมาสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการผ่านงานวิจัยควบคู่กับการดูแลของชุมชน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จ สามารถค้นหาคำตอบและทางออกที่เหมาะสมในการจัดการพื้นที่ให้มีศักยภาพต่อไป

ด้าน นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพีผลักดันนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางทะเลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านนโยบายแกนหลัก “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยที่ยั่งยืน” ที่จะบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีแผนงานที่สำคัญ คือ อนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้ยั่งยืน ซึ่งในปีนี้ เครือซีพี ได้ขับเคลื่อนโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดตรัง – สตูล โดยทำประชาคมร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้ทะเลเพื่อให้ชุมชนสามารถทำประมงได้อย่างยั่งยืน  โดยกิจกรรมปลูก “หญ้าทะเล” ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งแหล่งหญ้าทะเลถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด มีพื้นที่น้อยกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่กลับกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ถึงปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นหนึ่งในแหล่ง Blue Carbon ร่วมกับระบบนิเวศทางทะเลอื่นๆ  นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทั้งเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ  ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูน รวมทั้งเป็นแหล่งอนุบาลและที่หลบภัยของสัตว์น้ำอีกหลายชนิด  โดยหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยให้แหล่งหญ้าทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

 

Advertisement

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยว่า ทะเลไทยถือเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญเกือบ 2 ล้านตันต่อปี ถือว่าอุดมสมบูรณ์มากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1.2 ล้านตันต่อปี บ่งชี้ว่าคนไทยกำลังขาดแคลนผลผลิตทางทะเล ส่งผลต่ออาชีพชาวประมงและเศรษฐกิจของประเทศ  โดยดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของทะเลในฝั่งอันดามัน บ่งบอกว่าหญ้าทะเลและสัตว์หายากอย่างพะยูน ที่อาศัยอยู่ใน จ.ตรัง กว่า 100 ตัว กำลังพบกับวิกฤตความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล ทำให้พะยูนบางส่วนต้องอพยพมาที่ จ.สตูล ซึ่งเป็นเขตรอยต่อเพื่อหาอาหารแหล่งใหม่ โดยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาพบพะยูนตาย 3-4 ตัว ในเขต จ.สตูล ไม่รวมจังหวัดอื่นๆ  ทำให้การทำกิจกรรมในครั้งนี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเลือกพื้นที่เพื่อปลูกหญ้าทะเล โดยเลือกเป็นบริเวณปากแม่น้ำทุ่งหว้า ซึ่งเป็นรอยต่อของ จ.สตูลและตรัง เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดของทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตในทะเล มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

Advertisement

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า จากการสำรวจพะยูนในพื้นที่ จ.ตรัง แต่เดิมมีจำนวนเกือบ 180 – 200 ตัว แต่กลับหายไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ จ.กระบี่ ไปจนถึง จ.ตรัง ปัจจุบันมีอัตราการตายเฉลี่ย 35 ตัวต่อปี จากเดิมมีอัตราการตายเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ตัวต่อปี สาเหตุที่ทำให้พะยูนต้องตายและบางส่วนอพยพย้ายไปหาแหล่งอาหารในพื้นที่อื่น มาจากปัญหาแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมขยายเป็นวงกว้าง ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะโลกเดือด โดยเฉพาะปลายปี 2566 – 2567 พบว่าระดับน้ำทะเลอันดามันลดต่ำกว่าปกติ ทำให้หญ้าทะเลต้องตากแดดนานกว่าปกติ ประกอบกับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้หญ้าทะเลมีความอ่อนแอ ไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่

ทั้งนี้ภายในงานมีการออกบูธให้ความรู้ต่างๆ อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ความรู้เกี่ยวกับหญ้าทะเล มูลนิธิอันดามัน ให้ความรู้เกี่ยวกับพะยูน มหาลัยราชมงคลศรีวิชัยตรัง มาให้ความรู้เรื่องการปลูกหญ้าทะเล โดยร่วมกันปลูกหญ้าทะเลและปล่อยพันธุ์ลูกปูม้าระยะซูเอี้ย กว่า 5 แสนตัว นอกจากนี้ เครือซีพี ยังเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ได้แก่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และบมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CP Axtra) ทั้งแม็คโคร (Makro) และโลตัส (Lotus’s) สนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ด้วย โดยงานนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทุกภาคส่วน จะมีส่วนร่วมช่วยกันฟื้นฟูและดูแลหญ้าทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งปลูกฝังชุมชนให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเกิดความยั่งยืนทั้งคน สัตว์น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้ในอนาคต