เผยแพร่ |
---|
การปลูกผักถือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์ ปัจจุบันการเกษตรไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เยอะอีกต่อไป เพื่อให้อย่างน้อยแม้มีพื้นที่น้อยก็ยังสามารถมีแหล่งอาหารไว้กินภายในครัวเรือน โดยเฉพาะการปลูกพืชผักสวนครัวในพื้นที่จำกัด เป็นการปลูกผักในพื้นที่ว่างเพียงเล็กน้อย เพื่อวัตถุประสงค์ไว้กินเอง หรือเป็นงานอดิเรกในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และปัญหาหลายประการด้านมลภาวะ สารตกค้างในอาหารต่างๆ
เพราะฉะนั้นการปลูกผักกินเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะปลอดสารพิษแล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน โดยเฉพาะสังคมเมืองที่ในแต่ละบ้านมีพื้นที่น้อยมีพื้นที่จำกัด การปลูกผักจึงมีหลายวิธีและต้องเลือกใช้ภาชนะที่หาได้ง่าย ต้องเลือกให้เข้ากับพื้นที่ก็จะทำให้ผักที่ปลูก สามารถออกผลผลิตมาให้กินได้ตลอด
วันนี้พามารู้จักกับข้อมูลต่างๆ ที่คนในเมืองหรือมีพื้นที่น้อยต้องรู้ก่อนที่จะลงมือปลูกผักไว้กินเอง มีดังนี้
1. ภาชนะที่ใช้สำหรับปลูก
การปลูกผักในพื้นที่น้อยในเรื่องของภาชนะที่ใช้นั้น ต้องสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายและต้องไม่ใหญ่เกินไป อย่างเช่น การปลูกในกระถางในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตั้งแต่กระถางพลาสติก กระถางดินเผา กระถางเคลือบ กะละมัง ฯลฯ เลือกที่มีความคงทนและเหมาะสมระบายน้ำดี
ซึ่งผักที่เหมาะสม ได้แก่ ผักสลัด กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักชี ควรปลูกในภาชนะที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้วขึ้นไป และมีความลึก 10 เซนติเมตรขี้นไป แต่ถ้าเป็นผักยืนต้น อย่างเช่น พริก กะเพรา มะเขือ ชะอม ควรปลูกในภาชนะที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้วขึ้นไป และมีความลึก 40 เซนติเมตรขึ้นไป
2. สิ่งที่ควรรู้ก่อนลงมือปลูกผักในพื้นที่น้อย
อย่างที่ทราบกันดีว่าพืชนั้นการเจริญเติบโตต้องอาศัยดิน น้ำ แสง และธาตุอาหารที่จำเป็นในการเติบโต เพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ดังนี้
ดินหรือวัสดุปลูก ควรต้องมีความอุดมสมบูรณ์ต่อการเติบโตของพืชผัก หากนำดินที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์มาปลูกพืชอาจจะให้ผลผลิตได้ไม่ดี รองลงมาคือน้ำ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตพืช ดังนั้น การเติบโตของผักขึ้นกับปริมาณน้ำที่เพียงพอและการให้น้ำที่เหมาะสม ลำดับต่อมาคือแสง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีความจำเป็นในการปรุงอาหารสำหรับพืช ซึ่งพืชต้องได้รับแสงอย่างน้อยวันละ 4 ชั่วโมง ผู้ปลูกพืชในพื้นที่น้อยควรสำรวจสภาพพื้นที่ว่าสามารถรับแสงได้มากน้อยเพียงใด และสุดท้ายธาตุอาหารพืช จำเป็นต้องมีอาหารในการเจริญเติบโต โดยมีธาตุหลัก คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K)
3. การเตรียมดินหรือวัสดุปลูกสำหรับพืชในพื้นที่น้อย
การปรุงดินให้เหมาะสมและมีความอุดมสมบูรณ์ในการปลูกพืช โดยเฉพาะการปลูกพืชในกระถาง แนะนำดังนี้ ดิน ขุุยมะพร้าวหรือขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่มีความชื้น 80 ในอัตรา 1 ต่อ 1 นำมาผสมกันให้เป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมกับรดน้ำให้มีความชื้นประมาณ 80% หรือลองใช้มือกำและดินเกาะกันเป็นก้อนถือว่ามีความเหมาะสม
สำหรับการปลูกผักบนพื้นดินหรือแปลงปลูก ในกรณีที่มีพื้นที่เพียงพอ ทำการพรวนดินและตากแดดไว้ประมาณ 7-15 วัน พร้อมกับยกแปลงให้สูงมีความกว้าง 1 เมตร ความยาวตามความเหมาะสม ส่วนทิศทางแปลงแนวทิศเหนือ-ใต้ เพื่อให้ผักได้รับแสงแดดทั่วถึง ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้ทั่ว
4. การให้ปุ๋ยสำหรับพืชที่ปลูก
หากเราปลูกพืชในกระถาง ธาตุอาหารหรือปุ๋ยหมักอาจไม่เพียงพอ ต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์บ้าง มักใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ครั้งที่ 1 เมื่อย้ายกล้าปลูกได้ประมาณ 7 วัน ใส่ครั้งที่ 2 ใส่ห่างจากครั้งแรกประมาณ 2-3 สับดาห์
5. การป้องกันแมลงศัตรูพืชสำหรับคนเมือง
การปลูกพืชผักสวนครัวในเรื่องปริมาณการผลิตจะเป็นการปลูกเพื่อกินในครัวเรือนเท่านั้น แมลงศัตรูพืชที่พบอาจจมีปริมาณน้อย วิธีที่ง่ายและปลอดภัยคือ ใช้วิธีสำรวจ สังเกต และกำจัดด้วยมือ หากพบโรคไม่ควรปลูกพืชจนแน่นหรือชิดเกินไป นอกจากนี้ ควรให้พืชผักได้รับแสงแดดทั่วถึง มีการระบายจะเป็นการป้องกันโรคได้ ส่วนการกำจัดวัชพืชนั้นหากมีหญ้าขึ้นต้องถอนทิ้งทันที เพราะวัชพืชจะทำการแย่งน้ำและธาตุอาหารกับพืชผักได้
6. การให้น้ำสำหรับการปลูกพืชผักในพื้นที่น้อย
พืชผักที่ปลูกจะเป็นพืชอายุสั้น ดังนั้น ระบบรากจะค่อนข้างตื้น การให้น้ำต้องสม่ำเสมอ รดน้ำในช่วงเช้า-เย็น ระวังอย่าให้น้ำแฉะเกินไป และที่สำคัญไม่ควรดน้ำช่วงที่มีแดดจัด เพราะน้ำเป็นสื่อกลางนำอุณหภูมิที่สูงทำให้พืชผักเสียหาย นอกจากนี้ ผักยังเป็นพืชบอบบางไม่ควรให้น้ำที่รุนแรงจนเกิดรอยแผลทำให้เชื้อโรคเข้าทำลาย
7. การเก็บเกี่ยวพืชผักสำหรับคนเมือง
เมื่อพืชที่ปลูกได้อายุสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว ควรเก็บในช่วงเวลาเช้าให้อายุการพืชผักที่เก็บควรได้ตามเวลาที่ระบุของพืชชนิดและสายพันธุ์นั้นๆ ส่วนผักใบเก็บกินได้ทุกช่วงอายุ แต่ไม่ควรเก็บเกี่ยวผักเกินอายุ เพราะผักจะแก่เหนียวมีเส้นใยมากเกินไป
ผักบางชนิดอาจเก็บกินได้มากกว่า 1 ครั้ง อย่างเช่น ผักบุ้ง หอมแบ่ง กุยช่าย ซึ่งหลังจากที่ตัดใบแล้วต้องเหลือลำต้นและรากเอาไว้ พืชเหล่านี้ก็จะงอกให้ผลผลิตอีกครั้ง
แหล่งข้อมูล
ศูนย์วิทยบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร