เผยแพร่ |
---|
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยว่า บพท. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์และบุรีรัมย์ วางเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศ ดังนั้นโจทย์สำคัญคือการหาคนจนตัวจริงให้ได้เพื่อจะได้ช่วยเหลือได้ตามเป้าหมาย ซึ่งในการค้นหาคนจนได้ใช้ข้อมูลของภาครัฐทุกมิติจากระบบฐานข้อมูล TPMAP PPPconnext และ ข้อมูลความยากจนของจังหวัดมาวิเคราะห์และจำแนกครัวเรือนยากจน จนได้กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง คือประชาชนส่วนหนึ่งในพื้นที่ต.ยะวึก อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์และ ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
พบว่าทั้งสองจังหวัดมีบริบทใกล้เคียงกันโดยคนยากจนที่ได้มาเป็นกลุ่มตัวอย่างในโครงการส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือทำนาเป็นอาชีพหลัก มีรายได้จากการทำนา เบี้ยผู้สูงอายุ และบัตรสวัสดิการคนจน แต่ละครัวเรือนมีผู้สูงอายุและเด็กขณะที่วัยแรงงานไปขายแรงงานในตัวเมืองหรือกรุงเทพฯ รายได้อีกส่วนมาจากลูกหลานส่งมาหรือบางครัวเรือนไม่มีรายได้ดังกล่าว สำหรับการศึกษาสูงสุดคือมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนประจำตำบล ข้อมูลเหล่านั้นได้นำมาประชุมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะความร่วมมือจากคณะสงฆ์ในจังหวัดโดยความอนุเคราะห์ของพระพรหมวชิรโมลี อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์และบุรีรัมย์
ทั้งนี้มีประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งได้ใช้ฐานข้อมูลคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าฐานเส้นความยากจน มาเข้าโครงการเบื้องต้นเริ่มโครงการปี2564 -67 ดำเนินการได้ประมาณ 5 พันคนสิ้นโครงการปี 70 คาดว่าจะส่งเสริมได้ประมาณ 10,000 ราย โดยที่สุรินทร์ ได้มีโครงการปลูกผักโครงการส่วนผักพุทธเมตตา จากการอนุเคราะห์ของพระพรหมวชิรโมลีสนับสนุนปัจจัยสมทบครัวเรือนละ 12,000 บาท ซึ่งเกษตรกรในโครงการได้แบ่งเงิน 500 บาทมาร่วมกันจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์แก้จนชุมชนยะวึกเมื่อ 13 ส.ค. 2564 ขณะที่บุรีรัมย์มีโครงการเกษตรแปลงรวมบ้านนาเกียรตินิยมทำให้เกษตรจากทั้งสองโครงการมีรายได้จากการขายผักอย่างน้อย 150 บาทถึง500 บาทต่อวันจากการขายผักให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ทำงานไม่มีเวลาปลูกผักรับประทานในครัวเรือน และพ่อค้าแม่ค้าในตลาดระดับอำเภอ จากเดิมที่ไม่มีรายได้อะไรเลยนอกจากรอขายข้าวนาปีๆและหนึ่งครั้ง จากโมเดลทั้งสองแห่งจะมีการขยายพื้นที่โครงการเพื่อให้คนยากจนเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มมากขึ้น และเมื่อชุดวิจัยสำเร็จครบตามเป้าหมายในปี 70 จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้จังหวัดสานงานต่อเพื่อความยั่งยืน
สำหรับที่บ้านยะวึก จ.สุรินทร์ มี ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัยการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่าครัวเรือนยากจนที่ยะวึกที่เข้าโครงการ 50 ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยปีละ 36,000 บาท ส่วนมากคือรายได้จาการทำนา เมื่อมาเข้าโครงการปลูกผักมีรายได้จากการขายผัก ประมาณ 100 บาทถึง 400 บาท ขณะเดียวกันก็ยังลดรายจ่ายครัวเรือนปีละ 18,000 บาทต่อปี ซึ่งสมาชิกจะมีค่าใช้จ่ายในนามกลุ่มเพียงเดือนละ 10 บาทเพื่อใช้ในการบำรุงรักษาเครื่องมือในการทำการเกษตร
นส.รามาวดี อินอุไร ประธานชุมชนปลูกผักอินทรีย์แก้จนบ้านยะวึก กล่าวว่า เป็นคนจนที่เดิมไม่กล้าพูดไม่กล้าประกาศตนว่าเราเป็นคนจน แต่หลังจากเข้าโครงกาได้รับการฝึกการทำเกษตรที่ถูกต้องจนได้ผลดีได้รับมอบให้เป็นวิทยากรในกลุ่ม จนหลายครัวเรือนประสบความสำเร็จคือมีความรู้ในการปลูกผักที่ถูกต้อง ใช้เมล็ดพันธุ์ได้ถูกต้อง ผักงาม มีคุณภาพและขายได้ราคาที่เป็นธรรม ทำให้มีรายได้ให้ลูกหลานไปโรงเรียนเกิดความภาคภูมิใจ มีความสุขที่สามารถหาเงินได้เพิ่มขึ้นบ้างจากเดิมที่แทบไม่มีรายได้ใดๆนอกจากรอวันเกี่ยวข้าว
นางเอกปริญญ์ รักษา ผู้ใหญ่บ้านนาเกียรตินิยม อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ในฐานะเกษตรกรผู้นำในโครงการโมเดลเกษตรแปลงรวม บ้านนาเกียรตินิยม กล่าวว่าก่อนหน้านั้นไปศึกษาดูงานการปลูกผักหลายพื้นที่ เพราะเห็นว่าที่บ้านนาเกียรตินิยมมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าของท้องถิ่น น่าจะเอามาทำประโยชน์ได้ ก็มาเจอกับอาจารย์ดร.พิสมัย ประชานันน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเครือข่ายและองค์กรสัมพันธ์มหาวิทยาราชภัฏบุรีรัมย์ที่กำลังทำโครงการ จึงได้หาคนจนตามทะเบียนที่สถาบันได้ลงพื้นที่สำรวจ มีครัวเรือนในพื้นที่ที่สนใจ 37 ครัวเรือนและเริ่มลงมือทำโดยการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลสะแกโพรง ซึ่งสมาชิกจะมีการบริหารจัดการการปลูกตามความชอบความถนัด แต่ต้องมาวางแผนร่วมกันเพื่อไม่ให้ผลผลิตซ้ำกันมากเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม ทำให้ทุกคนมีรายได้ทุกวันโดยเฉพาะการรับซื้อผักจากรถพุ่มพวงที่จะเข้ามาซื้อในพื้นที่เพื่อนำไปจำหน่าย นอกจากนั้นยังมีร้านค้าใกล้เคียงสนใจเข้ามาติดต่อซื้อขายด้วย ซึ่งทั้งหมดดีใจมากเพราะสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง.