เผยแพร่ |
---|
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ หมู่ที่ 5 ตำบลช้างซ้าย อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช มี นายช่วง สิงโหพล เป็นหัวหน้าศูนย์ หนึ่งในศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ จากจำนวน 221 แห่งทั่วประเทศ ที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร. ) ได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์การประเมินและกระบวนการตามหลัก Plan Do Check Act : PDCA จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ในโครงการขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงให้แก่เกษตรกรหลากหลายสาขา ได้แก่ ด้านเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ ประมง ปศุสัตว์ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ นำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
สำหรับนายช่วง สิงโหพล ปัจจุบันมีอาชีพเป็นเกษตร เดิมเป็นข้าราชการบำนาญอยู่กับภรรยาพื้นที่ทำกินสภาพเดิม ดินเสื่อมโทรมต้องปรับปรุงก่อนปลูกพืช จึงสมัครเป็นหมอดินอาสาในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช นำความรู้มาพลิกฟื้นสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่กลับมาใช้ประโยชน์ด้านการเพาะปลูกได้ โดยหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเอง และปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาหน้าดิน ริมขอบสระน้ำในพื้นที่ ทำนาปลูกข้าวพันธุ์เล็บนก ซึ่งเป็นข้าวไวต่อช่วงแสงในระบบนาดำตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ข้าวอายุ 6 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว และเป็นข้าวที่นิยมบริโภคในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง (สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ ระนอง พังงา ภูเก็ต และสงขลา) มีผลผลิตเฉลี่ย 476 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาโรงสีท้องถิ่นรับซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 9,500-10,000 บาทต่อตัน โดยกลุ่มโรงสีในพื้นที่รับซื้อไม่จำกัดจำนวน และให้ราคาสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ ด้วยเป็นข้าวที่มีคุณภาพ เมื่อหุงเป็นข้าวสุกจะอ่อน นุ่ม เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและตลาดภาคใต้
นายช่วงเป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ สร้างภูมิปัญญาต่างๆ ไว้มากมายมาย จนพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในปัจจุบัน โดยในพื้นที่มีกิจกรรมให้ศึกษาดูงานมากมาย อาทิ การปลูกข้าวและสีข้าวเองเพื่อบริโภคในครอบครัว มีการทำปุ๋ยชีวภาพจากหัวเชื้อที่หมักมาจากเศษอาหารในครัวเรือน หัวปลา และเศษหญ้าวัชพืชในพื้นที่และแกลบที่ได้จากการสีข้าว เพื่อใช้ปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น มีสระเก็บกักน้ำไว้ใช้ยามฝนทิ้งช่วงหรือหน้าแล้งในสระเลี้ยงปลากินพืช มีการปลูกพืชชนิดต่างๆ ใช้วิธีแบบ 4 ชั้นในการเพาะปลูกพืช คือ ชั้นที่ 1 ปลูกพืชให้หัว เช่น เผือก มัน สาคู ชั้นที่ 2 ปลูกพืชคลุมดิน เช่น ชะพลู ข่า กระวาน ชั้นที่ 3 ปลูกพืชไม้เลื้อย เช่น บวบ พริกไทย และ ชั้นที่ 4 ปลูกไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ไม้ไผ่ ระกำ เป็นต้น เพื่อให้พันธุ์พืชเจริญเติบโตแบบอิงอาศัยซึ่งกันและกันตามแนวทางสวนสมรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรพื้นที่ภาคใต้เมื่ออดีต นอกจากนี้ ยังปลูกหญ้าแฝกจำหน่ายให้แก่กรมพัฒนาที่ดิน มีรายได้เพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากปลูกพืชแล้วยังเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่พันธุ์พื้นเมือง ไก่ดำภูพาน และไก่ไข่ที่โครงการศูนย์ผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทานปากพนัง นำมาส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง กินอาหารตามธรรมชาติได้ เช่น หญ้าเนเปียร์ หญ้าหวายข้อ โดยเลี้ยงแบบปล่อยเพื่อไม่ให้ไก่เครียด วันหนึ่งได้ไข่ไก่ประมาณ 30 ฟอง เหลือบริโภคขายฟองละ 5 บาท เป็นที่ต้องการของตลาดลูกค้าต้องสั่งจอง ทำให้มีรายได้ประจำวันไม่ต่ำกว่า 200 บาท นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนและผู้คนในชุมชนเข้ามาศึกษา เช่น การทำนา การใช้แกะเก็บข้าวซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น สำหรับการปลูกข้าวเน้นการบริโภคภายในครอบครัวเป็นหลัก เหลือขาย
ปัจจุบันนายช่วง สิงโหพล มีอายุ 82 ปี ได้ถ่ายทอดแนวคิด ประสบการณ์ ภูมิปัญญา ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศษฐกิจพอเพียงให้แก่ลูกชาย เป็นผู้รับช่วงต่อดูแลศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ เพื่อสานต่อแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถ่ายทอดภูมิความรู้ ประสบการณ์ และความสำเร็จจากการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติจนเกิดความยั่งยืนโดยไม่ให้สูญหายไป
“รู้สึกภูมิใจที่เรามีในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาให้ประชาชนชาวไทย เพื่อใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้มั่นคง ไม่เดือดร้อนไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร อย่างผมไม่เดือดร้อนเลย มีข้าวที่ปลูกเอง ในบ่อก็มีปลาหลายชนิดให้เลือกทั้งปลาสวาย ปลานิล ปลาตะเพียน อยากกินก็ไปตกมาไม่ต้องซื้อ ผักก็มีปลูกริมสระเกือบทุกชนิดที่นิยมกินในภาคใต้ และหากเราทำตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง คือการทำแบบพอประมาณ พึ่งพาตนเองได้ เริ่มต้นจากเล็กไปใหญ่ รู้จักการบริหารจัดการอย่างคุ้มค่า ไม่ลงทุนเกินกำลัง ชีวิตก็จะสมบูรณ์ มีกิน มีใช้ มีเก็บ อยู่ได้โดยไม่ลำบากรวมทั้งยังได้แบ่งปัน นี่แหละคือความสุขที่สุดของชีวิต” นายช่วง สิงโหพล กล่าว