ศูนย์นาสาธิตรัชมงคล ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตต่อไร่

คอลัมน์ ตามรอยฟ้า

นอกจากบริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา และสหกรณ์การเกษตรชุมชนในราคายุติธรรม พร้อมจำหน่ายข้าวสารในราคาเหมาะสม โดยมิได้หวังผลกำไรจากการดำเนินงาน

“ศูนย์นาสาธิตรัชมงคล” ยังเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวนา และความยั่งยืนของชุมชน ทั้งยังเป็นต้นแบบในการปรับปรุงกระบวนการปลูกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เพื่อเผยแพร่ให้กับชาวนาไทยทั่วประเทศ

เพราะที่ผ่านมาชาวนาไทยประสบปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งมีผลมาจากการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์และปุ๋ยเกินความจำเป็น

“ปรีชา โพธิ” รองผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และกิจกรรมสังคม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานแก่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนา ผ่านการจัดตั้งโรงสีข้าวรัชมงคล เพื่อรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาโดยมิได้มุ่งหวังกำไร

ภายหลังจากการปรับปรุงธุรกิจ โดยใช้แนวทางการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ทำให้สามารถลดทุนในระบบ และทำให้ธุรกิจที่ประสบปัญหาการขาดทุนฟื้นตัวขึ้น จนมีกำไรพอที่จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ บริษัทจึงมีแนวความคิดที่จะช่วยชาวนาในโอกาสต่อไป

“การที่เราจะช่วยเหลือคนอื่นได้ เราจะต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ก่อน ตรงนี้จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการช่วยชาวนา โดยการทดลอง และทำให้เห็นจริง ผ่านศูนย์นาสาธิตรัชมงคลขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบในการปรับปรุงกระบวนการปลูกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เพื่อเผยแพร่ให้กับชาวนาไทยทั่วประเทศ”

การจะช่วยเหลือชาวนานั้น เรื่องการบริจาคเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด แต่การที่ให้ชาวนาช่วยตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญและยากกว่า เพราะปัญหาของชาวนาคือไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาขายที่ดีได้ อีกทั้งในเรื่องของคุณภาพ และการทำให้ต้นทุนลดต่ำลง

“เราทำการศึกษากระบวนการทำนาจนพบว่าชาวนาประสบปัญหา 3 เรื่อง คือ 1.ดิน ซึ่งไม่รู้ว่าที่นาของตัวเองเป็นดินชนิดใด มีศักยภาพ และมีสารอาหารอย่างไรบ้าง 2.ศักยภาพของดิน ถึงแม้มีการตรวจสอบคุณภาพของดินอยู่เสมอ แต่ไม่รู้ว่าต้องใช้สารปรับปรุงดินอย่างไรบ้าง และ 3.เมล็ดพันธุ์ข้าว”

“ปรีชา” บอกว่า จากปัญหาดังกล่าว ศูนย์นาสาธิตรัชมงคลจึงนำปัญหาดังกล่าวมาเป็นตัวตั้ง และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อทำให้ชาวนามีต้นทุนที่ลดต่ำลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยนำนวัตกรรมและความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งยังเป็นที่ยอมรับในระดับสากลของโตโยต้า ไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตแบบโตโยต้า วิถีโตโยต้า และไคเซ็น (Kaizen) เข้ามาช่วยปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำนาในรูปแบบใหม่ ๆ

“เมื่อพัฒนารูปแบบและวิธีการทำงานที่ร่วมกับโตโยต้าแล้ว เราพบว่าต้องกระตุ้นให้ชาวนารู้ถึงต้นทุนกระบวนการผลิตของตัวเอง เน้นการทำนาแบบมีกำไร และนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การลดต้นทุนนั้นจำเป็นต้องควบคุมปัจจัยการผลิต ทั้งเรื่องของเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย ด้วยการตรวจหาค่าวิเคราะห์ของดินในแต่ละแปลง แล้วสั่งทำปุ๋ยให้เหมาะสมกับลักษณะของดินในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้สารอาหารกับดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังต้องตรวจคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก เพื่อลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์เกินความจำเป็น”

“ส่วนการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เราสร้างมาตรฐานการทำนาใหม่ โดยเปลี่ยนจากการปลูกข้าวแบบหว่านเมล็ดพันธุ์ เป็นการดำนา ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการกำหนดจุดวางเมล็ดพันธุ์เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างต้นให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความชื้นและความหนาแน่นของต้นข้าว อันเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการรับแสงแดด และเพิ่มพื้นที่ให้ต้นข้าวเจริญเติบโตอย่างเต็มที่”

“ไม่เพียงเท่านี้ เรายังแนะนำให้ชาวนาไถกลบเศษฟางและตอซังข้าว โดยตัวฟางข้าวมีสารอาหารอยู่ประมาณ 20-30% ซึ่งทำให้กลายเป็นอินทรียวัตถุ เป็นสารอาหารให้กับดินในแปลงนา รวมถึงการปลูกพืชรอบคันนา ซึ่งที่ผ่านมามีการทดลองปลูกดอกดาวเรืองกว่า 500 ต้น นอกจากจะช่วยล่อแมลงแล้ว ยังสามารถเก็บขายสร้างรายได้ในอีกทางหนึ่ง”

“ปรีชา” กล่าวอีกว่า หลังจากที่ทำการทดลองทำนาบนพื้นที่นาสาธิต จำนวน 4 แปลง แปลงละ 1 ไร่ โดยใช้รูปแบบ และวิธีการที่กล่าวมาข้างต้น พบว่าสามารถลดต้นทุนทั้งเรื่องของปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ถึง 68% หรือจาก 1,300-1,500 บาทต่อไร่ เหลือ 500-700 บาทต่อไร่

“เราหวังว่าศูนย์นาสาธิตรัชมงคลจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนา และเป็นต้นแบบการปลูกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีแผนต่อยอดผ่านการศึกษาเพื่อพัฒนาวิธีการปลูกข้าวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการขยายองค์ความรู้สู่พื้นที่ต่าง ๆ โดยปีนี้เข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ในเรื่องการทำนาในพื้นที่ อ.โนนทราย จ.ร้อยเอ็ด ส่วนในปี 2561 คาดว่าจะขยายไปสู่ จ.มหาสารคาม และ จ.ขอนแก่น และในภาคเหนือต่อไป”

“อีกทั้งยังมีการจัดทำแอปพลิเคชั่นในการทำปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ของดิน (ปุ๋ยสั่งตัด) โดยการวิเคราะห์และคำนวณคุณภาพของดิน ซึ่งจะช่วยวางแผนการเพาะปลูกให้กับชาวนา รวมถึงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ เราเข้าไปขยายองค์ความรู้”

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการดำเนินงานของศูนย์นาสาธิตรัชมงคลได้น้อมนำหลักทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ ทั้งการวิเคราะห์ปัญหาว่าเป็นอย่างไร มีแนวทางการแก้ไขอย่างไรบ้าง การระเบิดจากภายใน ด้วยการทำให้ชาวนาเห็นเป็นตัวอย่าง และเกิดการทำตาม รวมถึงการทำปัญหาที่เล็ก ๆ และง่าย ๆ ก่อน

ด้วยการทำในแปลงสาธิต จนเกิดการขยายผลไปพื้นที่อื่น ๆ และที่สำคัญมีการเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งในโครงการศูนย์นาสาธิตรัชมงคลแห่งนี้ และในพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย