30 ปี ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ จ.ศรีสะเกษ ส่งเสริมราษฎร จากอาชีพเสริมสู่อาชีพหลักอย่างสมบูรณ์

ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ ก่อตั้งมาครบ 30 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่ร่วมสนองงานในโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ และจังหวัดศรีสะเกษ

 

จึงได้จัดงานวันก่อตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ขึ้น ภายใต้ชื่องาน“สืบสาน รักษา ต่อยอด ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” และ “ใต้ร่มพระบารมี 30 ปี ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานเปิดงาน

การนี้ นายวัชระ หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา สำนักงาน กปร. กล่าวว่า สำนักงาน กปร. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ จัดงานดังกล่าวขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงก่อตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ขึ้น และได้พระราชทานพระราชดำริการพัฒนาด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

 

“ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริจนก่อเกิดผลสำเร็จทั้งในเรื่องดิน น้ำ ป่า และอาชีพ สามารถขับเคลื่อนขยายผลไปสู่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม สร้างประโยชน์สุขและความมั่นคงทางอาหารตามแนวชายแดน เป็นไปตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความยั่งยืน” นายวัชระ หัศภาค กล่าว

Advertisement

ด้านนายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เผยถึงกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการในโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ซึ่งนอกจากทำหน้าที่ในการบำรุงรักษาแปลงปลูกป่า และ ปลูกไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ หวาย และไผ่ตง ให้กับพื้นที่โครงการฯ แล้ว ยังได้มีการจัดทำแปลงสาธิตการใช้ประโยชน์จากป่าโดยไม่ทำลายป่า รวมทั้งการเพาะกล้าไม้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้แก่ราษฎรและส่วนราชการนำไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม พร้อมให้คำแนะนำและบริการแก่ราษฎรและนักเรียนในการศึกษาดูงานกิจกรรมป่าไม้ ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เข้ามาศึกษาดูงานและรับการฝึกอบรมวิชาการด้านป่าไม้ด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

Advertisement

“กิจกรรมด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ ในพื้นที่ 23 ไร่ ภายในศูนย์ฯ จะมีแปลงสาธิตด้านการทำเกษตรควบคู่กับการอนุรักษ์ป่าไม้หลายอย่าง เช่น การปลูกหวายในป่าเศรษฐกิจ หรือในแปลงปลูกไม้ผลยืนต้น เช่น ทุเรียน ยางพารา ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรและราษฎรเข้ามาศึกษาดูงานพร้อมรับพันธุ์กล้าไม้ชนิดที่ตนเองสนใจนำไปปลูกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จนเกิดอาชีพเนื่องจากป่าที่ปลูกสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี เช่น การเก็บเห็ดชนิดต่างๆ การตัดยอดหวายขาย หลายรายในปัจจุบันได้พัฒนาจากอาชีพเสริมมาเป็นอาชีพหลัก ด้วยผลผลิตจากป่าสามารถเก็บกินเก็บขาย และนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ตลอดทั้งปี นับว่าประสบความสำเร็จในการขยายผลจากอาชีพเสริมสู่อาชีพหลักได้เป็นอย่างดี” นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ กล่าว

ส่วนนายยอย แก้วสาลี เกษตรกรต้นแบบด้านการปลูกหวาย ต.ห้วยตึ๊กชู อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เผยว่า ได้รับความรู้ด้านการปลูกป่าและหากินในป่าโดยไม่ต้องทำลายป่าจากงานพัฒนาป่าไม้ของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ โดยใช้พื้นที่ 11 ไร่ ทำเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงแบบผสมผสาน 2 ไร่ ทำนา 4 ไร่ ปลูกยางพารา 5 ไร่ ที่เหลือ ปลูกหวาย ปลูกกล้วย ปลูกไม้ผลอื่น ๆ ผสมกับไม้เศรษฐกิจ และเลี้ยงปลา

“ทุกวันนี้มีรายได้ดี จากที่ได้รับความรู้เรื่องการปลูกหวายเพื่อตัดยอดจากศูนย์ฯ ภูสิงห์ หลังอบรมได้ต้นพันธุ์หวายและพันธุ์ไม้อื่น ๆ มาปลูก ทุกวันนี้มีกินมีใช้ก็เพราะมีศูนย์ภูสิงห์มอบความรู้ให้เป็นประโยชน์กับชาวบ้านมาก ถ้าเราอยากเลี้ยงปลาก็มาที่ศูนย์ฯ ไปที่งานประมง อยากได้ไก่ไปเลี้ยงก็ไปที่งานปศุสัตว์ อยากได้ไม้ยืนต้นให้ผลก็ไปที่กรมส่งเสริมการเกษตร อยากได้หวายก็ไปงานป่าไม้ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ แล้วจะได้สิ่งที่ต้องการทั้งความรู้และปัจจัยการผลิตเบื้องต้น
เพื่อนำมาต่อยอดต่อไป” นายยอย แก้วสาลี กล่าว

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้ง 2 พระองค์ อีกทั้งจะได้นำความรู้และผลสำเร็จที่เกิดจากศูนย์ฯ แห่งนี้ ไปปรับใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเองต่อไป ภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการประวัติความเป็นมาของศูนย์ฯ นิทรรศการ 3 ของดีของศูนย์ฯ นิทรรศการการขยายผลความสำเร็จสู่เกษตรกรตลอดระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งการจัดแสดงผลสัมฤทธิ์จากหน่วยงานร่วมในรูปแบบของผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ผ้าไหมจากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ อำเภอภูสิงห์ ข้าวกล้องจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ ผลผลิตจากป่าปลูก เป็นต้น