ที่มา | ไม้ดอกไม้ประดับ |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
อโกลนีมา (Aglaonema ) สกุลของพืชไม้ประดับที่มีความสวยงามที่ใบ ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งไม้ประดับ” เป็นลำดับพืชที่มีมากกว่า 100 ชนิด ปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้สีสันสวยงาม นิยมเพาะเลี้ยงเพื่อความสวยงาม และจัดเป็นไม้มงคล มีการตั้งชื่อสายพันธุ์ภาษาไทยที่สื่อความหมายทางโชคลาภ เช่น กวักมหามงคล บัลลังก์ทับทิม บัลลังก์ทอง เพชรน้ำหนึ่ง ฯลฯ นอกจากความสวยงามแล้ว ยังเป็นไม้ฟอกอากาศได้ดี สามารถดูดซับก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ ลดมลพิษภายในอาคาร นับเป็นไม้ประดับใบที่มีอนาคตไกล เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและส่งออกอย่างต่อเนื่อง
การขยายพันธุ์อโกลนีมา สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เช่น การตอน การแยกหน่อ การชำ และ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่วนการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ คือใช้เมล็ด ปกติเมล็ดของต้น อโกลนีมาที่ได้จากการผสมตัวเองจะมีลักษณะเหมือนต้นแม่ แต่ถ้ามีการผสมข้ามระหว่างสกุลสามารถสร้างลูกผสมใหม่ๆ เกิดขึ้น
ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตอโกลนีมานิยมขยายพันธุ์ด้วยการปักชำเป็นส่วนใหญ่ บางกรณีมีการขยายพันธุ์ด้วยการซื้อต้นกล้าขนาดเล็กที่เพิ่มจำนวนด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นไม้จำนวนมากให้ทันต่อการส่งออก สำหรับการพัฒนาพันธุ์อโกลนีมาโดยการคัดเลือกต้นกลายที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่ได้มีการผสมเกสรเพื่อให้ได้ลักษณะใหม่นั้น ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาค่อนข้างนาน
ดร.วุฒิพงษ์ แปงใจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์อโกลนีมาด้วยรังสีแกมมา ในกลุ่มผู้ปลูกอโกลนีมา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เพื่อให้เกษตรกรสามารถพัฒนาพันธุ์อโกลนีมาได้ด้วยตนเอง และเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายต่ำแต่ให้ประสิทธิภาพสูง เพื่อทำให้การค้าอโกลนีมาเกิดความยั่งยืนในอนาคต ภายใต้การสนับสนุนของ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ผลการศึกษาพบว่า เมื่อฉายรังสีแกมมาปริมาณ 3 Gy ในอโกลนีมาพันธุ์การค้า เช่น พันธุ์มณีแดง พันธุ์หลักทรัพย์ และพันธุ์กวักทอง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสันฐานวิทยาสูงที่สุด พบว่า ใบมีการเปลี่ยนแปลงสี ขนาด และรูปร่าง เมื่อตรวจสอบผิวใบของต้นที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางสัญฐานวิทยา พบการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของปากใบ ดังนั้นการฉายรังสืปริมาณ 3 Gy จึงเหมาะสมสำหรับการปรับปรุงพันธุ์อโกลนีมาเชิงการค้า
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมนี้ สามารถติดต่อดูงานกับ ดร.วุฒิพงษ์ แปงใจ สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มือถือ: 088-627-2875 Email: [email protected]