สศก. ลงพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ และน่าน สำรวจแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เผย 5 มาตรการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกร

นายเอกราช ตรีลพ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และน่าน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยทีมสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า ฤดูการผลิตปี 2567/68 ทั้ง 3 จังหวัดมีเนื้อที่เพาะปลูกรวมประมาณ 1.05 ล้านไร่ (เชียงราย 260,404 ไร่ เชียงใหม่ 286,950 ไร่ และน่าน 505,173 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 16.25 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ซึ่งลดลงจากปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูกรวมประมาณ 1.06 ล้านไร่ หรือลดลงร้อยละ 0.94 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช/วัชพืช ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังและข้าว ซึ่งสามารถเก็บท่อนพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น ยางพารา กาแฟ และโกโก้ เป็นต้น

นายเอกราช ตรีลพ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ด้านผลผลิตรวมของทั้ง จังหวัด คาดว่ามีปริมาณ 0.73 ล้านตัน (เชียงราย 186,146 ตัน เชียงใหม่ 215,698 ตัน และน่าน 332,947 ตัน) คิดเป็นร้อยละ 15.40 ของผลผลิตทั้งประเทศ ลดลงจากปี 2566/67 ที่มีผลผลิตปริมาณ 0.75 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 2.67 ตามการลดลงของเนื้อที่เพาะปลูก โดยผลผลิตของทั้ง 3 จังหวัด เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 โดยในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567 เป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ของทั้ง 3 จังหวัด ออกสู่ตลาดมาก ขณะนี้จังหวัดน่านเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณร้อยละ 40 ส่วนจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณร้อยละ 70

สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ เดือนพฤศจิกายน 2567 ชนิดเมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% พบว่า ในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.50 บาท และน่านเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.22 บาท สำหรับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ ชนิดเมล็ดความชื้น 30% ในจังหวัดเชียงราย ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.64 บาท จังหวัดเชียงใหม่ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.85 บาท และจังหวัดน่าน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.47 บาท เกษตรกรส่วนใหญ่เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะขายผลผลิตให้กับพ่อค้ารับซื้อในท้องถิ่นทันทีโดยไม่มีการปรับลดความชื้น หรือปรับปรุงคุณภาพก่อนจำหน่าย ดังนั้น ราคาที่เกษตรกรขายได้จึงขึ้นอยู่กับระดับความชื้น สิ่งเจือปน ณ ขณะนั้น

จากการสอบถามเกษตรกรในพื้นที่พบว่า เกษตรกรเห็นด้วยหากภาครัฐจะมีการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 และควรมีมาตรการสนับสนุนต้นทุนในการไถกลบหน้าดินทดแทนการเผาวัสดุเหลือใช้ภายในแปลงปลูก นอกจากนี้ ยังต้องการให้ภาครัฐช่วยพยุงราคาไม่ให้เกิดความผันผวนในช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเพิ่มช่องทางการตลาด ปี 2567/68 รวมจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปี 2567/68 และ (3) โครงการเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2567/68 ตลอดจนมีมาตรการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 และ (2) โครงการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประเทศไทย (ปีที่ 1) ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยไม่ต้องเร่งระบายผลผลิต และช่วยดูดซับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก จะส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการผลิตของตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงในการประกอบอาชีพการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้อย่างยั่งยืน

Advertisement

Advertisement