อดีตเชฟชูทางเลือกใหม่ ปลูก ‘ผักขี้เหร่’ พลิกโอกาสเกษตรอินทรีย์ สร้างคุณค่าเทียบชั้นพรีเมียม

เวลาเลือกซื้อผักตามแผงตลาด หลายคนมักมองข้ามผักที่มีรอยหนอนกัดหรือดูไม่สวยงาม และเลือกหยิบผักหน้าตาดีแทน แต่รู้ไหมว่า ‘ผักขี้เหร่’ ที่หลายคนมองข้ามนั้น ไม่เพียงมีประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าผักสวยๆ แต่ยังสามารถสร้างรายได้ได้ดีไม่แพ้กันอีกด้วย

คุณแพตตี้-ปิตุพร ภูโชคศิริ เจ้าของ Hug hed farm
คุณแพตตี้-ปิตุพร ภูโชคศิริ เจ้าของ Hug hed farm

วันนี้ เทคโนโลยีชาวบ้าน ขอพาทุกคนไปรู้จักกับ คุณแพทตี้-ปิตุพร ภูโชคศิริ เจ้าของ Hug Hed Farm อดีตเชฟมืออาชีพในต่างประเทศ ที่ตัดสินใจหันหลังให้ครัวเมืองนอก กลับมาปลูกผักออร์แกนิคในบ้านเกิด จนสามารถต่อยอดความสำเร็จ ส่งผักสดคุณภาพสู่ชั้นวางในห้างได้อย่างภาคภูมิใจ

หลายคนอาจสงสัยว่า อาชีพเชฟที่มีรายได้ดี ทำไมถึงเลือกเปลี่ยนเส้นทางมาทำเกษตร?

คุณแพท เล่าว่า “ตอนที่ทำงานเป็นเชฟอยู่ต่างประเทศ มีช่วงวันหยุดยาวประมาณ 3-4 เดือน ก่อนเริ่มงานใหม่ เลยตัดสินใจกลับบ้าน และลองทำโรงเห็ดเล็กๆ หลังบ้าน คิดแค่ว่าจะปลูกเห็ดขายเล่นๆ ระหว่างพักงาน แล้วค่อยกลับไปทำงานตามแผนเดิม แต่ตอนนั้นเป็นเพียงความคิดเริ่มต้นเท่านั้น”

ช่วงที่กลับมาอยู่บ้านตรงกับช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนแผนกลับไปทำงานต่างประเทศออกไป จากนั้นจึงเริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์ โดยมองว่าโรคระบาดครั้งนี้เป็นบทเรียนที่ทำให้มนุษย์ตั้งตัวไม่ทัน แต่หากเราปลูกผักปลอดภัยไว้รับประทานเองหรือจำหน่าย น่าจะตอบโจทย์ความต้องการในสถานการณ์เช่นนี้

Advertisement

ที่มาของการเริ่มต้นทำเกษตร

จุดเริ่มต้นของ Hug Hed Farm เกิดจากความตั้งใจของคุณแพทที่อยากกลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน แต่การกลับมาครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การพักผ่อน เพราะได้สร้างอาชีพใหม่ให้กับตัวเอง ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัว คุณแพทมองว่า ‘เกษตรกรรม’ ผสานกับแนวคิด ‘อาหารยั่งยืน’ คือคำตอบที่ลงตัว

Advertisement

จุดเริ่มต้นของการทำเกษตรเริ่มจากโรงเห็ดเล็กๆ หลังบ้าน บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ จากนั้นจึงพัฒนาสู่แปลงออร์แกนิคบนพื้นที่ 7 ไร่ พร้อมผสมผสานการทำเกษตรรูปแบบอื่นๆ โดยมีการจัดสรรพื้นที่อย่างชัดเจน พืชหลักที่ปลูก ได้แก่ มะเขือเทศ ผักสลัด และพืชต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากชุมชนที่ส่วนใหญ่นิยมปลูกผักสวนครัวทั่วไป คุณแพทมองเห็นโอกาสในตลาด เนื่องจากพืชต่างประเทศยังไม่ค่อยมีคนปลูกในพื้นที่ จึงเลือกปลูกพืชแปลกใหม่ให้ชาวบ้านได้ลองชิม พร้อมสร้างจุดเด่นที่แตกต่าง

ที่ฟาร์มจะเน้นปลูกพืชหมุนเวียน พร้อมวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี โดยใช้ระบบพรีออเดอร์ล่วงหน้า ซึ่งผักจากฟาร์มส่วนใหญ่จะส่งให้โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร การสั่งออเดอร์ล่วงหน้าทำให้สามารถคำนวณปริมาณที่ลูกค้าแต่ละรายต้องการในแต่ละสัปดาห์ได้อย่างชัดเจน ฟาร์มจึงผลิตให้พอดีกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังมีการทำ Contact Farming หรือการปลูกพืชร่วมกับเกษตรกรในเครือข่าย โดยใช้มาตรฐาน Organic Thailand เพื่อรับรองคุณภาพสินค้า

“ผักขี้เหร่” เพิ่มมูลค่าอย่างไรดี?

ผักไม่สวย หรือที่เรียกกันว่า ‘ผักขี้เหร่’ จริงๆ แล้วเป็น pain point ของการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะในการปลูกผัก 100 ต้น จะมีต้นที่ไม่สวยประมาณ 30 ต้น หลายคนแนะนำให้เอาไปทำปุ๋ยหมัก ทำอาหารสัตว์ หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่พอได้ลงมือทำเกษตรจริงๆ ก็พบว่ากระบวนการแปรรูปเหล่านี้เพิ่มต้นทุนการผลิตมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร เครื่องอบ หรือเครื่องแพ็ค สุดท้ายเราจึงตัดสินใจไม่แปรรูป แต่เลือกขายผักจากแปลงในแบบที่เป็น ถึงแม้หน้าตาอาจไม่สวย แต่ก็ยังคงความปลอดภัยและรสชาติเหมือนกับผักพรีเมี่ยม 70 ต้นที่หน้าตาดี

คุณแพท เล่าว่า “หากให้เกษตรกรทำโรงผัก ก็จะเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยไม่จำเป็น และเราก็ไม่มีเวลามากพอที่จะจัดการทั้งหมด เราจึงอยากขายผักสดที่มีคุณภาพแทนให้กับคนที่เห็นคุณค่าแท้จริงของผักออร์แกนิค เราค่อยๆ ปลูกแนวคิดนี้ขึ้นมา เพราะในต่างประเทศแนวทางแบบนี้มีอยู่แล้ว ผักที่หน้าตาไม่สวยจริงๆ ก็ยังอร่อยและมีคุณภาพดีไม่ต่างกัน เราจึงลองนำผักเหล่านั้นไปให้เชฟร้านอาหารใช้ และคนส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกออกว่ามันเคยเป็นผักที่ไม่สวยมาก่อน เราจึงใช้จุดนี้เป็นจุดขาย เพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจปลูกต่อไป เพราะปัญหาหลักของพวกเขาคือการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเพื่อให้ผักดูสวยไร้แมลงกัดกิน ซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เราจึงเชื่อว่าหากผู้บริโภคยอมรับผักที่มีรอยหนอนเล็กน้อย ผักเหล่านี้น่าจะตอบโจทย์มากกว่า ไม่ต้องเสียเวลาและต้นทุนไปกับการแปรรูป เพราะปริมาณผักสดของเรายังไม่เพียงพอ เราจึงเลือกขายในรูปแบบนี้แทน”

ต่อมาได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย นานาชาติมหาลัยขอนแก่น เรื่องการทำ “Ugly veggies” เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเกษตรกรที่มีมาตรฐาน Organic Thailand ที่สามารถขายผักทั้งสวยและไม่สวยได้ผ่านช่องทางนี้ โดยมีหลายร้านและฟาร์มเข้ามาจำหน่าย ผักเหล่านี้ไม่เพียงแค่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกร แต่ยังช่วยให้ผู้บริโภคได้รู้ว่าผักหน้าตาแบบนี้มาจากฟาร์มไหน และผ่านการปลูกอย่างไรโดยตรง ช่วยสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

คุณแพทยังเสริมว่า “หากนำผักที่ไม่สวยไปขายในตลาดทั่วไป คงยากที่จะขายได้ แต่ในแพลตฟอร์มนี้กลับขายได้อย่างแน่นอน เพราะลูกค้าที่เข้ามาซื้อมีความเข้าใจเรื่องผักออร์แกนิคเป็นอย่างดี จึงไม่มีปัญหาเรื่องความสวยงามมากนัก ทำให้หลายฟาร์มสามารถเพิ่มรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลตอบรับถือว่าดีมาก”

เทคนิคการปลูกผักอินทรีย์ของ Hug Hed Farm

หัวใจสำคัญของการปลูกผักคือ ‘ดิน’ และสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้ผักเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เทคนิคคือการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ เพราะเชื่อว่าดินดีคือพื้นฐานสำคัญในการปลูกพืชทุกชนิด

การปรุงดินฉบับคุณแพต

สูตรการปรุงดินของคุณแพท มีส่วนผสมหลักดังนี้ แกลบดิน 2 ส่วน, ดิน 1 ส่วน, แกลบดิบ 2 ส่วน, ขี้วัว 2 ส่วน และหากมีแกลบดำก็เพิ่มอีกครึ่งส่วน จากนั้นคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมด หมักด้วยน้ำจุลินทรีย์ เมื่อหมักเสร็จแล้ว วิธีตรวจสอบว่าดินพร้อมปลูกหรือยังคือ ถ้าเอามือจุ่มลงไปในกองดินและรู้สึกว่าดินเริ่มเย็น แสดงว่าพร้อมสำหรับการปลูก ใช้เวลาในการหมักประมาณ 6-8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของกองดิน

น้ำหมักสูตรผีบอก

คุณแพทเล่าว่า “สูตรนี้มาจากอาจารย์ศุภชัย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการปรุงดิน และการทำน้ำหมักต่างๆ ซึ่งน้ำหมักผีบอกนี้ ก็ได้ความรู้มาละนำสูตรที่ได้มาปรับสูตรเล็กน้อย เรียกได้ว่าพืชทุกชนิดของที่ฟาร์มล้วนใช้สูตรนี้ในการบำรุง

วัตถุดิบ “น้ำหมักสูตรผีบอก”

  • ถั่วเหลืองผ่าซีก 3 กิโลกรัม
  • น้ำหมัก EM 3 ลิตร
  • กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม
  • น้ำ 50 ลิตร
  • สับปะรด 3 ลูก
  • ถัง

ขั้นตอนการทำ

เริ่มต้นด้วยการนำถั่วเหลืองผ่าซีก แช่น้ำทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นใส่ส่วนผสมต่างๆ ลงในถังหมัก ได้แก่ น้ำหมัก EM, กากน้ำตาล, น้ำ, และสับปะรด เทส่วนผสมแล้วคนให้เข้ากัน หลังจากนั้นปิดฝาถังและเก็บไว้ในที่ร่ม ควรเปิดคนทุกสัปดาห์ ทิ้งไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ จึงสามารถกรองน้ำหมักนำไปใช้ได้

ในน้ำหมักสูตรผีบอก หลังจากหมักส่วนผสมจนเข้าที่ จะทำให้เกิดกรดอะมิโนที่ช่วยเสริมการเจริญเติบโตของพืช ให้ใบเขียวสด ดอกและผลเจริญเติบโตดี ช่วยเร่งความหวานและเพิ่มสีสันของผลผลิต นอกจากนี้ยังเสริมสร้างภูมิต้านทานต่อโรคและแมลง รวมถึงช่วยให้พืชทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีขึ้น

จากที่ขายหน้าร้านและออนไลน์แล้วขายส่งห้างได้ยังไง 

“จริงๆ แล้วไม่เคยคิดว่าจะได้กลายมาเป็นคนขายผักออร์แกนิคในชุมชนของเราเลย แต่วันนี้มันไกลเกินกว่าที่เราคาดไว้มาก อาจเป็นเพราะคุณภาพของพืชที่เราปลูก ทำให้ห้างสนใจและติดต่อเราหลายครั้ง ตอนแรกเรายังไม่พร้อมที่จะส่งให้ห้าง เพราะปริมาณอาจไม่เพียงพอ และกังวลเรื่องเงื่อนไขที่อาจปรับเปลี่ยน หากเราผลิตไม่ทัน แต่ห้างก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ เราจึงทดลองส่งให้ห้างดู ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกร เพราะในอนาคตเมื่อตลาดขยายตัว ผู้คนที่ลาออกจากงานหรือตกงานอาจหันมาทำเกษตรกันเพิ่มขึ้น เราจึงมองว่าการส่งห้างเป็นโอกาสที่ดี นอกจากขายให้ร้านอาหารหรือออนไลน์แล้ว การส่งห้างยังช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงทุกสัปดาห์ สำหรับเรา การส่งผักให้ห้างไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเรามุ่งเน้นเรื่องคุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้เราสามารถเข้าไปในห้างได้ง่าย พืชที่จะขายในห้างต้องผ่านการตรวจสอบ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผักมีคุณภาพและปลอดภัย” คุณแพท กล่าว

การตลาดของเราส่วนใหญ่เป็นแบบปากต่อปาก ซึ่งเราได้รับ feedback ที่ดีจากลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำกว่า 90% เราจึงยึดคุณภาพเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบันเรามีเพจเฟซบุ๊ก ‘Hug Hed Farm’ และหน้าร้านชื่อ ‘กินกับผัก’ ที่ลูกค้าสามารถซื้อได้ ทั้งผ่านแพลตฟอร์ม Ugly Veggie และแม็คโคร ปัจจุบันเราเริ่มส่งให้แม็คโคร 3 สาขาในจังหวัดขอนแก่น ตอนนี้เรากำลังขยายไปยังส่วนกลางของแม็คโคร ซึ่งจะกระจายไปยังกรุงเทพฯ และปริมณฑลในอนาคต เพิ่มเติมในปีหน้า

คุณแพท ยังบอกอีกว่า “รายได้ของเราพอเลี้ยงตัวเองได้แบบสบาย แต่ไม่ถึงขั้นฟุ่มเฟือย มีหลายคนที่เราช่วยยกระดับคุณภาพขึ้นมาอีกนิด เช่น จากการทำเกษตรอินทรีย์ เราช่วยดูแลตั้งแต่การตัดแต่ง การบรรจุ และการล้างให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ส่งได้สะดวกขึ้น หลังจากที่ได้รับมาตรฐานแล้ว พวกเขาก็สามารถเพิ่มราคาขายได้อย่างมาก ตอนนี้แพทยังทำกลุ่มรับซื้อสินค้าเกษตรจากหลายจังหวัดใกล้เคียง เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต บางคนปลูกอินทรีย์ดีแล้ว แต่ไม่รู้จะขายที่ไหนหรือทำอย่างไร จนสุดท้ายขายได้ในราคาพืชผักตลาดทั่วไป”

การที่นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการทำสวนถือว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากไหม?

คุณแพท บอกว่า “ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะทุกขั้นตอนของเรามีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งคู่แข่งตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าหรือเกษตรกรในพื้นที่ หากเราหยุดพัฒนา คุณภาพของเราก็อาจจะตามหลังคนอื่นได้ง่าย ถ้าไม่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม เราคงไปต่อไม่ได้แน่ๆ”

ตอนนี้เทคโนโลยีที่ใช้ในฟาร์มหลักๆ จะเป็นระบบน้ำและพลังงานโซล่าเซลล์ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ในส่วนของโรงล้างและตัดแต่ง ซึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพของพืช โดยเฉพาะเรื่องการกำจัดพยาธิที่ลูกค้ากังวล ทางฟาร์มจึงเน้นการรักษาคุณภาพในขั้นตอนแพ็คบรรจุให้ลูกค้า เพื่อความสบายใจเมื่อรับประทานผักสด

หากท่านใดสนใจเรื่องการปลูกผักออร์แกนิก หรือผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม สามารถติดต่อได้ที่เพจ Facebook : Hug Hed Farm หรือทางเบอร์โทรศัพท์ 082 369 2868 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม