ร่วมสร้างเยาวชนเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ เติมเต็มฐานรากความรู้เพื่อความมั่นคงในชีวิต

สำนักงาน กปร. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ประชาชน สถานศึกษา ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ผนึกความรู้ตามแนวพระราชดำริ สู่รั้วโรงเรียนเป้าสร้างรากฐานความรู้แก่เยาวชน ผู้คนทั่วไป มีภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพอย่างมั่นคง ประสบความสำเร็จน้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติใช้ จนเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มากถึง 80 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบโล่พร้อมเกียรติบัตร ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี 2567 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ที่รับโล่และเกียรติบัตร เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ว่าพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เลือกให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เนื่องจากเดิมเป็นภูเขามีสภาพป่าเสื่อมโทรมไม่มีต้นไม้ใหญ่ พระองค์รับสั่งให้สร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น ควบคู่กับการฟื้นฟูป่าตามแนวพระราชดำริหลายวิธี เช่น การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ควบคู่กับการศึกษาทดลองการประกอบอาชีพ ภายใต้แนวคิด “ต้นทางคือป่าไม้ ปลายทางคือประมง ระหว่างทางคือเกษตรกรรม” ซึ่งประสบความสําเร็จเป็นอย่างดียิ่ง เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตที่บุคคลทั่วไปได้มาเรียนรู้ และฝึกอบรมในหลักสูตรอาชีพต่างๆ แล้วนำกลับไปทำที่บ้านของตนเอง จนประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญเกิดความรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อมด้วยเห็นคุณค่าของป่าที่สมบูรณ์จะช่วยให้การเพาะปลูกประสบความสำเร็จ รวมทั้งร่วมกันดูแลรักษาป่าไม้ ไม่บุกรุกป่า เฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่าที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มีศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ มากถึง 80 แห่ง ทั้งภาคประชาชนทั่วไป ภาครัฐ โรงเรียน และชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับการต่อยอดมาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ผ่านขั้นตอนการปฏิบัติที่ผู้สนใจสามารถนำไปทำได้ทันที จากที่ได้ลงพื้นที่ดูการทำงานของศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ ของ นางศิรินันท์ โซเมอร์แดค เกษตรกรศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ด้านเกษตรผสมผสาน พบว่ามีความเข้มแข็ง มีองค์ความรู้ที่ผ่านการปฏิบัติมาแล้ว ที่ผู้เข้ามาเรียนรู้สามารถนำไปต่อยอดได้ทันที ทำให้ชุมชนมีความรู้สึกหวงแหนพื้นที่ของตัวเอง และนําแนวพระราชดําริมาใช้กันทุกครัวเรือน โดยเฉพาะให้ความสำคัญเรื่องป่าชุมชน เพราะภาคเหนือจะเกิดไฟป่าทุกปี มีการช่วยกันป้องกันไฟป่า ร่วมกันเก็บใบไม้มาทำปุ๋ยหมัก นอกจากช่วยลดเชื้อไฟป่าแล้วยังได้ปุ๋ยหมักมาใช้ในแปลงเกษตร เหลือใช้ก็เอาไปขายสร้างรายได้ นอกจากนี้ ยังได้คาร์บอนเครดิตเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย ส่วนที่โรงเรียนแม่โป่งประชาสามัคคี ก็ได้มีการนําน้อมนำแนวพระราชดำริ และความรู้ที่ได้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มาปรับใช้ ในกิจกรรมโครงงานอาชีพเปลี่ยนขยะเป็นเงินทุน ตอนนี้โรงเรียนได้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริที่เรียกว่าโดดเด่น มีผู้คนเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง” นางสุพร ตรีนรินทร์ กล่าว

ขณะที่ นายสมปอง มงค์คลสำโรง ผู้อํานวยการโรงเรียนแม่โป่งประชาสามัคคี จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในสถานศึกษาที่ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่า โรงเรียนได้น้อมนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อสร้างพื้นฐานความรู้การใช้ชีวิตในอนาคตควบคู่กับความรู้ทางการศึกษาพื้นฐานให้กับเยาวชนในโรงเรียน

Advertisement

“เด็กๆ ได้รู้ถึงประโยชน์และคุณค่าด้านต่างๆ ของปุ๋ยหมัก ที่นำใบไม้จากบริเวณโรงเรียนมาผลิต โดยมีคณะครูของชุมชน ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรมาสอนและนำฝึกปฏิบัติ โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ฯ ได้สนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ กิจกรรมนี้เริ่มมาประมาณ 4 ปีแล้ว ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนักเรียนได้รับความรู้แล้วโรงเรียนก็มีปุ๋ยอินทรีย์มาใส่ต้นไม้และแปลงสาธิตการเกษตรสำหรับนักเรียน ใบไม้บางส่วนเด็กนักเรียนนำมาผลิตเป็นของที่ระลึกจำหน่ายทำให้มีรายได้ระหว่างเรียน ส่วนปุ๋ยหมักที่เหลือจากการใช้จะนำมาใส่ถุงจำหน่ายถุงละ 20 บาท โดยร่วมกับวิสาหกิจชุมชน และชุมชนรอบโรงเรียน ความรู้ที่เด็กนักเรียนได้รับจะสามารถนำไปต่อยอดการประกอบอาชีพของตนเองในอนาคตได้” นายสมปอง มงค์คลสำโรง กล่าว

Advertisement

ด้าน นางศิรินันท์ โซเมอร์แดค เกษตรกรศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ด้านเกษตรผสมผสาน ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้เข้าไปดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ เกี่ยวกับแนวทางการดูแลรักษาป่า โดยเฉพาะป่าชุมชนให้มีความสมบูรณ์เพื่อชุมชนจะได้ใช้ประโยชน์จากป่า ตั้งแต่ความชื้นจากป่าเพื่อการเพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์จนถึงการเก็บของป่ามาบริโภค และวิธีการป้องกันและช่วยลดปัญหาไฟป่า พร้อมฝึกอบรมอาชีพ อาทิ การทําปุ๋ยหมักแบบกลับกอง และแบบไม่
กลับกอง แล้วนําไปทำในพื้นที่ของตนเอง โดยปุ๋ยที่ได้นำไปใส่พืชผักที่ปลูก เช่น ผักเชียงดา ผักสวนครัวตามฤดูกาล และไม้ผล นอกจากนี้ ได้ร่วมกับชุมชนทําฝายชะลอน้ำ ปลูกป่าเสริมในพื้นที่ว่างด้วยการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ทำให้สามารถลดจุดความร้อน (Hotspot) และค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้ไม่ปรากฏจุด Hotspot อีกเลย

“ที่ศูนย์เรียนรู้จะเน้นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเอง เหลือแจกจ่ายก่อนนำไปขาย ตอนนี้มีรายได้หมื่นกว่าบาทต่อเดือน และอยู่ได้อย่างมีความสุข และการดูแลรักษาป่าให้สมบูรณ์ทำให้เกิดผลพลอยได้ของชุมชน นอกจากได้อากาศที่ดี ยังมีรายได้จากคาร์บอนเครดิต เมื่อทั้งตําบลแม่โป่งนำมานับรวมกันคิดเป็นเงินก็ประมาณ 5,900,000 บาทต่อปี จากความอุดมสมบูรณ์ที่ได้รับทุกวันนี้ เป็นผลมาจากการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติ รู้สึกปลาบปลื้มใจที่สุดในชีวิตอยากกราบขอบพระคุณในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทำให้ทุกคนมีกินมีใช้ และพร้อมเดินตามรอยพระองค์ท่าน ปฏิบัติตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และจะปลูกฝังแนวพระราชดำริแก่เยาวชนรุ่นต่อๆ ไป” นางศิรินันท์ โซเมอร์แดค กล่าว

สำหรับศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริที่ได้รับองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพเกิดผลสำเร็จ มีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และได้เข้ารับโล่เชิดชูเกียรติในครั้งนี้ มีจำนวน 80 แห่ง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย 1. ประชาชนทั่วไป จำนวน 43 แห่ง 2. ภาครัฐ จำนวน 7 แห่ง 3. สถานศึกษา จำนวน 27 แห่ง และ 4. ชุมชน จำนวน 3 แห่ง