ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 20 ธันวาคม 2567 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก หัวข้อ ‘ดิน น้ำ เส้นเลือดใหญ่เกษตรกรอีสาน’ ว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยากจะไฮไลต์ให้เห็นถึงความสำคัญของภาพรวมก่อนว่าในภาคการเกษตรของประเทศไทยมีความสำคัญกับเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง
“ประเทศไทยเราพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยในหลายปีที่ผ่านมา GDP ภาคเกษตร มีสัดส่วนอยู่ไม่เกิน 10% ของ GDP รวม ของประเทศ ทีนี้ถ้าเราเจาะลึกลงไปเรื่องของโครงสร้างประชากรก็จะเห็นว่าประชากรในประเทศไทย 67 ล้านคน มีพี่น้องเกษตรกรนับเป็นสัดส่วนทั้งประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีประมาณ 8 ล้านครัวเรือน แต่ถ้าเป็นรายหัว รวมๆ แล้วอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านคน นับเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศแล้วที่อยู่ในภาคการเกษตร”
โดยแบ่งพื้นที่ภาคการเกษตรของประเทศมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ หรือประมาณ 46 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่เกือบครึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 147.73 ล้านไร่ หรือประมาณ 43.52 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ในอีสาน 64.29 ล้านไร่ แสดงว่าภาคอีสานมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับภาคการเกษตร
แล้วภาคอีสานปลูกอะไรมากที่สุด อันดับ
- ข้าว จาก 64 ล้านไร่ ปลูกข้าว 40.12 ล้านไร่
- ยางพารา 6.23 ล้านไร่
- มันสำปะหลัง 5.68 ล้านไร่
- อ้อยโรงงาน 4.96 ล้านไร่
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.20 ล้านไร่
- พืชอื่นๆ อีก 6.10 ล้านไร่
คิดเป็นสัดส่วน GDP ของภาคการเกษตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ คือมูลค่าการเกษตรทั้งหมดซึ่งจำนวน 1 ใน 4 มาจากภาคอีสาน และมูลค่าเยอะที่สุดมาจากจังหวัดนครราชสีมา ได้มากถึง 12.89 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือจังหวัดบึงกาฬ 11.52 เปอร์เซ็นต์ อุบลราชธานี 8.08 เปอร์เซ็นต์ อุดรธานี 6.58 เปอร์เซ็นต์ และบุรีรัมย์ 6.48 เปอร์เซ็นต์ เป็น 5 อันดับแรกที่มีส่วนสนับสนุนสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ
เห็นได้ว่าพื้นที่การเกษตรมีมากที่สุด 64 ล้านไร่ เกือบครึ่งของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศอยู่ที่ภาคอีสาน และประชากรที่อยู่ในภาคการเกษตรมากที่สุดอยู่ที่ภาคอีสาน 14.4 ล้านคน แต่ปรากฏว่ารายได้สุทธิต่อครัวเรือนของพี่น้องเกษตรกรในภาคอีสานอยู่อันดับที่ 3 ในส่วนนี้ก็ต้องมาแก้ปัญหาและส่งเสริมศักยภาพให้กับพี่น้องเกษตรกรของเราให้ครบทุกมิติมากขึ้น
และอีกปัจจัยในภาคการเกษตรที่สำคัญมากๆ และขาดไม่ได้เลย คือปัจจัยของดินและน้ำ หลายพื้นที่เพาะปลูกในประเทศไทยมีปัญหาเหล่านี้เรื้อรังมานาน สาเหตุหลักๆ เกิดจากการเพาะปลูกแบบเดิมๆ ที่ทำซ้ำมาหลายๆ รอบ ส่งผลให้ดินเสื่อมโทรม ทางกรมพัฒนาที่ดินก็ได้ทำการศึกษาและพบว่าพื้นที่ประสบปัญหาในภาคอีสานอยู่ 2.2 ล้านไร่ ที่มีลักษณะเป็นดินเค็ม ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง และบางพื้นที่เป็นดินทราย ดินไม่อุ้มน้ำ ทำให้ผลผลิตน้อยลง หรือเพาะปลูกแล้วไม่ได้ผลผลิตตามที่คาดหวังไว้ และนอกจากนี้ยังมีเรื่องของสารเคมีที่ยังมีการใช้สารเคมีกันอยู่เยอะ ทำให้ดินเสียความสมดุลและเสื่อมสภาพ ทางกรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำโครงการขึ้นมาหลายๆ โครงการเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ในปีงบประมาณ 68 ต่อเนื่องไปยังปีต่อไป เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ยั่งยืน
“ยกตัวอย่าง เรามีหมอดินที่มีองค์ความรู้จากการอบรมจากกรมพัฒนาที่ดิน แล้วนำไปเผยแพร่ต่อให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ทราบถึงปัญหาดินในพื้นที่ของตนเอง และได้ทราบถึงวิธีการจัดการดูแลรักษาดินอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ผลผลิตสูงขึ้น และดูแลคุณภาพดินไปพร้อมๆ กันด้วย”
โดยในปีงบประมาณ 2568 กรมพัฒนาที่ดินได้จัดเตรียมโครงการด้านการบริหารจัดการดินและน้ำที่ดำเนินการในพื้นที่กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2568 งบประมาณรวมกว่า 688.5247 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการปรับปรุงคุณภาพดิน ปรับพื้นที่ประสบปัญหา 2.2 ล้านไร่ ครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ทั้งอีสานตอนบน1 9 โครงการ งบประมาณ 132.2768 ล้านบาท อีสานตอนบน2 10 โครงการ งบประมาณ 90.4097 ล้านบาท อีสานตอนกลาง 10 โครงการ งบประมาณ 202.0581 ล้านบาท อีสานตอนล่าง1 งบประมาณ 157.8089 ล้านบาท และอีสานตอนล่าง2 10 โครงการ งบประมาณ 105.9712 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปี 2568
และในส่วนของน้ำในภาคอีสานถือเป็นข้อด้อยที่ต้องยอมรับ เนื่องจากภาคอีสานอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง ฝนตกน้อย เพราะฉะนั้นพี่น้องเกษตรกรที่พึ่งพาฟ้าฝนเป็นหลัก ไม่สามารถที่จะผลิตผลผลิตต่อไร่ได้มากเท่ากับภาคอื่นๆ หรือประเทศอื่นๆ ทางออกหนึ่งคือการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ และเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งกักเก็บน้ำเดิมให้สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนนี้ต้องใช้เวลาและงบประมาณมหาศาล ก็ต้องใช้เวลาระยะยาวในการแก้ไขปัญหา
“พื้นที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาภัยแล้ง ระบบระบายน้ำไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการเกษตรมีพื้นที่ชลประทานเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงแหล่งน้ำและชุมชน เก็บกักน้ำได้เพียง 27 เปอร์เซ็นต์ของน้ำท่าทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะต้องมีการร่วมมือจากเครือข่ายภาคีอีกมากมาย เพื่อร่วมการพัฒนาและขับเคลื่อนให้ภาคการเกษตรไทยเป็นที่หนึ่งให้ได้ โดยในอนาคตตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะพัฒนาให้อีสานมีโครงการชลประทานเพิ่มขึ้น อย่างน้อยอีกหนึ่งเท่าตัวภายใน 4 ปีนี้ หรือให้เป็นครึ่งหนึ่งของภาคการเกษตรสัก 30 ล้านไร่ เราก็หวังว่าตรงนั้นจะเกิดขึ้น เพราะว่านอกจากเรื่องของงบประมาณแล้วยังมีเรื่องของการอนุญาตพื้นที่อีกที่อาจจะต้องขอพี่น้องประชาชนในการที่จะเอามาทำ ก็ใช้ระยะเวลา แล้วยังต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อจำกัดที่มีกรมชลประทานเอง ก็ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาแหล่งน้ำ สำหรับเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน 2,774 โครงการ ครอบคลุมทั้งหมด 2,774 แห่งทั่วอีสาน และหวังว่าจากปี 68 ไปถึงปี 80 จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ อีก 14.4 เกษตรกรที่จะได้ประโยชน์เกือบล้านครัวเรือน คือสิ่งที่เราวางแผนไว้ และหวังว่าจะเดินหน้าทำให้ได้ตามเป้าหมาย”
ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบดูแลเรื่องดินและน้ำ เราจะทำอย่างเต็มที่ และส่วนอื่นๆ เราพร้อมจะจับมือกับทุกเครือข่ายที่จะทำงานร่วมกันกับเรา เราสนับสนุนทุกคนอย่างเต็มที่ และพร้อมทำเพื่อพี่น้องเกษตรกรภาคอีสานให้มีรายได้สูงขึ้น ศ.ดร.นฤมล กล่าวทิ้งท้าย