เกษตรสร้างสุข อดีตข้าราชการเกษียณ ทำสวนคนเดียว 30 ไร่ด้วยนวัตกรรม

อาจารย์สุพิทย์ ขุนเพชร อดีตหัวหน้าสถานีวิจัยกาญจนบุรี ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะเกษตร กำแพงแสน ผันตัวเองทำไร่ทำสวนหลังเกษียณด้วยความสุข ในชื่อสวน “KP FRAM” โดยปลูกฝรั่ง มะม่วง ปาล์มน้ำมันเป็นหลัก   อาจารย์สุพิทย์ดูแลบริหารจัดการแปลงเกษตรเนื้อที่ 30 ไร่ด้วยตัวเอง โดยอาศัยนวัตกรรมเป็นตัวช่วย สร้างรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี

ทำเกษตรหลังเกษียณ

แบบพอเพียง มีความสุข

อาจารย์สุพิทย์บอกว่า  ทุกวันนี้ ผมทำเกษตร โดยใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ได้เน้นสร้างรายได้เป็นหลัก  ผมเริ่มทำสวนเกษตรก่อนเกษียณประมาณ 10 ปี บนเนื้อที่ 7 ไร่ อยู่ห่างจาก ตัวเมืองกาญจนบุรีประมาณ 4กม. ที่นี่เน้นทำเกษตรแบบผสมผสาน  ปลูกพืชใช้สอยกับพืชกินได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง พอปลูกไปแล้วจริงๆ มันกลายเป็นป่าที่มีสัตว์ป่าเช่น พวกกระรอก กระแต ไก่ป่าเต็มไปหมด  พืชที่ปลูกกลายเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์มากกว่าเลี้ยงคน

พืชตัวแรกที่ปลูกคือ มะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ โดยลงทุนซื้อพันธุ์มะขามเปรี้ยวถึงต้นละ 1 พันบาท พอเริ่มมีผลผลิตออกขาย ปรากฎว่า ขายได้ราคาถูกมากๆ แถมไม่มีคนซื้ออีกต่างหาก นับเป็นความล้มเหลวบทเรียนแรกในเส้นทางการทำเกษตรของอาจารย์สุพิทย์

ปาล์มน้ำมันปลูกเล่นๆ  แต่ทำเงินได้ดี

Advertisement

อาจารย์สุพิทย์ได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง ปลูกปาล์มน้ำมัน จำนวน 65 ต้น โดยปลูกตามธรรมชาติ ไม่ได้ใส่ใจบำรุงรักษาใด ๆ  ปรากฎว่า ปาล์มน้ำมัน ที่ลองปลูกเล่น ๆ กลับสร้างรายได้ก้อนโตอย่างไม่น่าเชื่อ  จึงวางแผนขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในที่ดินผืนใหม่ ควบคู่กับการปลูกมะม่วง ฝรั่งและปลูกพืชกระท่อม

โดยธรรมชาติปาล์มน้ำมัน เป็นพืชที่ต้องการน้ำเยอะ เป็นพืชที่ค่อนข้างออกดอกง่าย แต่ดอกจะเป็นตัวผู้ก็เยอะ วิธีบริหารจัดการปาล์มน้ำมันให้มีผลผลิตที่ดี ต้องเลือกสายพันธุ์ปาล์มทนแล้งที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของจังหวัดกาญจนบุรี ดังนั้นอาจารย์สุพิทย์จึงตัดสินใจปลูกปาล์มน้ำมันทนแล้งสายพันธุ์ ซีพีไอ ไฮบริด โกลด์  ที่มีจุดเด่น คือ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เดือนละ 2 ครั้ง ๆละ 20-30 กก.

Advertisement

“  ผมก็ไม่รู้ว่าสวนปาล์มน้ำมันของผม จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผมอยากจะทำในสิ่งที่ผมอยากจะหาความรู้ใส่ตัว ผมอยากบอกว่า เรียนด้วยตำรา หรือฟังจากคนอื่น หรือเรียนรู้จากการดูยูทูป มันเรียนได้หมด เป้าหมายของผมคือ ทำอย่างไรให้ต้นปาล์มน้ำมันมีผลผลิต 40 กก.ต่อเดือน ผมไม่สนใจสูตรปุ๋ยที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำมา เพราะพืชแต่ละพื้นที่ แต่ละจุดที่ปลูก มันจะไม่เหมือนกัน  เกษตรกรบางคนไหนถามผมว่า ควรใช้ปุ๋ยสูตรอะไร ผมให้คำตอบไม่ได้หรอก ต้องดูอาการของพืชเป็นหลักว่า มีต้องการกินอะไร จึงค่อยชงให้มันกินตามอาการ  ดังนั้นหลักการดูแลสวนปาล์มน้ำมันของผม จึงเน้นเรื่องการชงอาหารให้พืชกินตามอาการของพืช และปรับค่า Ph ของดินให้เหมาะสมกับชนิดพืชเป็นหลัก ”   อาจารย์สุพิทย์กล่าว

ปาล์มน้ำมันทนแล้งที่ปลูกในสวนแห่งใหม่

แนะทำเกษตรหลังเกษียณ

แค่  1 ไร่ก็พอแล้ว

อาจารย์สุพิทย์ บอกว่า การทำเกษตรหลังเกษียณมีปัญหามากมาย หากคาดหวังเรื่องรายได้ ผมแนะนำให้ทำใจก่อนครับ หากตั้งใจทำเกษตรหลังเกษียณไม่ต้องใช้พื้นที่มาก แค่ลงทุนแค่ไร่เดียวก็พอแล้ว เช่น ปลูกองุ่นสัก 20 ต้น  หาวิธีปลูกดูแลอย่างไรให้ต้นองุ่นมีผลผลิตสักต้นละ 50 กก. เพียงเท่าก็จะมีผลผลิตจำนวน 1 ตัน มีรายได้เข้ากระเป๋าแล้ว ลงทุนทำสวนองุ่นคนเดียวได้ไม่ยาก

เตือนอย่าใช้เงินเก็บทั้งหมด

มาลงทุนทำสวน เสี่ยงขาดทุนสูง

อาจารย์สุพิทย์ กล่าวว่า หลังปลดเกษียณแล้ว อย่านำเงินทั้งหมดที่มีอยู่มาใช้ทำสวน ควรแบ่งเงินสัก 10-20 % มาลงทุนทำสวนหรือทำอะไรที่คุณรักคุณชอบ พอให้มีรายได้กลับมาก็พอแล้ว ส่วนเงินทุนที่เหลืออีก  80% ควรเก็บไว้ดูแลสุขภาพดูแล  เพราะยิ่งสูงวัยโรคภัยก็เริ่มรุมเร้า

“ ปัจจุบันผมอายุย่าง 65 ปี สุขภาพมีปัญหาทุกอย่าง แต่โชคดีที่ผมได้ใช้ชีวิตอยู่ในสวนที่นี่  มี มีภูเขา อยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์  กลางวันผมก็เดินเล่น ทำงานเล็กๆน้อยๆตามแนวความคิดและผมไม่คาดหวังเรื่องรายได้ ทำงานด้วยความสบายใจ ” อาจารย์สุพิทย์กล่าว

เกษตรผสมผสานในไร่ริมเขา

สำหรับผู้ที่กำลังรอวันเกษียณ อาจารย์สุพิทย์ บอกว่า  หากไม่มั่นใจ อย่าไปลงทุนเยอะ ที่ดีที่สุด คือ ทดลองทำก่อน ค่อยๆเรียนรู้ว่า ทำได้จริงไหม หากทำได้จริงก็ค่อยลงมือทำ แต่อย่าเสี่ยงเอาเงินก้อนที่มีอยู่ทั้งหมดมาลงทุนทำสวน เพราะเพื่อนผมบางคนลงทุนทำสวนทุเรียน 2-3 ล้าน   ปลูกทุเรียนพันต้น สุดท้าย มันไม่ได้อย่างที่คิด  แต่บางคนก็ทำได้ดี แต่ควรทำในปริมาณที่น้อยนะครับ

น้ำคือ หัวใจสำคัญของการทำเกษตร

“ น้ำคือหัวใจสำคัญของการทำเกษตร หากคุณมีดินดี ปุ๋ยดี พันธุ์ดี หากน้ำไม่ดี ต้องอาศัยฝนฟ้าเทวดา ก็มีความเสี่ยงสูง เพราะพืชจะโตได้ ต้องมีน้ำ เพราะในองค์ประกอบของพืชจะมีน้ำไม่ต่ำกว่า 80 90% เซลล์ต่างๆของพืชประกอบด้วยน้ำ   ”  อาจารย์สุพิทย์กล่าว

สวนแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรี โดยอาศัยแหล่งน้ำชลประทานที่สูบด้วยระบบไฟฟ้า ต้องจ่ายค่าน้ำชั่วโมงละ 120 บาท อาจารย์สุพิทย์บอกว่า จ่ายค่าน้ำชั่วโมงละ120บาท สูบน้ำวันละ 10 ชั่วโมง หากเราปล่อยน้ำทิ้ง ก็เสียดายน้ำ  จึงวางแผนจัดการน้ำ โดยขุดบ่อพักน้ำความจุ 5 พันกว่าคิว บ่อกว้างไร่ครึ่ง ลึกประมาณหนึ่งเมตรทำคันขึ้นมาอีก 2เมตร  โดยสูบน้ำเติมบ่อตลอดเวลาเพราะที่นี่ มีเนื้อที่ค่อนข้างเยอะ หากดึงน้ำไปใช้เพาะปลูกพืชซึ่งเป็นพื้นที่สูงอยู่ติดริมเขาได้ ผมต้องทำ Contour พื้นที่ เพื่อเป็นสระพักน้ำ กลางทาง  จำนวน 2 จุด และสร้างบ่อที่ สามโดยใช้เครื่องสูบน้ำโซล่าเซลล์ดึงน้ำบาดาลใต้ดินขึ้นมา กระจายกลับมาบ่อลูกแรกนี้ เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งน้ำจากหน่วยงานภายนอก เพราะหากเครื่องสูบน้ำของหน่วยงานภาคนอกพัง ส่งน้ำให้เราไม่ได้  จะส่งผลกระทบต่อพืชที่ปลูกในสวนแห่งนี้ได้

ตู้คอนโทรล ใช้เงินลงทุนแค่หลักร้อย รวมแล้วก็น่าจะ 200-300 บาท ซึ่งราคานี้มันถูกๆ มาก ผมอยากให้เกษตรกรคิดถึงเทคโนโลยีการจัดการน้ำพวกนี้ให้มากเพราะเป็นหัวใจสำคัญของระบบการเกษตร ดิจิตอลไทม์เมอร์ เราสามารถตั้งทุกสิ่งทุกอย่างได้ มันมีแบตตารี่ด้วย หากไฟดับ เราก็ไม่ต้องกลัวเวลาในการให้น้ำของเราจะผิดเพี้ยน เพราะมันสามารถอยู่ได้โดยไม่มี กระแสไฟฟ้าไปเลี้ยง 2-3 วัน นาฬิกาก็เดินเป็นปกติ หลังไฟดับ ไฟมาปุ๊บ มันก็จะเดินตามปกติ

ตู้คอนโทรลระบบการให้น้ำแบบอัตโนมัติ

 

เมื่อผมเอาน้ำมาใช้งาน  ก็ใช้ตัวควบคุมคือดิจิตอลไทม์เมอร์ ตัวละ 100 กว่าบาทแต่สามารถควบคุมการจ่ายน้ำในสวนมูลค่า 2-3ล้านได้สบาย ไม่มีปัญหา ขอให้เปิดใจรับเทคโนโลยีสักนิดนึง ดิจิตอลไทม์เมอร์ สามารถตั้งเวลาให้น้ำได้วันละ 18 ครั้ง จะให้น้ำครั้งละ 5 นาทีก็ทำได้หมด ”    อาจารย์สุพิทย์กล่าว

เทคโนโลยีการให้น้ำผ่านระบบมือถือ มีดิจิตอลไทม์เมอรควบคุม สามารถตั้งเวลาเปิดปิดน้ำไว้ในมือถือเลยว่า เปิดให้น้ำ 7 โมงเช้า ปิด 8 โมง  ทำให้การดูแลจัดการสวนเป็นเรื่องง่าย  ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว แม้อาจารย์สุพิทย์จะไปนั่งกินข้าวกับเพื่อนที่หาดใหญ่ ก็สามารถเช็คข้อมูลการทำงานของระบบการจ่ายน้ำได้เช่นกัน ส่วนการจัดการอื่นๆ ในไร่ ก็อาศัยจ้างแรงงานภายนอกเป็นครั้งคราว

สวนแห่งนี้ ไม่ได้เน้นกำจัดวัชพืชด้วยสารเคมี  อาจารย์สุพิทย์จะขับรถตัดหญ้าเอง โดยทุกวันจะเดินตรวจงานในไร่  เพื่อตรวจสอบเรื่องโรคแมลง หากเห็นโรคพืชหรือแมลงจะใช้วิธีทำลายทันที         จังหวัดกาญจนบุรี มีสภาพอากาศค่อนข้างร้อนในช่วงกลางวัน พอกลางคืน อากาศค่อนข้างเย็นอุณหภูมิเหลือแค่ 25-26 องศา พืชที่สามารถปรับตัวได้ดีในสภาพอากาศแห่งนี้คือ มะม่วง  ที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศได้ดี และให้ผลผลิตที่ดีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงสายพันธุ์ใด  เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4   มะม่วงแก้วขมิ้น  ฯลฯ ส่วนทุเรียน ไม่ค่อยรอด ปลูกแล้ว  ตายต้องรื้อปลูกใหม่ ส่วนกล้วยต้องการน้ำเยอะ หากน้ำไม่พอ ก็ปลูกไม่ได้ผล

อาจารย์สุพิทย์บอกว่า มะม่วงที่ปลูกในสวนแห่งนี้ ไม่เคยห่อเลยครับ ปล่อยให้สุกตามธรรมชาติ ประมาณ 80% จึงค่อยเก็บจากต้น  นำไปแจกจ่ายให้เพื่อนฝูงหรือคนรู้จักได้กินฟรี เพราะผมชอบอย่างนี้มากกว่า  ผมอยากมีเพื่อนมากกว่า เพราะเป้าหมายการทำเกษตรของผมไม่ได้คิดทำเพื่อความร่ำรวย  แต่อยากทำเพื่อความสุขในชีวิตบั้นปลายครับ

หากใครสนใจอยากแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการทำเกษตรหรือสนใจเยี่ยมชมสวนแห่งนี้ สามารถติดต่ออาจารย์สุพิทย์ได้ที่ สวน “KP FRAM” บ้านเลขที่ 193 ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เบอร์โทร. 081-007-0004