เกษตรผสมผสาน “คุ้มจันทวงษ์” ถอดบทเรียน 15ปี ปลูกพืชอะไรรายได้ดี

“ การเกษียณอายุราชการ ไม่ใช่การตาย ชีวิตยังไม่จบ อาจจะมีชีวิตยืนยาวหลังเกษียณไปอีก 20-30 ปีก็ได้ ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นทุกวัน แล้วเราจะอยู่ถึงวันนั้นได้อย่างไร ถ้าเตรียมการได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะปรับตัวได้ก็มากเท่านั้น ”  อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์  กล่าว

อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์  อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเนินสูง ตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี วางแผนทำเกษตรหลังเกษียณ เพื่อให้มีงานทำ มีรายได้อย่างต่อเนื่องโดยเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนเกษียณจริงถึง 10 ปีเต็ม จนปัจจุบันกลายมาเป็น ศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสาน “คุ้มจันทวงษ์”  ปลูกพืชผักไม้ผลนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นไผ่ พริกไทย เพกา สะเดา มะนาว กล้วย ขนุน ลำไย รวมทั้งพัฒนาต่อยอด แปรรูปสร้างมูลค่าสินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังเลี้ยงไก่ป่าลูกผสม ซึ่งเริ่มต้นจากการเลี้ยงไก่ป่าเป็นงานอดิเรกของลูกชายและค่อยๆ พัฒนาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้งามในเวลาต่อมา

ในวันนี้ อาจารย์ธีระพลได้แบ่งปันประสบการณ์ 15 ปีเต็มจากการลองผิดลองถูกบนเส้นทางอาชีพการทำเกษตรที่ตัวเองเลือก ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้สนใจทำเกษตรหลังเกษียณในอนาคต

คิดทำเกษตรหลังเกษียณ

ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า

อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์  เริ่มต้นทำเกษตรผสมผสานตั้งแต่ปี 2551 เพื่อเป็นอาชีพเสริมรองรับหลังจากเกษียณแล้ว เนื่องจากไม่รู้ว่า หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว สุขภาพจะเป็นอย่างไรจึงได้ดำเนินการก่อนเกษียณ 10 ปี

Advertisement

“ เรื่องที่ลำบากใจ เกษตรมันมีเยอะแยะเราจะปลูกอะไรดี จะปลูกอ้อย ปลูกมันฯ ดีไหม จนได้ข้อสรุปว่า ปลูกพืชอาหารดีที่สุด เพราะอาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 จะยากดีมีจนอย่างไร ร่ำรวยมหาเศรษฐีอย่างไรคนกิน 3 เวลา ” อาจารย์ธีระพลกล่าว

ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน อาจารย์ธีระพล ได้สะสมประสบการณ์การทำเกษตรผสมผสานมาได้ 15 ปีแล้ว มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว เพราะอาจารย์ธีระพล ไม่ใช่เกษตรกรมืออาชีพ อาศัยพื้นฐานอาชีพครูบาอาจารย์ที่มักศึกษาค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ และคอยปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย ทำให้ทุกวันนี้ อาจารย์ธีระพลจับแนวโน้มตลาดสินค้าเกษตรได้ว่าจะเป็นอย่างไร อันไหนควรปลูกเพิ่ม อะไรควรเลิกทำ

Advertisement

แนะนำ “ กล้วยกับไผ่ ”

พืชคู่สวนอันดับแรกที่ควรปลูก

อาจารย์ธีระพล บอกว่า กล้วยกับไผ่ เป็นพืชคู่สวนอันดับแรกที่ต้องปลูก  กล้วย อย่าคิดว่ามันเป็นพืชด้อยค่า ต้นกล้วย ใบก็ขายได้ ปลีก็ขายได้ กล้วยดิบก็ขายได้ กล้วยสุกก็ขายได้  ต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้ว นำต้นกล้วยไปสับเลี้ยงปลาได้ ส่วนเปลือกกล้วยที่ปอกลูกออกไปแล้ว ก็สามารถนำไปเลี้ยงปลาได้เช่นกัน อาจารย์ธีระพลไม่ได้เคยทิ้งต้นกล้วยแม้แต่ชิ้นเดียว บางทีมันเหลือเยอะ ก็นำไปสับและนำไปคลุมโคนต้นไม้ เพื่อเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ และเพิ่มความชื้นในดิน

หากที่ดินของใคร มีปัญหาดินไม่ดี เป็นดินดาน อาจารย์ธีระพลแนะนำให้นำต้นกล้วยไปปลูกเพื่อเป็นพืชพี่เลี้ยงอาศัยร่มเงา นอกจากนี้ต้นกล้วยสามารถหาน้ำ ดึงน้ำเข้ามาไว้ที่โคนต้น แถมมีจุลินทรีย์หน่อกล้วย สังเกตได้เลยตรงไหนที่ปลูกกล้วย ดินจะเริ่มดีขึ้น ปัจจุบันอาจารย์ธีระพลนำต้นลำไยมาปลูกในแถวต้นกล้วย เพื่ออาศัยต้นกล้วยเป็นพืชพี่เลี้ยงอีกทางหนึ่ง

อาจารย์ธีระพล บอกว่า หลังปลูกต้นกล้วยไป 10 เดือน ต้นกล้วยจะตกเครือ ซึ่ง 1 เครือมี  8 หวี แม่ค้ารับซื้อหวีละ 5 บาท จะได้ 40 บาท ต้องวิ่งรถไปขายถึงตลาด มันไม่คุ้มค่าน้ำมัน อาจารย์ธีระพลพยายามหาวิธีสร้างมูลค่ากล้วย ทั้งทำกล้วยกวน แยมกล้วย ซึ่งมีขั้นตอนการทำเยอะและใช้เวลานาน

ในที่สุด อาจารย์ธีระพลตกผลึกว่า วิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้างมูลค่ากล้วย คือ ปอกกล้วยออกตากแดด  ช่วงแรกๆ กล้วยเสียกล้วยเน่า ต้องเอาไปปลากิน ค่อยๆ เรียนรู้จนพัฒนากล้วยตากที่มีรสชาติอร่อย ถูกใจผู้บริโภค และพัฒนากล้วยตากให้ได้มาตรฐานโอทอป อาจารย์ธีระพลเริ่มรวมกลุ่มเกษตรกรในชุมชนในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งรับซื้อกล้วยจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกเพื่อให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดได้ต่อเนื่อง

พาราโบลาโดมใช้ตากกล้วย

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพลังงานจังหวัดปราจีนบุรีจัดสร้างพาราโบลาโดมเพื่อผลิตกล้วยตากได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี ให้งบสนับสนุนจัดสร้างห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งยื่นเรื่อง ขอ อย. ให้ถูกต้องตามหลักสาธารณสุข

ปลูกไผ่ได้ประโยชน์มหาศาล ขายได้ทุกส่วน

อาจารย์ธีระพล กล่าวว่า ไผ่เป็นพืชที่มีประโยชน์มหาศาล ใช้ทำไม้ค้ำก็ได้ หน่อไผ่ก็กินได้ ส่วนใบไผ่ก็ใช้ทำปุ๋ย ลำไผ่ก็นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ

อาจารย์ธีระพล ปลูกไผ่มาครั้งแรกจำนวน 500 หน่อ ปลูกตอละ 1 หลุม เมื่อต้นไผ่เติบโตและแตกกอ 100 ลำ เท่ากับจะได้ประโยชน์จากกอไผ่นี้ 100 เท่า เก็บขายเก็บกินมาตลอด 15 ปี โดยไม่ต้องมาปลูกใหม่อีก ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ถึงปีจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาติดต่อขอซื้อลำไผ่ มีคนงานมาตัดลำไผ่เอง ไม่ว่าจะเป็นลำอ่อน ลำแก่ขายได้หมด  แม่ค้าจากจันทบุรีมาติดต่อซื้อลำไผ่ไปค้ำกล้วย ไปค้ำต้นลำไย ไผ่รวกก็ขายได้ง่าย มีแม่ค้าจากจังหวัดราชบุรีมาซื้อไปทำเข่ง ทำหลัว ตลาดมีความต้องการเยอะจนไม้ไผ่ไม่พอขาย

ส่วนใบไผ่  แต่ละปี อาจารย์ธีระพลสามารถกวาดใบไผ่ไปทำปุ๋ยหมักได้ปีละ 100 ตันเลยนะโดยนำใบไผ่ มาผสมกับเศษมันสำปะหลัง จากนั้นนำขี้ไก่  ขี้หมู หัวเชื้อ พด. รวมทั้งน้ำหมักชีวภาพใส่ หมักทิ้งไว้ 90 วัน จนเพื่อให้ปุ๋ยขี้ไก่ ขี้หมู ย่อยสลาย ดอกหญ้าก่อน จึงค่อยนำปุ๋ยหมักไปใช้บำรุงต้นไม้ภายในสวน วิธีนี้ สามารถประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยได้มหาศาลในแต่ละปี

“ สะเดา” พืชทำเงินของคุ้มจันทวงษ์

“ สะเดา” เป็นหนึ่งในพืชทำเงินของคุ้มจันทวงษ์  อาจารย์ธีระพลบอกว่า สะเดา เป็นพืชเทวดาเลี้ยง ปลูกแล้วไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องฉีดยา เรียกว่า เป็นพืชอินทรีย์ 100%   ฤดูหนาวลมหนาวโชยๆ คนไทยนิยมกินเมนูสะเดาน้ำปลาหวาน ปลาดุกย่าง ทำให้สะเดาขายดี เป็นที่ต้องการของตลาด โดยช่วงต้นฤดูหนาว สะเดาขายได้กก.ละ 150 บาท   กลางฤดูขายได้กก.ละ 120 บาทและปลายฤดูหนาว ขายได้ กก.ละ 100 บาท

สะเดา

ทุกวันนี้ เกษตรกรทั่วประเทศสนใจปลูกสะเดาทะวาย และสั่งพันธุ์สะเดาทวายเข้ามาเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ อาจารย์ธีระพลจะเริ่มตอนกิ่งสะเดาในช่วงเดือนมีนาคมหลังจากที่เก็บดอกเสร็จ และส่งมอบกิ่งตอนให้ลูกค้านำไปปลูกก่อนช่วงต้นฝน เมื่อนำไปปลูก รดน้ำแค่ 1-2 ครั้ง ต้นสะเดาก็ติดแล้ว เติบโตได้ง่าย

ปลูกลำไย อย่าหวังขาย “ล้ง”อย่างเดียว

หากล้งเบี้ยวนัด มีโอกาสขาดทุนสูง

สวนจันทวงษ์ ปลูกลำไยประมาณ 200 กว่าต้น  โดยปลูกในระยะชิด และทำต้นเตี้ยเพื่อความสะดวกในการดูแลจัดการ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก สามารถเก็บลำไยขายได้หลายปีแล้ว โดยมีล้งจากจันทบุรี จองเหมาสวนตั้งแต่ต้นปี  ปีที่ผ่านมา สวนแห่งนี้ให้ผลผลิตคุณภาพดี ผลดก แต่ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากล้งที่จองสวนไว้ ไม่มีแรงงานมาเก็บลำไยได้ทันเวลา  อาจารย์ธีระพลบอกว่า เมื่อถึงเวลา ล้งก็ขนแรงงานมาเก็บลำไยคุณภาพดีๆ  ที่หลงเหลืออยู่ไม่มาก ขณะที่ลำไยส่วนใหญ่เน่าเสียเกือบ 100% ทำให้อาจารย์ธีระพลมองว่า ต่อไปจะฝากความหวังไว้ที่ล้งคงไม่ได้แล้ว เนื่องจากลำไยในสวนนี้ มีแค่ 200 กว่าต้น จึงตัดสินใจที่จะทำตลาดเองโดยวางแผนทำลำไยนอกฤดูเป็น 2 ระยะ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการและบริหารตลาดในอนาคต โดยมุ่งเป้าขยายตลาดในชุมชนท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียงในช่วงต้นลำไยให้ผลผลิต

นอกจากนี้ อาจารย์ธีระพลยังได้นำต้นส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามและส้มโอพันธุ์ทองดี เข้ามาปลูกเสริม เพราะผลไม้ชนิดนี้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าลำไย แต่ไม่ปลูกจำนวนมากเท่ากับลำไย เพราะคำนึงถึงเรื่องตลาดด้วย เนื่องจากสินค้าที่มีราคาแพง ตลาดยิ่งแคบ สินค้าที่มีราคาสูง จะปลูกในสัดส่วนที่น้อย ส่วนสินค้าที่มีราคาถูกลงมาหน่อย ฐานตลาดกว้างก็จะเพิ่มปริมาณการปลูกให้เยอะหน่อย

ข้อคิดสำหรับทำเกษตรวัยเกษียณ

อาจารย์ธีระพลฝากข้อคิดถึงผู้ที่สนใจทำเกษตรวัยเกษียณว่า “ อายุเราเป็นไม้ใกล้ฝั่ง ไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตด้วยการลองผิดลองถูกได้บ่อยนัก เพราะฉะนั้นหากสนใจทำเกษตรหลังเกษียณควรศึกษาเรียนรู้และคิดอ่านให้รอบคอบ คนวัยเกษียณ ที่สนใจปลูกทุเรียน ต้องรู้ด้วยว่า ต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่ต้องใช้เวลา  4-7 ปีกว่าจะได้ผลผลิต ในระหว่างนั้น เราจะเอาอะไรกิน

“ ผมแนะนำให้ปลูกพืชผสมผสานไว้ในสวน เช่น ปลูก กล้วยซึ่งเป็นพืช 10 เดือนก็ได้ผลผลิตแล้ว ปลูกข่า ตะไคร้ ที่มีระยะเวลาปลูก 1 ปี ก็เก็บขายได้ หรือปลูกฝรั่ง ใช้เวลาปลูกดูแลแค่  4 –  6 เดือนก็เก็บขายได้ ควรปลูกพืชเหล่านี้ไว้ในสวนเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไว้ด้วยครับ ”  อาจารย์ธีระพลกล่าวในที่สุด

หากใครสนใจแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการทำเกษตรหรือต้องการเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสาน “คุ้มจันทวงษ์ ” เนื้อที่ 38 ไร่ ตั้งอยู่บ้านเนินหินกอง หมู่ที่ 13 ตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ติดต่อกับอาจารย์ธีระพล ได้ที่เบอร์โทร. 089-893-7269