ที่มา | เก็บมาเล่า |
---|---|
ผู้เขียน | นพรัตน์ โชติเกษมกุล |
เผยแพร่ |
บริษัท ชิโน ไทย ซิงกวาง โกโก้ โปรดัก จำกัด และสหพัฒนาทองมี สร้างความเชื่อมโยงตลาดรวบรวมผลผลิตโกโก้ ผ่านสหกรรณ์และวิสาหกิจชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาไม่มีผู้รับซื้อโกโก้ของเกษตรกรในจังหวัดตรัง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และสหกรณ์ เนื่องจากปัจจุบันตลาดโกโก้และช็อกโกแลตกำลังเติบโตอย่างมาก มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงกว่า 9 พันล้านบาท การรับซื้อโกโก้จากเกษตรกรสามารถลดการนำเข้าได้อย่างมาก และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง
เมื่อเร็วๆ นี้ นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในการจัดประชุมสัมมนา “อนาคตโกโก้ประเทศไทย” จัดขึ้นโดย บริษัท ชิโน ไทย ซิงกวาง โกโก้ โปรดัก จำกัด และสหพัฒนาทองมี ณ โรงแรมเรือรัษฎา อ.เมืองตรัง จ.ตรัง การประชุมสัมมนาดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัท ชิโน ไทย ซิงกวาง โกโก้ โปรดัก จำกัด, กลุ่มสหพัฒนาทองมี, กลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจ ชุมชนในจังหวัดตรัง และส่วนราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง พร้อมด้วยหน่วยงานสำคัญ ได้แก่ สภาเกษตรกรจังหวัดตรัง , สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง, สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง, สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ตรัง, การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง, สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูก โกโก้ในจังหวัดตรัง
การประชุมสัมมนาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องผ่าน เวทีเสวนาระหว่างผู้นำเกษตรกรและองค์กรเอกชนผู้รับซื้อ โกโก้ รวมถึงการสร้างกลไกการรับซื้อและการเชื่อมโยงการตลาดผลผลิตโกโก้ นอกจากนี้จัดให้มีการเซ็นสัญญาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสหกรณ์และ วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดตรัง กับ สหพัฒนาทองมี ผู้แทนบริษัท ชิโน ไทย ซิงกวาง โกโก้ โปรดัก จำกัด เพื่อเชื่อมโยงด้านการตลาดและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนช่องทางการรับซื้อ ผลผลิตโกโก้
ด้านนายพรชัย ลิขิตสมบัติ กรรมการบริษัท ชิโนไทย ซิงกวาง โกโก้ โปรดักจำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลพื้นฐานพบว่า จังหวัดตรังมีศักยภาพในการปลูกโกโก้ โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้กว่า 500 ราย กระจายอยู่ในทุกอำเภอ มีการปลูกต้นโกโก้ในช่วงปี 2562-2564 มากกว่า 200,000 ต้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาสำคัญคือ ขาดแหล่งรับซื้อผลผลิต ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนจำเป็นต้องโค่นต้นโกโก้ลง ปัจจุบันเหลือพื้นที่ปลูกโกโก้เพียง100,000 กว่าต้น
เนื่องจากบริษัท ชิโน ไทย ชิงกวาง โกโก้ โปรดัก จำกัด ต้องการรับซื้อผลผลิตโกโก้ในรูปแบบ ผลสด, เมล็ดสด และเมล็ดแห้ง เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ตันเมล็ดแห้ง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของจังหวัดตรังซึ่งเป็นแหล่งผลิตโกโก้ที่มีคุณภาพ บริษัทจึงมอบหมายให้ สหพัฒนาทองมี เป็นตัวแทนรวบรวมผลผลิตโกโก้จากเกษตรกรในจังหวัดตรัง เพื่อเชื่อมโยงการตลาดผลผลิตโกโก้ให้เป็นระบบและยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จึงได้จัดโครงการสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึง กลไกการตลาดที่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกร การเชื่อมโยงตลาดรวบรวมผลผลิตโกโก้ผ่านสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน แก้ไขปัญหาไม่มีผู้รับซื้อผลผลิตโกโก้ของเกษตรกรในจังหวัดตรัง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และสหกรณ์
ในปัจจุบันตลาดโกโก้และช็อกโกแลดกำลังเติบโต ในปี 2566 ประเทศไทยต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์โกโก้จากต่างประเทศจำนวน 44,601 ตัน มูลค่าสูงกว่า 9 พันล้านบาท (แหล่งที่มา : สถิติการค้า สินค้าเกษตรไทยกับต่างประเทศ ปี 2566 ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ตั้งแต่ ต้นปี 2566 ถึงกลางปี 2567 เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะภัยแล้งในพื้นที่ปลูกโกโก้ทำให้ผลผลิตโกโก้ทั่วโลกลดลง และราคาโกโก้ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
โกโก้เป็นพืชเชิงอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปของโรงงาน การรวบรวมผลผลิตต้องมากพอในการรับซื้อส่งเข้าโรงงานจังหวัดตรัง เกษตรกรไม่น้อยกว่า 500 ราย ได้รับส่งเสริมให้ปลูกโกโก้เป็นพืชแซม/ร่วมยางพารากระจายอยู่ในทุกอำเภอ มีปริมาณผลผลิตมากกว่า 2แสนต้น เมื่อผลผลิตออกผลพร้อมกัน ประสบปัญหาขาดแหล่งรับซื้อผลผลิตโกโก้ มีเพียงเกษตรกรบางรายที่สามารถจำหน่ายได้ แต่ผู้รับซื้อไม่ได้รับซื้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรบางส่วนโค่นต้นโกโก้ทิ้ง และปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน ปัจจุบันคงเหลือต้นโกโก้ อยู่ประมาณ 1 แสนต้น
เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ได้มี แหล่งจำหน่ายอย่างต่อเนื่องและมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จึงได้เปิดจุดรับซื้อโกโก้ ทั้งผลสด เมล็ดสด และเมล็ดแห้ง ผ่านสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน หรือจุดรวบรวมรายย่อยของเกษตรกรจำนวน 11 จุด ในแหล่งเพาะปลูกโกโก้หนาแน่นโดยกำหนดราคารับซื้อขึ้นลงตามภาวะตลาด โดยมีการรับซื้ออย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้รวบรวมโกโก้ในจังหวัดตรังได้มากกว่า 10 ตัน ส่งไปยังโรงงานแปรรูปที่จังหวัดระยอง โดยรับซื้อผลสดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 8 บาท แบบไม่คัดขนาดผล เมล็ดสด กิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนเมล็ดแห้งรับซื้อกิโลกรัมละ 150 – 200 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดโกโก้