รวมข่าวเกษตรประจำปี 2567

อีกไม่กี่วันจะเริ่มเข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2568 ก่อนที่จะสิ้นสุดของปี 2567 นี้  เทคโนโลยีชาวบ้านได้รวบรวมข่าวเหตุการณ์เกี่ยวกับเกษตรที่ผ่านมาของปีนี้ ถือเป็นข่าวเด่นๆ หลายเรื่องราวที่เป็นกระแสอยู่ไม่น้อยทีเดียวให้ได้มาทบทวนกันก่อนที่จะเข้าสู่ปีใหม่

เทคโนโลยีชาวบ้านได้รวบรวมข่าวเด่นเกษตรที่น่าสนใจในรอบปี 2567 ไว้ดังนี้ 

1.“ปลาหมอคางดำ” ความท้าทายใหม่ การปรับตัว พร้อมใส่ใจระบบนิเวศ 

อย่างที่ทราบกันดีว่าในปี 2567 เรื่องราวของปลาหมอคางดำถือว่าติดกระแสหน้าสื่อออนไลน์อยู่หลายเดือนทีเดียว ผศ.ดุสิต เอื้ออำนวย หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการคุณภาพน้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเลี้ยงกุ้งในระบบ co-culture เปิดเผยว่า ปลาชนิดนี้ถือเป็นเอเลี่ยนสปีซี่ร์ที่เข้ามาทำลายระบุนิเวศของบ้านเราเป็นอย่างมาก เพราะด้วยความที่ปลาหมอคางคำสามารถอาศัยอยู่ในน้ำกร่อย ทนความเค็มได้ 0-45 ppt และยังชอบอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมตั้งแต่ 18-33 องศาเซลเซียส และทนสภาพน้ำที่เป็นกรดได้ดี 

นอกจากนี้ปลาหมอคางดำสามารถกินอาหารได้หลากหลาย ทั้งแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ สาหร่าย ซากพืชซากสัตว์ รวมทั้งไข่และตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ส่วนลูกของปลาหมอคางดำจะกินแพลงก์ตอนพืชและสัตว์เป็นหลัก และเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จนเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่กินได้ทั้งแพลงก์ตอน สาหร่าย ซากพืช ซากสัตว์ และหน้าดิน

สาเหตุที่เรียกว่า เอเลี่ยนสปีชีส์ เนื่องจากปลาหมอคางดำไม่ใช่ปลาที่อยู่ประจำถิ่นในประเทศไทย แต่ถูกนำเข้ามาเพื่อวัตุประสงค์เชิงพาณิชย์ ซึ่งการเข้ามาของปลาหมอคางดำในประเทศไทยนั้น มีวัตถุประสงค์ด้วยกันหลากหลาย บางกระแสว่าเข้ามาเพื่อการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ บ้างก็เพื่อการบำบัดน้ำควบคุมแพลงก์ตอน รวมทัังถูกนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายเป็นปลาสวยงาม แต่เมื่อขาดวิธีการควบคุมที่เหมาะสม ปลาหมอคางดำได้หลุดออกมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราทราบกันอยู่ในขณะนี้

Advertisement

ปลาชนิดนี้สามารถสร้างผลกระทบมากมาย เริ่มตั้งแต่ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม เพราะปลาหมอคางดำสามารถกินได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ซากพืชและสัตว์ทุกชนิด ซึ่งอาจรวมทั้งไข่และตัวอ่อนสัตว์น้ำท้องถิ่นที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติถูกกินเข้าไปด้วย  

การระบาดของปลาหมอคางดำกำลังสร้างวิกฤตใต้ผืนน้ำ ด้วยนิสัยที่ปลาชนิดนี้กินทุกอย่างและการอยู่รวมกันเป็นฝูง จะค่อยๆ ทำลายสมดุลของระบบนิเวศอย่างรุนแรง ชาวประมงรายงานการลดลงของปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กในพื้นที่ที่ถูกรุกราน ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาคประมงและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา สะท้อนถึงภัยคุกคามระยะยาวต่อความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำไทย

Advertisement

 การจะลดจำนวนปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุดนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน พร้อมกับการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับปลาชนิดนี้อย่างยั่งยืน การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่สาธารณชนในวงกว้างจะให้ทุกคนเกิดการตื่นตัวและรับมืออย่างถูกต้อง หากทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจัง เราจะสามารถควบคุมประชากรปลาหมอคางดำให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

  1. ราคายางทะลุโลละ 100 บาท สูงสุดในรอบ 12 ปี

ในช่วงกลางปีที่ผ่านมานั้น ราคายางทะลุโลละ 100 บาท ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 12 ปี ได้รับรายงานจากสำนักงานตลาดกลางยางพารา จังหวัดระยอง ประมูลขายที่ราคา 100.30 บาท ถือว่าสูงสุดในรอบ 12 ปี นับจากปี 2555 โดยผู้ชนะการประมูลครั้งนี้คือสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เขาซก จำกัด จากจังหวัดชลบุรี ปริมาณ 282 กิโลกรัม

ซึ่งการปรับราคาครั้งนี้ถือว่าปรับขึ้นรวดเร็วมาก ภายในวันเดียวกันนั้นช่วงบ่าย ทางสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพิ่งรายงานว่า ผลประมูลยางที่ผลิตได้ตามกฎหมายห้ามการทำลายป่า เรียกว่า EUDR (European Union Deforestation-free Regulation) ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ทางบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ซื้อราคา 96.66 บาท ปริมาณ 480,743 กิโลกรัม ยางก้อนถ้วย บริษัท เอ็นเทคโพลิเมอร์ จำกัด ราคา 80.35 บาท ปริมาณ 240,643 กิโลกรัม

แม้ว่าจะเป็นการปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังเชื่อว่าเป็นผลมาจากความต้องการของตลาด โดยเฉพาะใช้ยาง EUDR เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาปรับสูงขึ้น ไม่ใช่ผลพวงจากการทำสงครามระหว่างประเทศ คาดว่าสถานการณ์ราคาจะยังทรงตัวสูงอย่างนี้ต่อเนื่อง

  1. น้ำท่วมปี 2567 มูลค่าการเสียหาย 3.6 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 มีความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 36,929 ล้านบาท หรืออยู่ในกรอบ 3-4 หมื่นล้านบาท โดยมีสมมติฐานว่าสถานการณ์จะคลี่คลายภายใน 15 วัน

ส่วนความเสียหายเชิงพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 3.6 ล้านไร่ที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น พื้นที่การเกษตร 1.3 ล้านไร่ และพื้นที่อื่นๆ 2.3 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่แยกตามรายจังหวัด เสียหายทั้งสิ้นมีทั้ง 36 จังหวัด โดยที่ได้รับผลกระทบโดย เชียงราย เสียหายมากที่สุด มูลค่า 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือ เชียงใหม่ 4,232 ล้านบาท และพะเยา 3,292 ล้านบาท

จากการวิเคราะห์ พบว่า การภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด คาดว่ามีมูลค่าความเสียหายที่ 2.75 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 74.3% รองลงมาคือ ภาคบริการ คาดว่ามีมูลค่า 9,209 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม ที่ 287 ล้านบาท ขณะนี้ มูลค่าความเสียหายต่อการติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี)ไทย คิดเป็น 0.21%

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนนนี้ สิ่งที่กระทบมากที่สุดคือ เรื่องการการเกษตร และผลผลิต และ สินค้า แต่ผลกระทบต่อเนื่อง อาจจะมีความเสียหายเพิ่มเติมได้ คิดเป็นมูลค่าอย่างน้อยอีก 5 พันล้านบาท 

4.ข้าวไทย สายพันธุ์ใหม่ เสริมทัพให้เกษตรกรไทย 

ในปี 2567 ทางกรมการข้าวได้มีการพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ออกมา เพื่อเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวนา นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ในปีนี้กรมการข้าวได้รับรองพันธุ์ข้าวที่มีความหลากหลายพันธุ์มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง และตามความสนใจของผู้บริโภค

โดยข้าวที่จะรับรองพันธุ์ทั้ง 10 สายพันธุ์ มีความหลากหลายประเภท ทั้งข้าวขาวพื้นนุ่ม ขาวขาวพื้นแข็ง ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวญี่ปุ่น ข้าวพื้นเมือง และข้าวสาลี โดยเฉพาะข้าวสาลีที่ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ไทยได้ประกาศสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งข้าวแต่ละประเภทจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันตามการนำไปใช้ประโยชน์ เพิ่มขึ้นปัจจุบันที่พัฒนาไปแล้วมากว่า 157 สายพันธุ์ และมีสายพันธุ์ข้าวที่หมุนเวียนในตลาดจำนวน 22 สายพันธุ์ 

ซึ่ง กรมการข้าว ได้เปิดรายชื่อ 10 ข่าวสายพันธุ์ล่าสุด คือ 1.ข้าวสายพันธุ์ กข103 (หอมชัยนาท 72) เป็นข้าวหอม ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงและมีเสถียรภาพดี โดยให้ผลผลิต 596 กิโลกรัมต่อไร่ 

2.ข้าวเจ้าสายพันธุ์ กข109 (หอมคลองหลวง 72) เป็นข้าวเจ้าพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง มีศักยภาพการให้ผลผลิต 957 กิโลกรัมต่อไร่ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 780 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อข้าวสุกจะมีกลิ่นหอม เนื้อสัมผัสค่อนข้างเหนียวและนุ่ม 

3.ข้าวเจ้าสายพันธุ์ กข111 (หอมพัทลุง 72) เป็นเจ้าหอมพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อแสง โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 598 กิโลกรัมต่อไร่และมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูง 1,086 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหนับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคใต้

4.ข้าวสายพันธุ์ กข105 (เจ้าพระยา 72) ข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อแสง ให่ผลผลิตสูง (เฉลี่ย 870 กิโลกรัมต่อไร่) และมีศักยภาพให้ผลผลิต 1,176 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะแก่การเพาะปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนล่าง

5.ข้าวสายพันธุ์ กข107 (พิษณุโลก 72) ข้าวเจ้าพื้นแข็งหอม ไม่ไวแสง มีศักยภาพให้ผลผลิต 1,070 กิโลกรัมต่อไร่ ทนน้ำท่วมฉับพลันปานกลาง

6.ข้าวสายพันธุ์ กข24 (สกลนคร 72) เป็นข้าวเหนียวไวต่อแสงลำต้นเตี้ย ต้านทานการหักล้มได้ดี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 663 กิโลกรัมต่อไร่ และมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด 1,002 กิโลกรัมต่อไร่

7.ข้าวเหนียวสายพันธุ์ กข26 (เชียงราย 72) เป็นข้าวเหนียวไม่ไวต่อแสง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 780 กิโลกรัมต่อไร่ ศักยภาพการให้ผลผลิต 1,152 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะกับพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนบน

8.ข้าวเจ้าสายพันธุ์หอมหัวบอน 35 (กระบี่ 72) เป็นข้าวไร่ ไวต่อช่วงแสง มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ Gamma Oryzanol และ Total antioxidant ค่อนข้างสูง เหมาะกับการปลูกในสภาพไร่แซมยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ 

9.ข้าวสายพันธุ กขจ1 เป็นข้าวญี่ปุ่นประเภทข้าวเจ้าจาปอนิกาไม่ไวต่อช่วงแสง มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงถึง 953 กิโลกรัมต่อไร่ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 755 กิโลกรัมต่อไร่ มีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี

10.ข้าวสายพันธุ์ กขส1 (สะเมิง 72) เป็นข้าวสาลีนมปัง ข้าวสายพันธุ์ผลผลิตสูง 441 กิโลกรัมต่อไร่ และมีศักยภาพให้ผลผลิตสูงถึง 569 กิโลกรัมต่อไร่ คุณภาพของโปรตีนเหมาะสมสำหรับทำแป้งขนมปังและขนมปัง

  1. เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เพื่ออนาคตของการเกษตรไทย 

อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังมีบทบาทเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาช่วยในการทำเกษตร โดยเฉพาะการทำเกษตรยุคใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าทีมวิจัยจาก คณะเกษตรศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร  เปิดเผยกับ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ว่า เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) หรือ นวัตกรรมเกษตรแม่นยำ เป็นเทรนด์นวัตกรรมที่มาแรงในปี 2567 การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างความแม่นยำในการเพาะปลูก สามารถเพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต ควบคู่กับลดต้นทุนการผลิต แก้วิกฤตขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร 

นอกจากนี้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่ถูกนำมาใช้ยกระดับการผลิตในภาคการเกษตรไทยในขณะนี้ ได้แก่ ระบบควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะผ่านสมาร์ทโฟน สามารถควบคุมการให้ปุ๋ยและน้ำอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ประกอบด้วย เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศ อุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน รวมทั้ง “โดรน” ใช้บินสำรวจพื้นที่การเกษตร ฉีดพ่นสารเคมีและปุ๋ย ฯลฯ ช่วยให้พืชเจริญเติบโตดี ติดดอกออกผลสมบูรณ์กว่าการเพาะปลูกแบบปกติ ช่วยลดการใช้น้ำ ปุ๋ย และลดต้นทุนค่าแรงงาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดียิ่งขึ้น 

  1. ไข่ผำ อาหารแห่งอนาคต อย.ชู ผักพื้นบ้านโปรตีนสูงมีคุณค่าทางโภชนาการ 

ปัจจุบันวิถีชีวิตมนุษย์เปลี่ยนไป มีการออกกำลังกายน้อยลง และบริโภคอาหารมากขึ้นจนเกินความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง นำไปสู่การเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดและหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โดยหันมาสนใจการรับประทานโปรตีนทางเลือกแทน เช่น โปรตีนจากพืช ที่ให้แคลอรีน้อยกว่า และมีใยอาหารมากกว่า เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

“โปรตีนจากพืช” นอกจากถั่วเหลืองแล้ว ยังมีพืชที่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ คือ ไข่น้ำ หรือ ผำ ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ที่สามารถขยายพันธุ์และเติบโตได้เร็ว เป็นผักที่มีโปรตีนสูงมากถึงร้อยละ 40 ของน้ำหนักแห้ง 

รวมทั้งยังมีสารอาหารสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินหลายชนิด กรดอะมิโนที่จำเป็น และเบต้าแคโรทีน ถือเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เรียกว่า เป็นอาหารสุดยอดของแหล่งโปรตีนทดแทน และเป็นอีกหนึ่ง เมกะ เทรนด์ (Mega Trend) ที่มาแรง

การสกัดกรดไขมันจากไข่ผำ สามารถทำได้ 2 วิธี คือ เครื่องสกัดแรงดันสูง (SFE) และวิธีการสกัดด้วยเฮกเซน โดยสามารถสกัดกรดไขมันโอเมก้า 3 และและ 6 ได้สูงถึง 20% และ 24% ตามลำดับ ในส่วนการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า สารสกัดโปรตีนไข่ผำไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์แปรผันตามความเข้มข้นของสารสกัด และมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ

คาดว่างานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก “ไข่ผำ” หรือ Super Food” สุดยอดของแหล่งโปรตีนทดแทน  เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการเกษตรของประเทศ ส่งเสริมให้มีการผลิตและการบริโภคไข่ผำ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูงและสามารถสร้างรายที่ยั่งยืนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ผำได้