“ศกอ.สุพรรณบุรี” ทำนาข้าวลดโลกร้อน ขายคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG ต่อ Carbon Credit จะต้องทำการเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม การลดการเผาซังข้าว ตอซัง การกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ถูกต้อง การลดปริมาณปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง และส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย รวมทั้งการแก้ปัญหา PM 2.5 การนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ในการผลิตพลังงาน

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7)

สศท.7 ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีพบว่า เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ตำบลบ้านสวนแตง อำเภอเมืองสุพรรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี คือ นายพิชิต เกียรติสมพร ได้ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาน้ำขังแบบเดิมเป็นการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งช่วยลดก๊าซมีเทนในดิน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังสามารถสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจากการสัมภาษณ์นายพิชิต บอกเล่าว่า ตนเองทำนาเปียกสลับแห้งบนพื้นที่ จำนวน 20 ไร่ จากนั้นได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาที่จัดโดยกรมการข้าว ซึ่งได้มีบริษัทเอกชนมาถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกข้าวรักษ์โลกและการขายคาร์บอนเครดิต ตนเองจึงสนใจทำนาเปียกสลับแห้งเพื่อขายคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา อีกทั้งนายพิชิตได้แนะนำและขยายเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านสวนแตงเข้าร่วมการทำนาเปียกสลับแห้งเพื่อขายคาร์บอนเครดิต ร่วมจำนวน 30 ราย มีบริษัทรับซื้อคาร์บอนเครดิต จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท สไปโร คาร์บอน จำกัดบริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด และ บริษัท วรุณา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับซื้อคาร์บอนเครดิตในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีกรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล

สำหรับการปลูกข้าวแบบเดิม 1 ไร่ จะปล่อยคาร์บอนออกมาประมาณ 2 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งบริษัทจะรับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 200 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต โดยเกษตรกรจะต้องทำการบันทึกข้อมูลการทำนา และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแอปพลิเคชัน คันนา โดยในส่วนของการทำนาเปียกสลับแห้งเพื่อขายคาร์บอนเครดิตของนายพิชิตพบว่า มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,199 าทต่อไร่ต่อรอบการผลิต หากเทียบกับการทำนาแบบเดิมที่มีต้นทุนเฉลี่ย 4,200 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต หรือลดลงร้อยละ 23.81 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการผลิตหากเทียบกับการทำนาแบบเดิมที่ได้ผลผลิตเฉลี่ย 960 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการผลิต หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17 ส่งผลให้นายพิชิตมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต 4,000 บาทต่อรอบการผลิต (ทำนาปีละ 2 รอบการผลิต) คิดเป็นรายได้เฉลี่ย 8,000 บาทต่อปี

ด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของบริษัทกับเกษตรกร มี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเปิดบัญชี T-VER credit กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) และ 2. ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) เป็นระบบการซื้อขายที่ดำเนินการโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งสามารถกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายได้ตามความต้องการของคู่สัญญา อาจผ่านตัวแทนหรือแพลตฟอร์มการซื้อขายของบริษัท

Advertisement

การทำนาน้ำขังแบบเดิมตลอดฤดูเพาะปลูก ทำให้ไม่มีออกซิเจนสร้างจุลินทรีย์ทำปฏิกิริยาจนเกิดก๊าซมีเทนขึ้นจึงต้องทำให้น้ำแห้งเพื่อเพิ่มออกซิเจนลงไปในดิน จึงเป็นที่มาของการทำนาเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นเทคนิคในการดึงน้ำออกจากนาข้าวหรือปล่อยน้ำในนาข้าวให้แห้งลงไปจนดินเริ่มแตกระแหงในบางช่วงของการเพาะปลูก เป็นการจัดการน้ำในแปลงนาให้มีทั้งสภาพเปียกและสภาพแห้งที่เหมาะสมกับความต้องการน้ำของข้าวในแต่ระยะการเจริญเติบโตโดยปล่อยให้น้ำแห้งตามธรรมชาติเพื่อให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศที่ดี กระตุ้นให้รากและลำต้นข้าวมีความแข็งแรง ต้านทานต่อโรคและแมลง อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ย-สารเคมี เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร ทั้งนี้ การขายคาร์บอนเครดิตจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างรายได้เพิ่ม พร้อมกับการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากเกษตรกรหรือท่านใด สนใจข้อมูลการทำนาแบบเปียกสลับแห้งและการขายคาร์บอนเครดิต สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายพิชิต เกียรติสมพร โทร. 089-174-2512

Advertisement