อนาคตการเกษตร ปรับตัวด้วยนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก จากภาวะโลกร้อน ปัญหาภัยธรรมชาติ และโรคระบาด ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทย

รศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่เกิดขึ้นนับเป็นความท้าทายที่เกษตรกรไทยต้องเรียนรู้ และปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตรให้สูงขึ้น

ประชากรโลกเพิ่มขึ้น

9,900 ล้านคนในปี 2050

ส่องโครงสร้างประชากรโลกในอนาคต  รศ.ดร.สุดเขตต์กล่าวว่า  คาดการณ์ว่าในปี 2050 โลกจะมีประชากรถึง 9,900 ล้านคน โดยประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก ได้แก่ อินเดีย จีน ไนจีเรีย  ปากีสถาน บังคลาเทศ เม็กซิโก ฯลฯ  ดังนั้นในอนาคต เราจะเห็นกลุ่มคอเคเซียน(ผิวขาว) และผิวสีมากขึ้นในประเทศไทยที่มาในรูปแบบนักกีฬาและผู้เชี่ยวชาญ  ในขณะที่ประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง ใน 10 อันดับแรกของโลก

เร่งพัฒนาเทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำ

ปริมาณประชากรโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้มีความตัองการอาหารเพิ่มขึ้น 60  %  สวนทางกับทรัพยกรธรรมชาติที่นับวันยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ทางออกของโลกใบนี้จึงต้องพัฒนานวัตกรรมการเกษตรที่จะช่วยให้สามารถผลิตอาหารให้คนบนโลกได้มากขึ้น

Advertisement

จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแต่ทรัพยากรน้ำมีอยู่เท่าเดิม เราต้องวางแผนบริหารทรัพยากรน้ำ อย่างคุ้มค่าและเพียงพอกับการใช้งาน  ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงค์โปรใช้เทคโนโลยีการสกัดเกลือออกจากน้ำทะเล เพื่อให้มีน้ำจืดไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ และถมทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อได้มีแหล่งอาหารสู่ความยั่งยืน ส่วนประเทศซาอุดีอาระเบียดำเนินโครงการ Saudi Green Initiative  โดยมีเป้าหมายปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวแทนที่ทะเลทราย

ที่ผ่านมา ภาคการเกษตรใช้น้ำจำนวนมากในการเพาะปลูก หากนำเทคโนโลยีบริหารการจัดน้ำที่ทันสมัยเข้ามาใช้ก็สามารถลดต้นทุนการใช้น้ำได้ลดลงได้ อย่างในสหรัฐอเมริกามีการลงทุนเรื่องระบบน้ำ  สามารถเพิ่มผลผลิตและลดการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูก องุ่น อัลมอนด์ โกโก้ ใช้น้ำมหาศาลในแต่ละปี  จึงมีนโยบายลดการใช้น้ำลง 25%ภายในปี 2025  หลังจากนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการน้ำมาใช้ในการเพาะปลูก ปัจจุบันสามารถลดการใช้น้ำได้มากถึง  33% แล้ว

Advertisement

เกษตรแม่นยำ ต้องนำมาใช้

เทคโนโลยีดังกล่าว หลายคนคงคุ้นหูกันดีกับระบบเกษตรแม่นยำ ที่ทำให้การเพาะปลูกกลายเป็นเรื่องง่าย ประหยัดและปลอดภัย เป็นเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชที่ให้ปุ๋ย ให้น้ำ ในปริมาณและเวลาที่ถูกต้องเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้

นอกจากผลิตเก่งแล้ว  เกษตรกรไทยต้องใส่ใจเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีด้วย ทั้งทรัพยากรดินและน้ำ พร้อมยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี ในด้านแรงงานเกษตร ให้ความยุติธรรมกับแรงงาน ไม่ใช้แรงงานเด็ก หรือ คนชรา จ่ายค่าแรงที่เหมาะสม เวลาที่นักลงทุนจะเลือกลงทุนจะพิจารณาเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

รศ.ดร.สุดเขตต์กล่าวว่า เรื่องการผลิต ไม่ใช่ปัญหาหลักของประเทศไทย  ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ คุณภาพสินค้า แม้ภาคการผลิตของไทยจะประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมแต่สามารถบริหารจัดการได้  สิ่งที่ทำให้เกษตรกรไทยสูญเสียโอกาสและรายได้ คือ เรื่องคุณภาพ สิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นคือ การใช้ระบบเกษตรแม่นยำ ระบบ ข้อมูล Big Data เทคโนโลยีโดรนรวมทั้ง แอพพลิเคชัน (Application) มาช่วยเพิ่มผลผลิตในเชิงมูลค่าและปริมาณต่อพื้นที่สูงสุดอย่างยั่งยืน

( ถอดความจากเวทีเสวนาหัวข้อ ปรับตัวด้วยนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลง ในงาน KUBOTA FARM Agtech Possibility ณ คูโบต้าฟาร์ม อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี )