เผยแพร่ |
---|
เวียดนามลุยปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ ลั่นเป้าหมาย 6 ล้านไร่ ผลผลิต 13 ล้านตันภายในปี’73 ปูพรม 12 จว.สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เผยเหตุช่วยลดโลกร้อน ลดต้นทุนเกษตรกรได้มากถึง 70% แถมได้เงินกู้จาก ธ.โลกหนุน ขณะที่ไทยยังไร้ทิศทาง ผู้ส่งออกชี้ข้าวหอมมะลิยังสู้ได้อีกแค่ 5 ปี อานิสงส์ “ทรัมป์” ไม่สนสิ่งแวดล้อม ผวาปี’68 แข่งดุ อินเดียคัมแบ็กทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าว
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ประเทศเวียดนามระบุว่า รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติโครงการพัฒนาข้าวคุณภาพสูงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำบนพื้นที่ 1 ล้านเฮกตาร์ เพื่อเป้าหมายการเติบโตสีเขียวในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จนถึงปี 2573 โดยโครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ปี 2567-2568 พื้นที่ 200,000 เฮกตาร์ และระยะที่ 2 ปี 2569-2573 มุ่งเน้นลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงขีดความสามารถของทั้งระบบ เพื่อขยายข้าวคุณภาพสูงและปล่อยมลพิษต่ำเพิ่มเติมอีก 800,000 เฮกตาร์
โดยมีเป้าหมายภายในปี 2573 พื้นที่ 12 จังหวัดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจะมีการปลูกข้าวคุณภาพสูง 1 ล้านเฮกตาร์ ผลผลิตสูงถึงเกือบ 13 ล้านตัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลกำไรให้กับเกษตรกรอีกด้วย
เป้าข้าวคาร์บอนต่ำเวียดนาม 6 ล้านไร่
“โครงการนี้เวียดนามต้องการสร้างพื้นที่ปลูกข้าวคุณภาพสูงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ 1 ล้านเฮกตาร์ (หรือประมาณ 6,250,000 ไร่) จะติดตามดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิต และใช้กระบวนการทำการเกษตรแบบยั่งยืนเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าข้าว และนำไปสู่อุตสาหกรรมข้าวที่ยั่งยืน การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศของเวียดนาม และโครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากเอกชนในเวียดนามอีกด้วย”
ขอกู้เงิน ธ.โลก 430 ล้านดอลล์
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทได้เสนอโครงการ “โครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับข้าวคุณภาพสูงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง” เพื่อกู้เงินจากธนาคารโลกมูลค่า 430 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นเงินกู้ 330 ล้านเหรียญสหรัฐ และทุนสมทบ (Counterpart Fund) อีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างช่วงปี 2569-2570
โดยต้นเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารโลกเริ่มสนับสนุนเงินกู้จำนวน 350 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยเวียดนามดำเนินโครงการพัฒนาข้าวคุณภาพสูงและปล่อยคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน (Vietnam’s low carbon rice cultivation project) บนพื้นที่กว่า 1 ล้านเฮกตาร์ โดยโครงการจะสิ้นสุดในปี 2573 นอกจากนี้ ธนาคารโลกจะสนับสนุนเงินกู้เพิ่มเติมในรูปแบบคาร์บอนเครดิตจำนวน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย
อนึ่ง ข้าวคาร์บอนต่ำคือข้าวที่ผลิตและแปรรูปด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำในการเพาะปลูก ลดปริมาณก๊าซมีเทนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ไม่เผาฟางข้าว เป็นต้น
ไทยไร้เป้าหมายพัฒนาข้าวไทย
นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และในฐานะที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เปิดเผยว่า เวียดนามมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศให้ได้ เนื่องจากเวียดนามถือว่าเป็น 1 ใน 10 ประเทศอาเซียนที่มีการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าว 47 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 42 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรสำคัญและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รัฐบาลจึงเข้าไปส่งเสริมทำนาข้าวคาร์บอนต่ำ และตั้งเป้าปี 2030 ต้องลดการปล่อยก๊าซของข้าวให้ได้ 6.5 ล้านตันคาร์บอน
สำหรับประเทศไทยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว จากการติดตามข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 43 ล้านตันคาร์บอน คิดเป็น 9% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเทียบนโยบายการผลักดันข้าวคาร์บอนต่ำของไทยกับเวียดนามแล้ว มองว่าเวียดนามมีเป้าหมายที่ชัดเจนกว่าไทย ซึ่งทำให้อนาคตข้างหน้าไทยมีโอกาสจะต้องนำเข้าข้าวคาร์บอนต่ำจากเวียดนาม อีกทั้งโอกาสการแข่งขันในตลาดส่งออกข้าวอาจจะลดลงกับประเทศที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรป และอาจจะมีผลให้ราคาข้าวผันผวนได้
ข้าวไทยปล่อยก๊าซถึง 50.58%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย พบว่าภาคเกษตรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็น 15.23% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองจากภาคพลังงานที่มีสัดส่วน 69.96%
เมื่อพิจารณาเฉพาะภาคเกษตร การปลูกข้าวมีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด มีสัดส่วนถึง 50.58% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกควรเร่งปรับตัวและพัฒนาการผลิต เพื่อคว้าโอกาสและช่วงชิงตำแหน่งผู้นำในตลาดข้าวคาร์บอนต่ำ หรือข้าวลดโลกร้อน
ที่ผ่านมาไทยมีการส่งเสริมการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ อาทิ โครงการไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) หรือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ยังได้รับความสนใจและร่วมมือน้อยมาก ขณะที่แนวโน้มความต้องการข้าวคาร์บอนต่ำเพิ่มขึ้นตามพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่อาจขยายครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยจึงต้องให้ความสำคัญและเร่งส่งเสริม เพื่อตอบโจทย์ตลาดโลกและรักษาความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในอนาคต ประเทศที่เริ่มให้ความสำคัญ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น
มั่นใจข้าวหอมมะลิยังสู้ได้
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับมาตรการด้านแวดล้อม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ในปี 2568 จะยังไม่ใช่ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดและการส่งออกข้าวของไทย แต่มองว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหลายประเทศให้ความสำคัญและกำลังยกระดับ โดยเฉพาะข้าวคาร์บอนต่ำจะเห็นได้ว่าเวียดนามให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก ซึ่งการดำเนินการและพัฒนาผลผลิตข้าวคาร์บอนต่ำทำได้ดีกว่าไทยมาก
อย่างไรก็ดี ตลาดข้าวคาร์บอนต่ำคาดว่าจะเริ่มในยุโรปเป็นตลาดแรก ในขณะที่ตลาดสหรัฐซึ่งเป็นตลาดหลักของข้าวหอมมะลิไทย โดยส่งออกเฉลี่ยปีละ 5 แสนตัน อาจจะยังไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ได้ให้ความสำคัญปัญหาโลกร้อน ขณะที่ปริมาณส่งออกข้าวไทยไปตลาดยุโรปยังไม่มาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ไม่เช่นนั้นอนาคตอาจมีผลต่อตลาดข้าวไทย
ส่งออกข้าวปี’68 แข่งดุ-ราคาลด
นายชูเกียรติกล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ส่งออกข้าวปี 2568 จะพบว่าผู้ซื้อมีการนำเข้าลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตในหลายประเทศที่เป็นผู้ส่งออกดีขึ้น เช่น ไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา จีนก็ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งประเทศผู้นำเข้าสำคัญอย่างประเทศอินโดนีเซีย มีการประเมินว่าจะนำเข้าลดลงจากเดิม 4 ล้านตัน จะลงมาอยู่ที่ 1-1.5 ล้านตัน เพราะผลผลิตในประเทศดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าอินเดียจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง หลังจากชะลอการส่งออกข้าว และข้าวใหม่ของอินเดียผลผลิตเริ่มออกในช่วงเดือนธันวาคม 2567 โดยจะทำให้ตลาดส่งออกข้าวในปี 2568 แข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะในเรื่องของราคา ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มจะลดลง แม้ในช่วงปลายปีและต้นปี 2568 จะยังมีการนำเข้าข้าว มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคมีการเร่งนำเข้าก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่หลังตรุษจีนยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบ
ดังนั้น ตลาดการส่งออกข้าวจะมีความน่ากังวลมากขึ้น คาดว่าการส่งออกข้าวไทยในปี 2568 เบื้องต้นคาดว่าจะลดลงจากปี 2567 ประมาณ 2 ล้านตัน โดยปี 2567 คาดว่าอยู่ที่ 9.5-9.7 ล้านตัน คาดว่าปี’68 อยู่ที่ 6-7 ล้านตัน
ส่วนราคาข้าวในตลาดปัจจุบัน ข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 500-510 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวอินเดียราคาอยู่ที่ 440 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวหอมมะลิของไทยอยู่ที่ 950 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวเวียดนามอยู่ที่ 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2568 แนวโน้มราคาจะปรับลดลง
อินเดียทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าว
รายงานจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า ปริมาณผลผลิตข้าวในปี 2568 คาดว่าจีนจะมีผลผลิตข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 146 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อินเดียอยู่ที่ 142 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% บังกลาเทศ 37 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.8% อินโดนีเซีย 34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% ไทย 20 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.5% และยังมีเมียนมา ปากีสถาน บราซิล ที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ยกเว้นเวียดนามผลผลิตข้าวลดลงอยู่ที่ 26 ล้านตัน ลดลง 0.5% ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 12 ล้านตัน ลดลง 0.2%
ขณะที่มีการคาดการณ์การส่งออกข้าวในปี 2568 คาดว่าอินเดียจะเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 โดยมีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 21 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งออกได้ 17.5 ล้านตัน ไทยส่งออก 7.3 ล้านตัน ลดลง 18% เวียดนาม 7.2 ล้านตัน ลดลง 16.3% ปากีสถาน 5.3 ล้านตัน ลดลง 11.7%
ส่วนปริมาณการนำเข้าข้าวในปีหน้า คาดว่าฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวมากที่สุด โดยมีปริมาณ 4.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.3% เวียดนามนำเข้า 2.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.7% ยุโรปนำเข้า 2.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0% ไนจีเรียนำเข้า 2.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0% จีนนำเข้า 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 33.3% ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง เช่น อิรักนำเข้า 1.9 ล้านตัน ลดลง 13.6% อินโดนีเซียนำเข้า 1.5 ล้านตัน ลดลง 60.5% และมาเลเซียนำเข้า 1.5 ล้านตัน ลดลง 16.7%
ดังนั้น การแข่งขันตลาดข้าวปี 2568 นี้จะคึกคักและรุนแรงมากขึ้น จึงต้องติดตามสถานการณ์ด้านการตลาด ราคาข้าว มาตรการต่าง ๆ ที่จะเป็นอุปสรรคตลาดส่งออกข้าวไทย
ขอบคุณข้อมูล : https://www.prachachat.net/economy/news-1727946#m5i7k2pqjaa9axjzysr