ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
เกษตรอินทรีย์เป็นระบบการผลิตที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีรวมไปถึงระบบนิเวศด้วยเช่นกัน ซึ่งเกษตรอินทรีย์ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและปราศจากสารตกค้าง แต่ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและลดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำอีกด้วย
นอกจากประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว เกษตรอินทรีย์ยังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตมากขึ้น โดยการทำเกษตรอินทรีย์หากมีการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่างๆ จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจได้ในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
คุณดาด้า-ณัฐรินี สกุลจงเกษมสุข เจ้าของไร่เกษมสุขผักอินทรีย์ ได้ยึดการปลูกผักอินทรีย์ที่ไม่ใช่เพียงเพราะความรักความชอบเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความมีใจล้วนๆ ที่อยากให้ทุกคนในครอบครัวได้กินผักที่มีคุณภาพ และพร้อมส่งต่อความตั้งใจนี้ให้กับลูกค้าที่เข้ามาซื้อผลผลิตในสวนอยู่ตลอดทั้งปี
แรงบันดาลใจของการทำเกษตรอินทรีย์
อยากให้ครอบครัวได้กินอาหารที่ปลอดภัย
คุณดาด้า เล่าว่า สมัยก่อนประกอบอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจส่วนตัว และต่อมาได้เข้าทำงานเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งในระหว่างนั้นคุณพ่อคุณแม่ป่วยด้วยโรคมะเร็งและเสียชีวิตในเวลาต่อมา จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจและอยากที่จะปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง เพราะด้วยพื้นที่อยู่ของบ้านไม่สามารถหาซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ง่าย การปลูกไว้บริโภคเองจึงตอบโจทย์มากที่สุด
“เริ่มต้นเลยเราปลูกผักสลัดลงในกระถางก่อน ประมาณ 30-40 กระถางไว้ข้างบ้าน สาเหตุที่เลือกผักสลัด เพราะว่ามันสวยและเป็นคนที่ชอบกินผักสลัดอยู่แล้ว ช่วงนั้นบอกเลยว่าปลูกแล้วไม่ประสบผลสำเร็จเลยค่ะ ผักต้นไม่สวย ยืดบ้าง เพราะได้แสงไม่เพียงพอ เพราะยังไม่ได้ศึกษานิสัยของผักสลัดอย่างจริงจัง จากนั้นเลยปรับตัวใหม่ศึกษาหาข้อมูลมากขึ้นจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ต่อมาผลผลิตเริ่มดีขึ้น สามารถนำมาทำกินเองภายในครัวเรือนได้ ต่อมาประมาณปี ค.ศ. 2020 พอผลผลิตเยอะขึ้นก็สามารถทำขายได้มาจนถึงทุกวันนี้”
เมื่อเกิดความชำนาญและผลผลิตออกสู่ตลาดได้มากขึ้น คุณดาด้า บอกว่า จึงได้ขยายการปลูกพืชจากพื้นที่ข้างบ้าน มาทำในพื้นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 2 ไร่ โดยปลูกในโรงเรือนที่มีโต๊ะปลูกยกสูงขึ้นจากพื้นและปลูกลงแปลงดินโดยตรง
การทำเกษตรอินทรีย์ให้สำเร็จ
ดินเป็นหัวใจสำคัญของปัจจัยการผลิต
การปลูกผักในระบบเกษตรอินทรีย์จะเน้นการใช้วัสดุอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างดิน รวมถึงการใช้วิธีควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เช่น การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติหรือการปลูกพืชไล่แมลงเข้ามาช่วย
นอกจากองค์ประกอบข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น คุณดาด้า เล่าว่า การปลูกผักจะอยู่ในพื้นที่โรงเรือนจะช่วยให้เวลาที่ฝนตกใบผักจะไม่ได้รับความเสียหาย เมื่อเทียบกับผักที่ปลูกในแปลงดินผลผลิตจะสวยในช่วงฤดูหนาวทำให้ใน 1 ปี จะได้ผลผลิตอย่างเต็มที่ในช่วงนี้เท่านั้น
“ตัวโต๊ะปลูกผักที่ยกสูงขึ้นมาจากพื้นที่ปลูกอยู่ในหลังคา ความกว้างของโต๊ะจะอยู่ที่ประมาณ 1.20 เมตร ความยาว 6 เมตร ความสูงพื้นที่สำหรับใส่ดินจะอยู่ที่ประมาณ 20-25 เซนติเมตร อย่างที่ทราบคือการปลูกพืชในระบบอินทรีย์ ดินถือว่ามีความสำคัญที่สวนจะปรุงดินและผสมเองทั้งหมด ส่วนผสมหลักๆ ก็จะมีมูลวัว มีหน้าดินครึ่งส่วน แกลบเก่า ขุยมะพร้าว น้ำหมักอินทรีย์เป็นน้ำหมักจากปลาที่ทำเองมาเป็นส่วนผสมด้วย”
วางแผนการปลูกให้แม่นยำ
ช่วยให้มีผลผลิต ส่งขายต่อเนื่อง
เนื่องจากผักที่ผลิตจะต้องจำหน่ายออกสู่ตลาดอาทิตย์ละ 80-100 กิโลกรัม การวางแผนการผลิตโดยเฉพาะในเรื่องของการเพาะเมล็ดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเพาะเมล็ดไม่เพียงพอจะส่งผลให้ผลผลิตที่ได้แต่ละรอบมีจำนวนน้อย ดังนั้น การเพาะเมล็ดจะอยู่ที่ทุก 7 วันครับ เท่ากับ 1 เดือนจะได้ผลผลิตจำหน่าย 4 ครั้งต่อเดือน
ขั้นตอนการเพาะเมล็ดผักสลัดอินทรีย์ คุณดาด้า บอกว่า จะนำเมล็ดพันธุ์ผักสลัดมาโรยลงขุยมะพร้าวที่อยู่ในกล่องให้งอก เมื่อต้นกล้างอกได้อายุประมาณ 5 วันแล้ว จะทำการคัดต้นกล้าที่แข็งแรงมาปลูกลงในถาดหลุมอีกประมาณ 12-15 วัน จากนั้นจึงจะนำมาย้ายลงปลูกในแปลงผักที่เตรียมไว้
“แปลงปลูกผักที่ปลูกบนโต๊ะขนาด 1.2×6 เมตร จะปลูกผักสลัดอยู่ที่ประมาณ 180 ต้น ส่วนการปลูกในแปลงที่ลงดิน จะไม่กำหนดจำนวนต้นที่ตายตัว แต่จะให้แต่ละต้นห่างกันอยู่ที่ประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งการปลูกจะเน้นปลูกเป็นช่วงเย็น เพราะจะทำให้ต้นกล้าผักสลัดฟื้นตัวได้ดี”
ผักสลัด!!! ดูแลจนอายุ 35-45 วัน
ผักจะได้ขนาดและรสชาติที่ดี
หลังจากปลูกต้นกล้าผักสลัดลงในแปลงได้ประมาณ 1 อาทิตย์ จะนำน้ำหมักจากปลามารดลงในแปลงผัก โดยอัตราน้ำหมักปลา 10 ลิตร ละลายน้ำ 200 ลิตร เพื่อให้มีความเจือจาง หลังจากนั้นหมั่นดูแลป้องกันหนอนภายในแปลง พร้อมกับป้องกันด้วยน้ำส้มควันไม้ และฉีดพ่นด้วยสมุนไพรที่ทำเองอย่างเช่นดอกยูคาลิปตัสและดอกดาวเรืองในการป้องกัน
“ช่วงที่เราดูแลป้องกันหนอน หากมีการระบาดหนักๆ บางครั้งน้ำหมักสมุนไพรจะเอาไม่อยู่ อย่างเช่น เพลี้ย เชื้อรา หรือไข่หนอน การป้องกันก็จะเน้นใช้สารชีวภัณฑ์เข้ามาช่วย อย่างเช่น บิวเวอเรีย ไตรโคเดอร์มา และบาซิลลัส ซับทิลิส พวกนี้จะป้องกันได้ดี ส่วนเรื่องเชื้อราที่สวนไม่ค่อยมีปัญหา เพราะว่าที่สวนจะควบคุมในเรื่องของความชื้นในแปลงผักได้ดี”
คุณดาด้า เล่าว่า การรดน้ำให้กับผักสลัดภายในแปลงจะเป็นระบบมินิสปริงเกลอร์มีเวลารดน้ำที่แน่นอน หลังจากเวลา 15.00 น. จะหยุดการให้น้ำแปลงผักทั้งหมด ซึ่งการรดน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 รอบต่อวัน รดน้ำครั้งแรกของวันจะอยู่ที่ 07.00 น. รอบที่ 2 อยู่ที่ประมาณ 11.00 น. หรือ 12.00 น. และครั้งสุดท้ายจะอยู่ที่ 14.30 น. ดูแลรดน้ำไปเรื่อยๆ จนผักครบอายุ 35-45 วันก็จะได้ขนาดพร้อมที่จะส่งจำหน่ายได้
ส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าหน้าสวน
และออกร้านตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์
สำหรับตลาดผักสลัดที่ผลิตส่งลูกค้านั้น คุณดาด้า บอกว่า จะเน้นตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เป็นผักสลัดมากกว่า 6 ชนิด ได้แก่ กรีนโอ๊ค เร๊ดโอ๊ค กรีนคอส เบบี้คอส บัตเตอร์เฮด ฯลฯ ซึ่งการทำตลาดในช่วงแรกคุณดาด้าจะแจกจ่ายให้กับคนในพื้นที่ก่อน จากนั้นนำผลผลิตไปออกร้านจำหน่ายให้ลูกค้าโดยตรง จึงทำให้ทราบถึงข้อมูลความต้องการตลาดแต่ละปี โดยเฉพาะกลุ่มตลาดผู้รักสุขภาพในโรงพยาบาล
ราคาผักสลัดที่จำหน่ายออกสู่ตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาทตลอดทั้งปี ไม่ว่าช่วงนั้นของปีราคาผักจะขึ้นหรือลง ฟาร์มผักอินทรีย์แห่งนี้จำหน่ายอยู่ราคานี้ราคาเดียว
“ปัจจุบันพอเราทำเรื่องของคุณภาพได้ดี ลูกค้าก็จะมั่นใจในผลผลิตของเรา จนตอนนี้ยอดสั่งซื้อเข้ามาเยอะมาก จนทำให้กำลังผลิตไม่ทันขาย และที่สวนช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ได้เปิดเป็นร้านอาหาร ก็จะนำผักในแปลงมาประกอบอาหารก็ถือว่าผลตอบรับดีค่ะ รวมไปถึงช่องทางออนไลน์ที่เราทำเพจเองด้วยค่ะ”
การทำเกษตรอินทรีย์
การจัดการที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ
คุณดาด้า ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะปลูกผักสลัดในระบบอินทรีย์ สิ่งสำคัญคือต้องจัดการและวางแผนการผลิตให้ดี โดยเฉพาะการปรับปรุงดินที่เป็นหัวใจสำคัญของการปลูกผักอินทรีย์ ต้องผสมและทำให้ดินมีธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชมากที่สุด โดยหลังจากผสมดินต้องพักหรือหมักทิ้งไว้ประมาณ 2-3 เดือน
“ทำเกษตรอินทรีย์มาตลอด และที่สวนก็รับรองมาตรฐานความปลอดภัย การบริหารจัดการและความใส่ใจ ถือว่ามีความสำคัญมาก ถ้าเรามีการจัดการดี วางแผนไว้ดี การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องยาก หัวใจหลักคือดิน ปรุงดินให้ได้คุณภาพ เพราะการปลูกผักอินทรีย์ มันคือการทำเกษตรประณีต พอเราดูแลดีผลผลิตก็จะดีตามไปด้วย สุดท้ายในเรื่องของราคาจำหน่ายได้ราคาอย่างแน่นอน”
สำหรับท่านใดที่สนใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณดาด้า-ณัฐรินี สกุลจงเกษมสุข เจ้าของไร่เกษมสุขผักอินทรีย์ หมายเลขโทรศัพท์ 093-928-9616 และทางเฟซบุ๊ก : ไร่เกษมสุขผักอินทรีย์ กุยบุรี