“กรมชลฯ”เตรียมรับมือพายุ14 – 18 กันยายน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 11 กันยายน มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 53,131 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 71% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2559 รวม 12,813 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 29,312 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 57% สามารถรองรับน้ำได้อีก 22,083 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 29%

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 15,708 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,772 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 9,012 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น50% สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 9,163 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่ง ทั้งประเทศมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 1,934 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 6 – 12 กันยายน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ 1.เขื่อนภูมิพล 229 ล้าน ลบ.ม. 2.เขื่อนสิริกิติ์ 330 ล้าน ลบ.ม. 3.เขื่อนแควน้อยฯ 131 ล้านลบ.ม. และ 4.เขื่อนป่าสักฯ 160 ล้าน ลบ.ม. รวมเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 850 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 31.12 ล้าน ลบ.ม.

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 14 – 18 กันยายน 2560 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้นลักษณะทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นนั้น

กรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดยอดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง เข้าไปเก็บไว้ในทุ่งแก้มลิง 12 ทุ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 1.15 ล้านไร่ โดยได้ดำเนินการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนจะถึงฤดูน้ำหลากเดือนกันยายน – ตุลาคม ปัจจุบันพบว่าภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ จะสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในทุกพื้นที่ก่อนจะปรับพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีทั้งหมด 12 ทุ่ง ให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก

โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ได้กำหนดให้วันที่ 25 กันยายน เป็นวันเริ่มต้นตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทานเข้าทุ่งต่างๆ จำนวน 10 ทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประกอบด้วยทุ่งเชียงรากทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสักทุ่งท่าวุ้งทุ่งบางกุ่มทุ่งบางกุ้งทุ่งป่าโมกทุ่งผักไห่ทุ่งเจ้าเจ็ดทุ่งพระยาบรรลือทุ่งโพธิ์พระยาและสำรองพื้นที่ไว้อีก 2 ทุ่งคือทุ่งบางบาลและทุ่งรังสิตใต้สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 1,500 ล้าน ลบ.ม.

Facebook

Advertisement

Twitter