ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบันแนวคิดการเกษตรแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Agriculture) กำลังเป็นที่สนใจในวงการเกษตรและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เนื่องจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร การเกษตรแบบคาร์บอนต่ำช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมส่งเสริมความยั่งยืนของภาคเกษตรกรรม
นอกจากนี้ ตลาดโลกเริ่มให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่ช่วยโลก แต่ยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับเกษตรกรอีกด้วย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางพืชมูลค่าสูงและโอกาสของเกษตรไทย” ในงานสัมมนา “ไข่ผำ – วานิลลา : เจาะลึกโอกาสธุรกิจพืชเทรนด์ใหม่” ณ ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา

ในช่วงหนึ่งของปาฐกถา ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า สินค้าเกษตรของไทยเป็นสินค้าที่ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ตั้งแต่ยางพารา ทุเรียน และลำไย ถือเป็นสินค้าอันดับ 1 ซึ่งทั่วโลกในขณะนี้ กำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและภาคเกษตรเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ผู้บริโภคทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสินค้าจากกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ
“ปัจจุบันการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ถือเป็นการทำนาที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เพราะนอกจากจะช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแล้ว การปลูกด้วยวิธีนี้ยังช่วยให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่ดีขึ้น จะช่วยให้เกษตรกรเข้าใจในเรื่องของการผลิตข้าวแบบคาร์บอนต่ำมากขึ้น และสามารถจำหน่ายได้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามมา โดยในปีนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้ามาร่วมโครงการผลิตข้าวแบบคาร์บอนต่ำมีเป้าหมายอยู่ที่ 10,000,000 ไร่” ศ.ดร.นฤมล กล่าว
ตลาดสินค้าเกษตร Low Carbon
ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค
ตลาดโลกปัจจุบันให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคในยุโรปและอเมริกาต้องการสินค้าเกษตรที่มีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำ ซึ่งหมายถึงสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด ผู้ค้าปลีกและแบรนด์ใหญ่ทั่วโลกเริ่มกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสินค้าทางการเกษตรที่ต้องผลิต ภายใต้แนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้น เช่น การใช้ฉลาก Carbon Footprint บนบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อย่างมีข้อมูล
ธุรกิจเกษตรที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแนวคิดนี้ มีโอกาสในการเข้าถึงตลาดส่งออกที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศเริ่มออกนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาใช้แนวทางการผลิตแบบ Low Carbon ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิต
การเกษตรแบบ Low Carbon
มุ้งเน้นสู่ความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม
เกษตรแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Agriculture) จึงเป็นกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เช่น มีเทน (CH₄) และไนตรัสออกไซด์ (N₂O) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลายปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน วิธีการที่ช่วยลดคาร์บอนในภาคเกษตร คือ
- การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี ลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากดิน
- การทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ ไม่ไถพรวนดินเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากดิน
- การใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคเกษตร เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ระบบชลประทานพลังงานแสงอาทิตย์
- การปลูกพืชหมุนเวียน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากดิน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
- การเลี้ยงสัตว์แบบยั่งยืน ใช้อาหารสัตว์ที่ลดการปล่อยมีเทนจากการย่อยอาหารของปศุสัตว์
ตัวอย่างแนวทางปฏิบัติของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ในประเทศไทยมีเกษตรกรหลายรายที่ปรับตัวสู่การผลิตเกษตรแบบ Low Carbon อย่างเช่น ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ คือการลดการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เกษตรกรที่ปลูกข้าวโดยใช้เทคโนโลยี SRI (System of Rice Intensification) ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำและการปล่อยมีเทนจากนาข้าว รวมไปกลุ่มเกษตรกรที่ใช้โดรนและ IoT ควบคุมการใช้น้ำและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียทรัพยากร การทำนาเปียกสลับแห้ง (Alternate Wetting and Drying – AWD) ซึ่งเป็นเทคนิคการบริหารจัดการน้ำในนาข้าวโดยให้ดินแห้งเป็นช่วงๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากแหล่งน้ำขัง และการใช้ฟางข้าวคลุมดินแทนการเผา ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศและช่วยรักษาความชื้นของดิน
การทำเกษตรแบบคาร์บอนต่ำ จึงเป็นแนวทางที่ให้ประโยชน์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของเกษตรกรในระยะยาว โดยช่วยลดต้นทุนการผลิตผ่านการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดส่งออก เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน
นอกจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว การทำเกษตรแบบคาร์บอนต่ำยังช่วยลดผลกระทบต่อดิน น้ำ และระบบนิเวศ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติสามารถใช้ได้อย่างยั่งยืน ช่วยฟื้นฟูคุณภาพดิน ลดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการลดโลกร้อน ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างระบบเกษตรกรรมที่สมดุลและยั่งยืนในอนาคต
แม้ว่าเกษตรแบบคาร์บอนต่ำจะมีข้อดีมากมาย แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะต้นทุนเริ่มต้นที่สูงกว่าการทำเกษตรแบบดั้งเดิม รวมถึงข้อจำกัดด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อเกษตรกรรายย่อย และยังมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างแรงจูงใจและจัดหาเงินทุนให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบการผลิตที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรแบบคาร์บอนต่ำเป็นแนวทางที่จำเป็นต่อการเกษตรในอนาคต ไม่เพียงแต่ช่วยลดโลกร้อน แต่ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถแข่งขันในตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นได้อีกด้วย