ราคาปาล์มน้ำมันพุ่งรับการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก คาดปี 2568 ผลผลิตยังคงเพิ่มขึ้น

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน ปี 2568 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ พฤศจิกายน 2567) คาดว่า เนื้อที่ให้ผล 6.439 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก ปี 2567 ที่มีจำนวน 6.343 ล้านไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.52) ผลผลิต 18.901 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากจาก 18.606 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.58) ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 2,935 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจาก 2,933 กิโลกรัมต่อไร่ (ร้อยละ 0.007) เนื้อที่ให้ผลภาพรวมประเทศ ปี 2568 คาดว่าเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นมากในแหล่งผลิตในภาคใต้ เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเมื่อปี 2565 เริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้ ซึ่งการขยายเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมันเมื่อปี 2565 มีสาเหตุมาจากราคาปาล์มน้ำมันตั้งแต่ปี 2565 อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปี 2564 เกษตรกรจึงปลูกปาล์มน้ำมันแทนพื้นที่ปลูกยางพารา สำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล คาดว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณน้ำฝนจะมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 จนถึงช่วงต้นปี 2568 ซึ่งส่งให้ปาล์มน้ำมันได้รับปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน น้ำหนักทะลายของปาล์มน้ำมันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในปี 2568 จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าในช่วงต้นปี 2567 จนถึงพฤษภาคม 2567 ต้นปาล์มน้ำมันบางส่วนได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญและภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้ทะลายไม่สมบูรณ์หรือมีบางส่วนแห้งฝ่อ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตรวมปี 2568 เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ให้ผล 

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ด้านราคาผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายคละที่เกษตรกรขายได้ ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.67 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจาก ปี 2566 ร้อยละ 7.04 เนื่องจาก ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในตลาดโลก การส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปี 2566 ทั้งปริมาณ และมูลค่า โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.95 และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.95 ขณะที่ราคาผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายคละที่เกษตรกรขายได้ ณ มกราคม 2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.28 บาทต่อกิโลกรัม ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2568 เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และจะเริ่มออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนเมษายน 2568 ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

 

สำหรับการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในปี 2568 คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.47 ในแง่ปริมาณ แต่คาดว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78 เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มในประเทศราคาปรับตัวสูงขึ้น อาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีนและอินเดีย อีกทั้งปัจจัยสนับสนุนในตลาดโลกองค์กรเศรษฐกิจระดับโลก เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะเติบโตร้อยละ 2.7-3.2 และอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อการบริโภคที่ขยายตัว โดยเฉพาะในจีนที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอินเดียที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งสองประเทศนี้เป็นผู้บริโภคน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ความผันผวนของสภาพอากาศโลกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มในหลายประเทศ ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตอย่างไทยมีโอกาสขยายตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ 

ด้านแนวทางบริหารจัดการ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ บริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนเกษตรกร ร่วมเป็นอนุกรรมการ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด ราคา อย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการให้ปริมาณน้ำมันปาล์มภายในประเทศเกิดความสมดุล รวมถึงกำหนดแนวทางและมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ซึ่งที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการเฝ้าระวังและมีแนวทางในช่วงเดือนที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย อีกทั้งกระทรวงพลังงานได้มีการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล จากบี 7 เป็น บี5 เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศด้านพลังงานทดแทนด้วย อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ยังเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงเรื่องการทำปาล์มคุณภาพ เพื่อไม่ให้อัตราสกัดน้ำมันลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันของเกษตรกรและต้นทุนในการผลิตของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มได้ 

Advertisement

Advertisement